ฉะเชิงเทรา -ชาวบางปะกงเร่งทำอีเอ็มช่วยแก้น้ำเน่าประเดิมล็อตแรกก่อนใครเพื่อนที่จวนพ่อเมือง หลังถูกน้ำในลำน้ำบางปะกงล้นทะลักใส่ จนท่วมขังกลายเป็นน้ำเน่าปลาตายลอยเกลื่อนสระสวนน้ำ เผย พร้อมทำแจกจ่ายช่วยเหลือบริจาคในพื้นที่อื่นด้วย
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง ชาว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย นายทวีศักดิ์ สุขศรี ปลัดเทศบาลตำบลบางปะกง ได้นำน้ำหมักชีวภาพ (อีเอ็ม) จำนวน 1.2 หมื่นลิตร ใส่รถบรรทุกน้ำดับเพลิงเข้ามาร่วมบริจาคให้แก่ นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงยังที่บ้านพักริมถนนมรุพงษ์ ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดการเน่าเสีย เนื่องจากท่วมขังมาอย่างยาวนานหลายเดือนทั่วทั้ง 11 อำเภอ
โดยมี ดร.จิณาภา ทรัพย์วิสุทธิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงมาเป็นผู้รับแทน พร้อมกับได้เริ่มทำการฉีดพ่นแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียภายในสระน้ำด้านหน้าจวนของ นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ก่อนเป็นแห่งแรก เนื่องจากได้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียจนมีปลาสวยงามตัวขนาดใหญ่ ที่เคยถูกเลี้ยงประดับบารมีไว้ภายในบ่อลอยอืดตายขึ้นมาอยู่เหนือน้ำจำนวนหลายตัว ซึ่งบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ถือว่าเป็นผู้ประสบภัยรายหนึ่งในจำนวนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไป
เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับริมแม่น้ำบางปะกงที่มักจะประสบปัญหาถูกน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเอ่อล้นทะลักออกมาท่วมขังอยู่บ่อยครั้งเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงนั้น ถือเป็นบ้านหลังแรกๆ ที่จะต้องถูกน้ำท่วมก่อนใครเพื่อน
ด้าน นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ทางเทศบาลบางปะกงพร้อมด้วยสมาคมผู้เลี้ยงปลากะพง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรืออีเอ็ม แก้น้ำเสีย จากหัวเชื้อ พด.6 ผสมกับกากน้ำตาล ทำเป็นน้ำจุลินทรีย์เพื่อนำมาแจกจ่าย ช่วยบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ โดยในวันนี้ได้นำมาบริจาคให้แก่ทางจังหวัด ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนที่จะนำไปช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดการเน่าเสียของน้ำที่ท่วมขัง ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในวันนี้จะนำไปในพื้นที่ของ ต.คลองเปรง และ ต.คลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา ก่อน
โดยจะแบ่งบางส่วนนำมาทำการบำบัดน้ำเสีย ที่ท่วมขังในบริเวณจวนของผู้ว่าฯ ก่อนเป็นแห่งแรก เนื่องจากในสระน้ำด้านหน้าจวนนั้น น้ำได้เริ่มเน่าเสียจนมีปลาลอยตายแล้วหลังจากถูกน้ำในแม่น้ำบางปะกงเอ่อล้นเข้ามาท่วม เมื่อช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่เกิดน้ำเน่าเสียในจุดอื่นๆ นั้น จะต้องรอการสำรวจอีกครั้ง คาดว่าอาจจะต้องผลิตออกมาอย่างน้อยประมาณ 5-6 หมื่นลิตร สำหรับจุลินทรีย์ดังกล่าวนี้ได้เคยผ่านการทดลองนำไปใช้มาแล้วได้ผล ตามชุมชนต่างๆ ภายในเขตเทศบาลตำบลบางปะกงมานานนับปีแล้วจึงมั่นใจว่าจะสามารถช่วยในการบำบัดแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นได้จริง
ขณะที่ นายชวลิต หงอเทียด อายุ 34 ปี ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงปลากะพงและเครือข่ายภาคประชาชน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางสมาคมสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ สัปดาห์ละประมาณ 1 หมื่นลิตร พร้อมที่จะแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานรัฐ และองค์กรการกุศล รวมถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมขัง จนเกิดการเน่าเสีย โดยจะผลิตแจกจ่ายอย่างไม่อั้น และหากมีรถบรรทุกน้ำมารับไปเองจากแหล่งผลิตจะเป็นการดีอย่างมาก เนื่องจากทางสมาคมมีข้อจำกัดในด้านการขนส่ง