xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดีย‘น็อตหลุด’

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Diplomat lets Zhou facade slip
By Wu Zhong
08/11/2011

แนวทางปฏิบัติทางการทูตอันสูงสง่าซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลของจีนเป็นผู้วางเอาไว้อย่างสมบูรณ์งดงาม ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในวิถีทางแห่งการที่แดนมังกรเสนอตัวเองต่อโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่น่าประหลาดใจอะไรนักที่เมื่อเอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดียเกิดเก็บอาการไม่อยู่ จนปล่อยความยโสถือดีระคนความหงุดหงิดคับข้องซึ่งซ่อนอยู่ส่วนลึกภายในของเขาออกมา ณ การประชุมแถลงข่าวที่กรุงนิวเดลีเมื่อเร็วๆ นี้ เขาก็ตกเป็นเป้าหมายแห่งความโกรธขึ้งเดือดดาล อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าประหลาดใจจริงๆ อยู่ตรงที่ว่า ความไม่พอใจเนื่องจากรู้สึกว่าเอกอัครราชทูตผู้นี้ออกนอกแนวทางอันถูกต้องที่พึงกระทำนั้น ปรากฏให้เห็นในประเทศจีนมากกว่าในอินเดียเสียอีก

ฮ่องกง – อดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลผู้ล่วงลับ ในทางปฏิบัติแล้วได้รับการนับถือยกย่องว่าเป็นบิดาผู้สถาปนาศิลปะการทูตของสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา ผู้นำซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รักใคร่ของประชาชนจีนผู้นี้ มีคติพจน์ประจำตัวอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง นั่นคือ “ในทางการทูตแล้วไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย” ระหว่างที่เป็นผู้บัญชาการการดำเนินงานทางการทูตของจีนตั้งแต่ปี 1949 จนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมไปในปี 1976 โจวได้ผนึกเอาแนวความคิดนี้ของเขาให้กลายเป็นรากฐานแห่งความสัมพันธ์กับภายนอกของแดนมังกร และมันยังคงเป็นเสาหลักต้นหนึ่งแห่งการทูตของจีนในทุกวันนี้

จากธรรมเนียมประเพณีและวินัยจรรยาบรรณทางการทูตที่กำหนดขึ้นมาโดยโจว ภาพลักษณ์โดยทั่วไปของนักการทูตจีนจึงถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีท่าทีจริงจังเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ มักจะพูดจาด้วยความระมัดระวัง และเอาใจใส่เดินตามแนวทางที่ปักกิ่งวางเอาไว้อย่างละเอียดรอบคอบ ภาพลักษณ์เช่นนี้เป็นจริงอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศจีนยังค่อนข้างยากจน ขณะที่ในทางสากลก็ถูกโดดเดี่ยว และงานการทูตก็ถูกมองว่าทรงความสำคัญสูงสุด

แต่เมื่อประเทศจีนค่อยๆ ร่ำรวยขึ้นและเข้มแข็งขึ้น เจ้าหน้าที่จีนจำนวนมากรวมทั้งนักการทูตจีนด้วย ก็ดูจะมีความเชื่อมั่นในตนเองกันเพิ่มขึ้น ถ้าหากยังไม่ไปถึงขึ้นเกิดความเย่อหยิ่งถือดีขึ้นมา ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องนี้ได้แก่กรณีการหลุดปากพูดจาวางอำนาจเมื่อเร็วๆ นี้ของ จาง เหยียน (Zhang Yan) เอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดีย ณ การประชุมแถลงข่าวในกรุงนิวเดลี ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธขึ้งไม่พอใจในหมู่ประชาชน โดยที่ความเดือดดาลในจีนดูจะแรงกล้ากว่าในอินเดียเสียอีก

ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนอินเดีย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตจาง ได้เข้าร่วมการประชุมแถลงข่าวเรื่องที่ ทีบีอีเอ (TBEA) บริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของจีน จะลงทุนในอินเดียเป็นมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การลงทุนที่กระทำเป็น 2 ขั้นตอนคราวนี้ มุ่งสร้างโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขึ้นในรัฐคุชราต (Gujarat) ทางภาคตะวันตกของแดนภารตะ

แต่แล้ว หนังสือพิมพ์เอ็กซ์เพรส ทรีบูน (Express Tribune) รายงานว่า:

