xs
xsm
sm
md
lg

สอ.รฝ.ทำโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลิต EM BALL 30,000 ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สอ.รฝ.จัดทำโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” สนองความรักผู้อพยพกว่า 300 ชีวิต ผลิต EM BALL 30,000 ลูก ด้วยฝีมือตนเอง ส่งถึงมือผู้ประสบภัย แก้ไขน้ำเน่าเสีย สื่อแทนความห่วงใย

วันนี้ (17 พ.ย.) พล.ร.ต.นพดล สุภากร ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ผบ.สอ.รฝ.) ได้มอบหมายให้ น.อ.สมชาย ณ บางช้าง รองผู้บัญชาการ เป็นประธานเปิดโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลิตก้อนจุลินทรีย์ จำนวน 30,000 ลูก แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ณ ศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทัพเรือภาคที่ 1 บริเวณกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 23 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เป็นการสนองต่อความรักและความห่วงใยของผู้พักพิงกว่า 300 ชีวิต ที่มีจิตอาสาต้องการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ที่พลเรือตรี นพดล สุภากร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง มีความมุ่งหวังให้พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างคุณประโยชน์ในแบบจิตอาสา ส่งถึงมือเพื่อนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

การจัดทำก้อนจุลินทรีย์ (EM BALL) จำนวน 30,000 ลูก ด้วยฝีมือตนเอง เพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสีย อันเป็นพาหะของเชื้อโรคต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการผสมผสานของวัตถุดิบ ไปถึงการปั้นขึ้นรูป และการเก็บรักษาก่อนนำมาใช้งาน ที่ได้รับการเรียนรู้อย่างถูกวิธีจากนายนพ บวรกุลพาณิชย์ หมอดินอาสาอำเภอสัตหีบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการแก้ปัญหาน้ำเนาเสีย

นายนพ บวรกุลพาณิชย์ หมอดินอาสาอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยส่วนใหญ่จะทำโดยการเทน้ำหมัก EM หรือน้ำจุลินทรีย์ ที่ใช้ส่วนผสมจากเศษผักผลไม้ แต่การทำก้อนจุลินทรีย์ (EM BALL) ก็จะใช้น้ำหมัก EM เป็นส่วนผสม ร่วมกับวัตถุดิบอื่น ประกอบด้วย ดินรุกรัง รำละเอียด กากน้ำตาล และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ได้รับการรับรองจาก กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับกระบวนการขั้นตอนการทำก้อนจุลินทรีย์ (EM BALL) หากทำในปริมาณ 100 ลูก จะต้องใช้ส่วนผสมของ ดินลุกรัง 10 กิโลกรัม รำละเอียด 2 กิโลกรัม น้ำหมัก EM 10 ลิตร กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง ซึ่งหากนำวัตถุดิบคลุกเคล้าเข้าด้วยกันแล้ว ปั้นออกมาเป็นลูกทรงกลม จะต้องเก็บรักษาไว้ในที่ไม่มีแสงแดด ประมาณ 7-10 วัน ก็จะได้ก้อนจุลินทรีย์ (EM BALL) ที่มีคุณภาพส่งผลต่อการใช้งานเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ได้มีการวิจัย ทดลอง โดยกรมพัฒนาที่ดินอำเภอสัตหีบ และให้การรับรองในประสิทธิภาพ เพื่อนำไปบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ในอาคาร บ้านเรือน และชุมชน

ด้าน พล.ร.ต.นพดล สุภากร ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กล่าวว่า หลังจากหน่วยได้เข้ามาดูแลผู้ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นถึงความรักที่พวกเขามีต่อกัน แม้ในยามกิน ยามนอน และช่วงที่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน แม้พวกเขาจะอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม แต่พวกเขายังเป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบกับภัยน้ำท่วม และรอคอยรับการช่วยเหลืออยู่

ด้วยจิตอาสาที่พวกเขามุ่งหวังจะให้การช่วยเหลือผู้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับพวกเขานั้น ทางหน่วยจึงได้จัดเตรียมวัตถุดิบในการทำก้อนจุลินทรีย์ (EM BALL) และให้พวกเขาได้เรียนรู้การทำที่ถูกวิธี ก่อนจะนำความห่วงใยที่มีต่อกัน ใส่ไปกับลูกจุลินทรีย์ทั้ง 30,000 ลูก ส่งถึงมือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขจัดมลภาวะทางน้ำได้อีกทางหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น