เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ธนาคารเอชเอสบีซีปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงในปีนี้และปีหน้า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มชาติผู้ใช้เงินสกุลยุโร หรือยูโรโซน ยังกระทบต่อภาคการส่งออกในท้องถิ่นต่อไป
ธนาคารเอชเอสบีซีทบทวนอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงสำหรับปีนี้ โดยปรับลดจากการคาดการณ์ก่อนหน้า 6.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 และสำหรับปีหน้าจากร้อยละ 5.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.5
นาย เฟรเดอริก นิวแมนน์ หัวหน้าร่วมฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซีระบุว่า การส่งออกของฮ่องกงชะลอตัวอย่างน่าตกใจทีเดียว และจะฉุดรั้งภาคโลจิสติกส์ ซึ่งมีความสำคัญ ขณะที่ตลาดการเงินจะยังคงผันผวนต่อไป สิ่งเหล่านี้จะยับยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีก และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเอชเอสบีซีคาดว่าจะแข็งแกร่ง จะช่วยไม่ให้ฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยนายนิวแมนน์ย้ำว่า การตกต่ำของเศรษฐกิจฮ่องกงจะไม่ถึงขั้นซ้ำรอยกับวิกฤตสินเชื่อเมือปี 2551 นอกจากนั้น ยังมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนคอยสนับสนุนอยู่อีกด้วย
เอชเอสบีซียังคงคาดการณ์จีดีพีของจีนในปีนี้และปีหน้าว่า มีความแข็งแกร่ง โดยโตเกือบร้อยละ 9 นอกจากนั้น เงินเฟ้อบนแผ่นดินใหญ่จะเริ่มผ่อนคลายลงนับจากนี้ โดยเอชเอสบีซีคาดว่า เงินเฟ้อของจีนจะมีระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงจะยังคงประสบความเสี่ยงปัญหาเงินเฟ้อในช่วงกลางปีหน้า เมื่อเศรษฐกิจฮ่องกงฟื้นตัว โดยคาดว่า ราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาวะเงินเฟ้อ จะขยับขึ้นถึงร้อยละ 6.1 ในไตรมาส 3 ของปี 2555 จากระหว่างร้อยละ 4.2 และ 4.8 ในช่วง 9 เดือนก่อนหน้า และเมื่อถึงสิ้นปีหน้า เงินเฟ้ออาจพุ่งถึงร้อยละ 6.4 เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้เกิดแรงกดดันต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ และค่าจ้าง
ด้านนาย John Tsang Chun-wah รัฐมนตรีคลังของฮ่องกงออกมาเตือนภาพรวมของเศรษฐกิจ ที่ซบเซาในอนาคต หลังจากยอดส่งออกของฮ่องกงในเดือนก.ย.ลดลงร้อยละ 3 มูลค่าส่งออกมาอยู่ที่ 271.8 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม นายเดวิด วู หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่น่าจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจเกิดใหม่ในย่านเอเชีย เช่นฮ่องกง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาในภูมิภาคเกิดจากการแกว่งตัวขึ้นตามวงจรของต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์
นอกจากนั้น เขายังมองว่า นับจากช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้าเป็นต้นไป รัฐบาลปักกิ่งอาจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้ง โดยปรับลดครั้งละ 25 จุดตามนโยบายพยายามควบคุมเงินเฟ้อ