พวกนักข่าวเกิดไปพบว่า ในแผ่นพับที่ฝ่ายจีนจัดทำขึ้นเพื่อแนะนำเรื่องการลงทุนในอินเดีย ได้ตีพิมพ์แผนที่ซึ่งแสดงว่ารัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) ที่อยู่ตรงชายแดนอินเดียติดต่อกับจีนนั้น เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน นอกจากนั้นแล้วแผนที่นี้ยังท้าทายการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในแคว้นแคชเมียร์ของอินเดียอีกด้วย

“เมื่อถูกตั้งคำถามในลักษณะเป็นการไล่จี้จนบรรยากาศร้อนรุ่ม โดยเป็นคำถามเกี่ยวกับแผนที่ดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศ (ที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในอธิปไตยของตนที่เรียกขานว่า จ้างหนาน (Zhangnan) หรือ ทิเบตใต้) และ ลาดัค (Ladakh) ว่าอยู่ในจีน และแคว้นแคชเมียร์อยู่ในปากีสถาน จาง เหยียน ก็บอกให้นักข่าวผู้นั้น ‘หุบปาก’” ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฮินดูสถาน ไทมส์ (Hindustan Times)

จางกล่าวในเวลาต่อมาว่า นักข่าวคนนั้น “กดดัน กดดัน กดดัน” ไม่ยอมเลิก ถึงแม้ได้รับการชี้แจงแล้วว่า แผนที่ดังกล่าวเป็น “ประเด็นปัญหาทางเทคนิค” ที่จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

“เรากำลังทำงานเพื่อให้มีสายสัมพันธ์ที่เป็นมิตรยิ่งขึ้นกับอินเดีย ... เรื่องนี้ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย” จางกล่าวภายหลังจากที่เขา “น็อตหลุด” ระเบิดความโกรธเกรี้ยว ณ การประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นในโรงแรมหรูหราแห่งหนึ่ง

พื้นที่พรมแดนในบริเวณดังกล่าวซึ่งอินเดียกับจีนพิพาทกันอยู่ เคยเป็นหัวข้อของการเจรจามาหลายต่อหลายครั้งทว่าไม่ได้ผลอะไรนับตั้งแต่ปี 1962 โดยที่ในปีดังกล่าวประเทศทั้งสองได้ทำสงครามสู้รบชิงอาณาบริเวณนี้เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทว่าดุเดือดโหดเหี้ยม

ประเด็นปัญหานี้ยังคงอ่อนไหวมาก และจีน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ อรุณาจัลประเทศ (จ้างหนาน) ว่าเป็นของตนทั้งหมด ได้เคยประท้วงคัดค้านตอนที่นายกรัฐมนตรีมานโมหัส ซิงห์ ไปเยือนรัฐแห่งนี้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี 2009 [1]

หนังสือพิมพ์ฮินดูสถาน ไทมส์ รายงานถึงเหตุการณ์เผชิญหน้าคราวนี้เพิ่มเติมว่า:

นักข่าวผู้นั้นได้ตอบโต้จางกลับไปว่า อินเดียนั้นไม่เหมือนจีน อินเดียมีเสรีภาพเต็มที่ “ท่านจะมาบอกให้นักข่าวคนหนึ่งหุบปากได้ยังไง ถ้านักข่าวคนนั้นกำลังสอบถามอะไรท่านอยู่” เขายิงคำถามตอบโต้ใส่จาง [2]

