เอเอฟพี - มาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี ผ่านการลงมติไว้วางใจจากวุฒิสภา วานนี้ (17) ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น พร้อมเร่งรัดบังคับใช้มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ซึ่งมีเจตนารมณ์นำชีวิตใหม่มาสู่อิตาลี ขณะเดียวกัน ชาติยุโรปก็ส่งเสียงสนับสนุนรัฐบาลกรุงโรมชุดนี้เต็มที่ เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้สาธารณะลุกลามไปยังประเทศอื่น
วันนี้ (18) มาริโอ มอนติ จะเผชิญอีกหนึ่งด่านทดสอบสำคัญ กล่าวคือ การลงมติไว้วางใจจากสภาล่าง แต่คาดกันว่า “รัฐบาลเทคโนแครต” ของเขาจะผ่านได้ไม่ยากเย็น หลังการแถลงเปิดเผยถึงมาตรการผ่าทางตันออกมาชุดใหญ่ เพื่อนำอิตาลีพ้นภัยวิกฤตยูโรโซน
สภาสูงอิตาลีลงมติสนับสนุนคณะรัฐมนตรีของ มาริโอ มอนติ ด้วยคะแนน 281 เสียง จากจำนวนวุติสมาชิก 307 ราย โดยคาดกันว่า นายกรัฐมนตรีใหม่แกะกล่องจะได้รับเสียงสนับสนุนถล่มทลายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้เช่นกัน
ในการแถลงต่อรัฐสภาครั้งแรก มอนติประกาศแผนสร้างสมดุลมาตรการรัดเข็มขัด โดยเน้นการกระตุ้น “การเติบโตและความเท่าเทียม” เช่น การลงทุนในกลุ่มเยาวชน ผู้มีความรู้ความสามารถ และผู้หญิง รวมถึงการแก้ปัญหาอภิสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ กำลังเร่งผลักดันมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจตามข้อเรียกร้องของยุโรป ทั้งการปฏิรูปเงินบำนาญ และยกเครื่องตลาดแรงงานอิตาลี เขาแถลงถึงการปฏิรูปครั้งสำคัญนี้ว่า ไม่ได้ถูกกำหนดจากมหาอำนาจภายนอก และสำทับว่า “เราคือยุโรป”
“อนาคตของเงินยูโรขึ้นอยู่กับสิ่งที่อิตาลีจะทำในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้”
มอนติยอมรับว่า ได้สนทนาโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส โดยผู้นำมหาอำนาจยูโรโซนทั้งสองต่างแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอิตาลีชุดใหม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม สื่อมองว่า แม้ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ แต่มอนติ นักเศรษฐศาสตร์ผู้กลายเป็นนายกฯ อาจเผชิญความยากลำบากในการคุมเกมการเมือง และอาจถูกลอบกัดจากพันธมิตรของ ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศว่า สักวันเขาจะกลับมา
วานนี้ นักศึกษาหลายพันคนก่อเหตุชุมนุมในเมืองต่างๆ ทั่วอิตาลี ก่อนการแถลงของมอนติ เนื่องจากกลุ่มนักศึกษากังวล ว่า รัฐบาลนักเศรษฐศาสตร์ชุดนี้จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ให้กับพวกนายทุน และพวกนายธนาคาร กระนั้นก็ดี ผลการสำรวจความเห็นของสำนักไอพีอาร์ มาร์เกตติง ระบุชัดว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งสนับสนุน มาริโอ มอนติ ผู้มีลีลาการพูดนุ่มนวล
ด้าน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศส่งทีมงานไปยังอิตาลีในสัปดาห์หน้า เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ตามคำเชิญของกรุงโรม
อัตราตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลอิตาลี แกว่งตัวอยู่ที่ประมาณ 7.0 เปอร์เซ็นต์ จนอียูออกมาส่งสัญญาณเตือน แต่หลังการแถลงของมอนติคืนที่ผ่านมา ดอกเบี้ยพันธบัตรก็สามารถลดลงมาที่ 6.84 เปอร์เซ็นต์