xs
xsm
sm
md
lg

“อลิอันซ์” เผยค่าสินไหมอุทกภัยไทยแสน “แพง” ทำ บ.ประกันอ่วมสุดในรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศน้ำท่วมย่านดอนเมือง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน
เอเจนซี - เงินค่าสินไหมจากวิกฤตอุทกภัยไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์ มหันตภัยครั้งนี้จะส่งผลให้มีผู้รับประกันต้องทบทวนความเสี่ยงภัยของอุตสาหกรรมในเอเชียมากขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ “อลิอันซ์” บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ แสดงความเห็นกรณีผลกระทบของน้ำท่วมไทยต่อวงการประกันภัย

การคำนวณค่าความเสียหายที่แท้จริงอาจใช้เวลาอีกหลายปี เนื่องจากความเสียหายทางธุรกิจจะค่อยๆ ปรากฏออกมา เมื่อนักลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ลุทซ์ ฟุลล์กราฟ ซีอีโอฝ่ายบริษัทข้ามชาติและชำนาญการพิเศษ ประจำเอเชียแปซิฟิก ของอลิอันซ์ กล่าว

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากเงินค่าสินไหมที่ต้องจ่ายชดเชยให้กับเจ้าของอาคารต่างๆ ในไทยแล้ว อุตสาหกรรมทั่วโลกที่เสียหายจากการระงับสายพานการผลิตของโรงงานไทยก็จะได้รับค่าสินไหมเช่นกัน

“สำหรับประเทศไทยแล้ว ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่มีมูลค่าแพงสุดจากค่าประกันภัย หากพิจารณาถึงสึนามิ ปี 2004 และการจลาจล ปีที่แล้ว ครั้งนี้มีความเสียหายรุนแรงกว่ามาก” ลุทซ์ ฟุลล์กราฟ ให้สัมภาษณ์จากสิงคโปร์

แม้สถานการณ์ในเวลานี้ยังเร็วเกินกว่าจะชี้ตัวเลขที่แน่ชัด แต่ฟุลล์กราฟได้เปิดเผยตัวเลขความเสียหายเบื้องต้น มูลค่าเกินกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 900,000 ล้านบาท) จากการประเมินของตัวแทนอลิอันซ์ในไทย

อุทกภัยไทยทำให้บริษัทประกันภัยเริ่มคิดทบทวนมาตรการประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติในเขตอุตสาหกรรมที่เติบโตรวดเร็วในเอเชีย ซึ่งหลายประเทศตั้งอยู่ในเขตแผ่นดินไหว พายุ และน้ำท่วม

“ผมคิดว่า อุทกภัยไทยอาจสร้างความเสียหายแก่การประกันภัยสูงสุดในรอบ 10 ปี ... มีการทบทวนการประกันความเสี่ยงภัยธรรมชาติใหม่ แน่นอน”

บริษัทเครดิตเรตติ้ง “สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส” เสนอรายงานช่วงต้นเดือน ว่า ปีนี้ผู้ประกันวินาศภัยในประเทศไทยอาจเก็บเบี้ยประกันได้เพียง 4,700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 140,000 ล้านบาท) นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมการประกันโลกอาจใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะถอนทุนคืนจากเงินค่าสินไหมที่ต้องจ่ายให้อุทกภัยครั้งนี้

ในฐานะบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดของยุโรป อลิอันซ์ เปิดเผยว่า อุทกภัยจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวน 18,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 550,000 ล้านบาท) เป็นมูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

ส่วน อุทกภัยในออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ติดอยู่ในอันดับ 5 ความเสียหายมูลค่า 5,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)

ขณะที่วิกฤตอุทกภัยไทยตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม จมโรงงานไปแล้วประมาณ 900 หลัง ในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง สะเทือนห่วงโซ่อุปทานของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น โตโยต้า มอเตอร์, โซนี่ คอร์ป และ เลโนโว กรุ๊ป เป็นต้น

ในระดับโลก การส่งสินค้าคอมพิวเตอร์อาจชะงักงันมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ “ไอดีซี” บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยี ประมาณการ ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤตอุทกภัย ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ป้อนตลาดโลกมากถึง 40-45 เปอร์เซ็นต์

ลุทซ์ ฟุลล์กราฟ จากอลิอันซ์ กล่าวต่อว่า น้ำท่วมไทยเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่เผยให้เห็นความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งสินค้า อย่าง น้ำยาป้วนปาก

“ความเสียหายรุนแรงและหนักหน่วง เพราะไม่มีระบบรองรับความเสียหาย” ฟุลล์กราฟย้ำว่า อาจเกิดการชะงักงันครั้งใหญ่ขึ้นอีก ขณะสภาพอากาศโลกเลวร้ายลงเรื่อยๆ “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะในเอเชียที่ขยายการพัฒนาเข้าใกล้ทะเล หรือในพื้นที่ต่ำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงสาหัส”

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนไว้ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นแม้เพียงองศาเดียวก็จะทำให้เกิดฝนตกหนัก หิมะซัดรุนแรง และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

“แน่นอนครับ เราจะทุ่มความสนใจกับปัญหาน้ำท่วมไทยยิ่งกว่าที่ผ่านมา” ลุทซ์ ฟุลล์กราฟ กล่าว “น้ำท่วมครั้งนี้กระทบต่อการพิจารณาการรับประกันภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น