ไม่น่าประหลาดใจอะไร พฤติกรรมของจางคราวนี้ทำให้เกิดเสียงโวยวายโกรธขึ้งขึ้นในอินเดีย ถึงแม้รายงานของ เอ็กซ์เพรส ทรีบูน ระบุว่า “พวกเจ้าหน้าที่อินเดียพยายามลดความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยบอกว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลจีน” [3]
แต่พรรคภารติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party หรือ BJP) พรรคฝ่ายค้านแนวทางชาตินิยมฮินดู ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับสองในรัฐสภาอินเดียเวลานี้ ได้ออกมาเรียกร้องให้จางขอโทษ ดรุณ วิชัย (Tarun Vijay) โฆษกของบีเจพี ระบุในคำแถลงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนว่า เอกอัครราชทูตจีนผู้นี้ได้ใช้ “ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับนักการทูตและไม่เป็นประชาธิปไตย กลางงานพิธีที่เป็นงานสาธารณะ ในความพยายามที่จะ ‘หุบปาก’บุคลากรในวงการสื่อมวลชนชาวอินเดีย” เขากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจีนควรที่จะตักเตือนนักการทูตจีนผู้นี้ “อย่าได้ทำอะไรตามอำเภอใจด้วยการแสดงพฤติการณ์อันไม่เป็นมิตรเช่นนี้ขึ้นมาอีกในอนาคต” โฆษกผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า “เห็นได้ชัดเจนว่า เอกอัครราชทูตจีนผู้นี้หลงลืมไปว่าเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตยอันมีชีวิตชีวา ที่ซึ่งจักไม่ยอมให้บังเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเทียนอันเหมิน และสื่อมวลชนก็มีเสรีภาพและไม่ใช่กลไกที่ดำเนินการโดยรัฐซึ่งจะต้องคอยรับคำสั่งจากพวกเจ้านายในพรรค ผู้ซึ่งสามารถสั่งให้นักข่าว ‘หุบปาก’ ได้” [4]

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านี้เสียอีกก็คือ จางยังถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามถล่มในบ้านของตัวเองโดยฝีมือของพลเมืองเน็ตหรือบล็อกเกอร์ชาวจีน

ขณะที่รัฐบาลจีนใช้ท่าทีคล้ายๆ กับรัฐบาลอินเดีย โดยดูเหมือนกับไม่ต้องการคุ้ยเขี่ยสร้างความยุ่งยากวุ่นวายเพิ่มขึ้นมาจากเรื่องนี้ สื่อมวลชนของภาครัฐเจ้าใหญ่ๆ ต่างก็ปิดปากเงียบ มียกเว้นเพียง โกลบอล ไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ซึ่งตีพิมพ์โดย เหรินหมินรึเป้า (People's Daily) กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้โกลบอล ไทมส์ ได้ตีพิมพ์เป็นข่าวสั้นๆ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยอิงตามรายงานของสื่อมวลชนอินเดียทว่าใช้พาดหัวข่าวที่เข้าข้างแก้ต่างให้แก่ทูตจีน โดยบอกว่า “ทูตจีนบอกนักข่าวอินเดีย ‘หุบปาก’ หลังเคืองที่มาก่อกวนพิธีลงนามข้อตกลงร่วมมือจีน-อินเดีย” [5]

ภายหลังที่ทราบข่าวนี้ พลเมืองเน็ตชาวจีนก็เริ่มเปิดการถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้กันทันทีตามเว็บไซต์ใหญ่ๆ ของแดนมังกร จวบจนถึงเวลา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่สุดของชาวเน็ตจีนอยู่ในลักษณะที่วิพากษ์วิจารณ์จางอย่างหนัก โดยกล่าวหาว่าเขาประพฤติตนไม่เหมาะสมกับที่เป็นนัการทูตจีน เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ พอที่จะสรุปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังต่อไปนี้:

** กลุ่มแรกมองว่า จาง เหยียน ในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตของจีน ควรที่จะต้องปกป้องอธิปไตยและศักดิ์ศรีของชาติด้วยความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง เนื่องจากจีนยืนยันมาตลอดว่า จ้างหนาน เป็นดินแดนในอธิปไตยของจีน ดังนั้นจางควรที่จะต้องยืนยันด้วยจุดยืนอันมั่นคงเมื่อถูกตั้งคำถามและถูกท้าทายในเรื่องนี้ “แล้วทำไมเรื่องนี้จึงกลายมาเป็นแค่ ‘ประเด็นปัญหาทางเทคนิค’ ไปได้? ถ้าหากมัน (จ้างหนาน) เป็นของเรา มันก็จะต้องเป็นของเรา! ทำไมเขาต้องหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามนี้? ทำไมเขาไม่ประกาศออกไปอย่างเด็ดขาดชัดเจนไม่มีกำกวมว่า จ้างหนานเป็นดินแดนของจีน!?” ในความเห็นของบางคนในกลุ่มนี้ จุดยืนที่จางแสดงออกมา กระทั่งควรที่จะตีตราว่าเป็น “ผู้ทรยศชาติ” ด้วยซ้ำไป

