xs
xsm
sm
md
lg

ม.แม่โจ้เตรียมส่ง “E-Worm” จุลินทรีย์ไส้เดือนบำบัดน้ำเน่าอุทกภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “แม่โจ้” เตรียมส่ง “อี-เวิร์ม” 1,000 ชุดช่วยบำบัดน้ำเสียภาคกลาง-กทม. เผยผลิตจากไส้เดือนดิน มีจุลินทรีย์มากกว่าอีเอ็มบอลแถมค่าความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงน้ำเสียส่งผลบำบัดน้ำได้ไวกว่า ผอ.ศูนย์วิจัยฯ ระบุบอกว่าบำบัดได้มากน้อยแค่ไหนคงไม่ได้เหตุขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่มั่นใจดีที่สุดในบรรดาจุลินทรีย์-ถือเป็นอีกทางเลือกให้ ปชช.

วันนี้ (15 พ.ย.54) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงข่าวการเตรียมจัดส่งชุดบำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม (E-Worm) เพื่อนำไปใช้บำบัดน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่มีน้ำท่วมขังจนเริ่มเน่าเสียในภาคกลางและกรุงเทพมหานครฯ

โดยชุดบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเป็นจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ได้จากลำไส้ของไส้เดือนดินที่เลี้ยงไว้สำหรับกำจัดขยะอินทรีย์ ถือเป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ อีกทั้งยังสมามารถอาศัยอยู่ในน้ำลึกและบริเวณแอ่งน้ำได้เป็นอย่างดี โดยจุลินทรีย์จะทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีอานุภาคเล็กลงและตกตะกอนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อใช้กับน้ำเน่าเสียที่มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งต่างจากจุลินทรีย์อื่นๆ หรือน้ำหมักชีวภาพที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องใช้กากน้ำตาลในขบวนการขยายเชื้อ ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพในสภาพน้ำที่เป็นกรดมากกว่า

รศ.ดร.อานัฐกล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคเหนือ และมูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดเตรียมชุดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้งานได้ทันที จำนวน 1,000 ชุด ซึ่งจะส่งผ่านองค์กรเครือข่ายและองค์กรพัฒนาเอกชน รวมททั้งผ่านทางศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่ออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ในขณะนี้ โดยการจัดเตรียมชุดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปนั้นได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดทำ

ทั้งนี้ ชุดบำบัดน้ำเสีย 1 ชุดจะประกอบด้วยจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียอี-เวิร์ม กรวย สางยางและก้อนหินสำหรับถ่วงน้ำหนัก ในการใช้งานผู้ใช้จะต้องนำสายยางซึ่งเป็นท่อปล่อยน้ำจุ่มลงในน้ำลึกประมาณ 1-1.5 เมตร จากนั้นจึงเทอี-เวิร์มลงในกรวยให้ไหลลงไปในน้ำ โดยใช้อัตราส่วนอี-เวิร์ม 1 ลิตรต่อน้ำประมาณ 1,000 ลิตร

รศ.ดร.อานัฐระบุว่าอี-เวิร์มจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในที่ที่มีน้ำนิ่ง แต่หากใช้ในพื้นที่ที่มีน้ำไหลประสิทธิภาพอาจลดลงบ้าง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดกลิ่นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาได้ใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวสำหรับบำบัดกลิ่นในห้องน้ำเมื่อครั้งงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งใช้ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน

ส่วนความสามารถในการบำบัดน้ำเสียนั้นหากเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ แล้ว ถือว่าอี-เวิร์มมมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพราะมีค่าความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงกับค่าความเป็นกรดด่างของน้ำเสียโดยทั่วไป รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์มากถึง 343 สปีชีส์ ซึ่งมากกว่าในอีเอ็มบอลหรือน้ำหมักธรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งไม่มีสารประกอบอินทรีย์ที่อาจส่งผลให้เกิดเน่าเสีย อย่างไรก็ตามคงจะไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขชัดเจนได้ว่าอีเ-เวิร์มจะบำบัดน้ำให้หายเน่าเสียได้มากน้อยเท่าใด เพราะการใช้งานแต่ละครั้งต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพของน้ำและปริมาณการใช้งานด้วย

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดส่งอี-เวิร์มเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียนั้น นอกจากจะมีประสิทธิภาพสูงและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง เนื่องจากกระบวนการผลิตอี-เวิร์มมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ในระยะยาวประชาชนสามารถผลิตใช้งานได้เอง เพียงแค่เลี้ยงไส้เดือนเพื่อใช้กำจัดขยะก็สามารถผลิตอี-เวิร์มขึ้นมาใช้ด้วยได้ หรือหากในอนาคตมีความต้องการใช้งานอี-เวิร์มเพิ่มขึ้นก็สามารถระดมจากผู้ที่เพาะเลี้ยงไส้เดือนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้เช่นกัน

รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ขวา)

ชุดบำบัดน้ำเสีย E-Worm สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน
การสาธิตวิธีการใช้งานชุดบำบัดน้ำเสีย E-Worm
กำลังโหลดความคิดเห็น