xs
xsm
sm
md
lg

“เพนตากอน” ยื่นรายงานคองเกรส ชี้ ทัพ US มีสิทธิ์โต้ถ้าระบบถูก “แฮก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ (แฟ้มภาพ)
รอยเตอร์ - เพนตากอนยื่นรายงานต่อรัฐสภาระบุชัดๆ ว่า สหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการทางทหารตอบโต้หากถูกศัตรูโจมตีทางไซเบอร์ พร้อมกับประกาศให้รับรู้ด้วยว่า กระทรวงกลาโหมอเมริกันกำลังปรับปรุงศักยภาพในการแกะรอยสาวถึงแหล่งต้นตอของการเจาะทะลวงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตน หลังจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์แฮกเกอร์ลักลอบเจาะระบบคอมพ์หน่วยงานรัฐ และบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เพื่อจารกรรมข้อมูล ตลอดจนฝังไวรัสทำให้ระบบรวนเสียหาย ได้เกิดถี่ขึ้นทุกที โดยที่วอชิงตันอ้างเสมอมาว่า ต้นตอส่วนใหญ่มาจากในจีนและรัสเซีย

รายงานความยาว 12 หน้าของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเสนอต่อคองเกรส และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ (15) นั้น ถือเป็นหนึ่งในคำแถลงลายลักษณ์อักษรอันชัดเจนที่สุด เกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯด้านความมั่นคงในโลกไซเบอร์ ตลอดจนบทบาทของกองทัพหากเกิดเหตุการณ์ที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศถูกลอบโจมตี

“เมื่อได้รับเห็นชอบ พวกเราจะทำการตอบโต้ต่อการโจมตีแบบปรปักษ์ในไซเบอร์สเปซ ตามที่เรามีสิทธิทำได้เมื่อเผชิญภัยคุกคามอื่นๆ ที่กระทำต่อประเทศของเรา” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ “เรามีสิทธิที่จะใช้วิธีการที่จำเป็นทั้งหมด ทั้งในด้านการทูต, การสื่อสาร, การทหาร และเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องประเทศชาติของเรา, พันธมิตรของเรา, หุ้นส่วนของเรา ตลอดจนผลประโยชน์ของเรา”

รายงานระบุว่า พฤติการณ์ปรปักษ์นี้ ประกอบด้วย “การโจมตีทางไซเบอร์ชนิดสำคัญอันมุ่งเป้าหมายโดยตรงไปที่เศรษฐกิจ, รัฐบาล และกองทัพของสหรัฐฯ” ส่วนการตอบโต้นั้น จะสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิก หรือ ทางเลือกทางทหารตามแต่จะเหมาะสม

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า เพนตากอนกำลังพยายามหาทางป้องปรามการรุกรานในพรมแดนไซเบอร์ด้วยการพัฒนาระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้ฝ่ายศัตรูบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนแสวงหาวิธีการที่จะทำให้พวกลักลอบโจมตีเหล่านี้ต้องชดใช้ในสิ่งที่พวกเขาก่อขึ้น

กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การตอบโต้ทางทหาร ก็คือ การที่สามารถระบุถึงแหล่งต้นตอของการโจมตีได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความท้าทายอันสืบเนื่องมาจากธรรมชาติของอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตน

รายงานว่าต่อไปว่า ในความพยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงกลาโหมจึงได้สนับสนุนงานวิจัยที่มุ่งโฟกัสไปที่การแกะรอยค้นหาแหล่งต้นตอทางกายภาพ และใช้ขั้นตอนวิธีซึ่งอิงตามพฤติกรรม ในการประเมินตัดสินระบุตัวตนของผู้โจมตี

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีพนักงานและข้าราชการรับผิดชอบดูแลเครือข่ายคอมพิวเตอร์มากกว่า 15,000 เครือข่าย ด้วยคอมพิวเตอร์ 7 ล้านเครื่องซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ หลายร้อยแห่งทั่วโลก โดยเครือข่ายของพวกเขาตรวจพบปัญหาหลายล้านครั้งในแต่ละวัน และการคุกคามเหล่านั้นก็เป็นเหตุให้ข้อมูลเอกสารสูญหายไปหลายพันหลายหมื่นไฟล์

ไม่เพียงภาครัฐของสหรัฐฯ บริษัทเอกชนหลายแห่งก็เผชิญกับการถูกแฮกเกอร์โจมตีชนิดกัดไม่ปล่อย ซึ่งรวมถึงหลายกรณีที่เกี่ยวโยงกับหลายประเทศอย่างจีนและรัสเซีย โดยพวกบริษัทเหล่านี้ต่างก็กำลังเดือดดาลรัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้นว่า ไร้มาตรการในการตอบโต้

ดมิตรี อัลเปอโรวิตช์ อดีตรองประธานฝ่ายวิจัยสิ่งคุกคามบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แห่งบริษัทแม็กอาฟี กล่าวในงานซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันจอร์จ ซี. มาร์แชลล์ ว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันหลายแห่งต่างได้รับความเสียหายจากจารชนในโลกไซเบอร์ คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

“ยังไม่มีการทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย” อัลเปอโรวิตช์ กล่าว “บางสิ่งควรที่จะได้รับการปฏิบัติโดยเริ่มจากความคิดระดับนโยบายเพื่อระบุทราบถึงปัญหาคุกคาม... ความจริงนั่นก็คือจีน ความจริงนั่นก็คือรัสเซีย แล้วพวกเราจะทำอะไรต่อไปเพื่อรับมือกับประเทศเหล่านั้น และทำให้พวกเขายอมหยุด?”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์โจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ ถี่ขึ้น และส่งผลให้บริษัทสัญชาติอเมริกันจำนวนมากสูญเสียคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์โดยประมาณ จากผลกระทบทรัพย์สินทางปัญญา, ความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนความเสียหายอื่นๆ โดยที่บริษัทด้านกลาโหมแห่งหนึ่งถูกจารกรรมข้อมูลหายไปราว 24,000 ไฟล์ ในเดือนมีนาคมปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น