** กลุ่มที่สองเห็นว่า จางไม่ได้เป็นนักการทูตที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเขาขาดไร้ทักษะการทูตพื้นฐานในการรับมือกับสื่อมวลชน แม้กระทั่งเมื่อเอกอัครราชทูตผู้นี้รู้สึกลังเลใจที่จะต้องคำถามที่ถามขึ้นโดยนักข่าวอินเดีย เขาก็น่าที่จะสามารถเลี่ยงความยุ่งยากไปได้อย่างง่ายๆ ด้วยการบอกว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ได้จัดทำโดยรัฐบาลจีน หรือไม่เขาก็สามารถหันมาใช้คำตอบที่พวกนักการทูตชอบใช้กันเป็นนิจ นั่นคือ “โน คอมเมนต์!”

** กลุ่มที่สามบอกว่า จางนำเอาความเย่อหยิ่งถือดีของเจ้าหน้าที่จีนคนหนึ่งเข้าไปสู่ศิลปะการทูต “คุณอาจจะบอกให้นักข่าวหุบปากได้เมื่ออยู่ในประเทศจีน มันเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับนักการทูตจีนที่ไปเที่ยวแสดงความเย่อหยิ่งถือดีแบบเจ้าหน้าที่จีนเช่นนี้ในดินแดนต่างประเทศ” “แม้กระทั่งภายในจีนเองในทุกวันนี้ พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากสักหน่อยยังพากันหลีกเลี่ยงไม่พูดตะคอกใส่นักข่าว แล้วทำไมนักการทูตอาชีพอย่างจาง เหยียน จึงไม่สามารถกระทำเช่นนี้บ้าง?” “เมื่อพิจารณาจากทุกๆ แง่มุมแล้ว นักข่าวมีสิทธิที่จะไม่ยอมหุบปาก ไม่เช่นนั้นเขาจะทำงานตามหน้าที่ของเขาได้ยังไง?” “ปัญหารากเหง้านั้นอยู่ที่พวกนักการทูตจีน ซึ่งก็ถือตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่” “พวกเจ้าหน้าที่จีนนั้นคิดว่าพวกเขาคือผู้ปกครองและปฏิบัติต่อคนอื่นๆ เหมือนกับเป็นบริวารของพวกเขา แต่ชาวต่างประเทศน่ะไม่ยอมรับเรื่องนี้หรอก”

เป็นเรื่องที่น่าฉงนสนเท่ห์มากทีเดียวว่า ทำไม จาง ซึ่งปัจจุบันอายุ 61 ปี ถือเป็นนักการทูตมืออาชีพระดับอาวุโสและมีประสบการณ์สูง จึงรับมือกับคำถามของนักข่าวอินเดียได้อย่างย่ำแย่ขนาดนี้ เราน่าที่จะสามารถทึกทักได้ว่า ตอนที่ปักกิ่งจะส่งเอกอัครราชทูตของตนไปยังประเทศต่างๆ ที่มีกรณีพิพาททางดินแดนอยู่กับจีนนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้แก่พวกเขาว่าจะจัดการอย่างไรด้วยศิลปะการทูตเมื่อต้องเผชิญคำถามหรือการท้ายทายอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นปัญหาที่บาดหมางกันอยู่

ความยุ่งยากวุ่นวายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการหลุดปากตะคอกออกไป 2 คำของจาง เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นความถูกต้องล้ำลึกในคติพจน์ของโจว เอินไหลที่ว่า “ในทางการทูตแล้วไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย” ดูเหมือนว่าจางจำเป็นต้องได้รับการปัดฝุ่นเคาะสนิมเพื่อให้ตระหนักจดจำธรรมเนียมประเพณีและวินัยจรรยาบรรณทางการทูตที่โจวสร้างขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง รวมทั้งต้องเพิ่มพูนทักษะความชำนาญของเขาในการรับมือกับสื่อมวลชน

**หมายหตุ**
[1] China envoy loses cool over Indian map error: report, The Express Tribune, Nov 4, 2011.
[2] China gets map wrong, envoy yells 'shut up', Hindustan Times, Nov 3, 2011.
[3] China envoy loses cool over Indian map error: report, The Express Tribune, Nov 4, 2011.
[4] Will Chinese ambassador apologise for 'shut up'?, Daily Bhaskar, Nov 6, 2011.
[5] ดูเนื้อความภาษาจีนได้ที่ http://world.huanqiu.com/roll/2011-11/2144450.html

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น