xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ใช้เวทีเอเปกป้อง รบ.จัดการน้ำท่วมเหลว โยนบาปภาคธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
วอลล์สตรีท เจอร์นัลด์ - “กิตติรัตน์” ใช้เวทีเอเปกปัดเป่าข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ขณะที่ไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้คำรับประกันแก่นักลงทุนว่าจะป้องกันไม่ให้วิกฤตอุทกภัยเลวร้ายเกิดซ้ำรอยอีก อ้างหายนะที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลและโยนความรับผิดชอบบางส่วนแก่ภาคธุรกิจ



นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ว่าด้วยปฏิบัติการระบายน้ำระยะสั้นและโครงการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว “เราจึงมีความมั่นใจอย่างสูงว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก และเราจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอีก”

นายกิตติรัตน์ ซึ่งเดินทางทางร่วมประชุมแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับมีความกังวลว่าเหล่าบริษัทต่างชาติอันเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอาจย้ายฐานการผลิตออกไปที่อื่นด้วยความกังวลจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีก แต่เขายืนยันว่าหายนะที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล และได้โยนความรับผิดชอบบางส่วนต่อบริษัทต่างชาติที่เจอปัญหาห่วงโซ่อุปทานยุ่งเหยิง

“ถ้าคุณถามผมว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความบกพร่อง บริหารจัดการผิดพลาดและขาดความรู้หรือไม่ ผมไม่มีมูลเหตุที่จะเชื่อเช่นนั้น” นายกิตติรัตน์กล่าว “รัฐบาลเองก็เป็นหนึ่งในฝ่ายที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ภาคธุรกิจเองอาจต้องยอมรับความรับผิดชอบบางส่วนด้วย”

หนึ่งในภารกิจของนายกิตติรัตน์ คือ การชี้แจงกับญี่ปุ่น นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยในวันเสาร์ (12) เขาพบปพกับนายยูคิโกะ เอดาโน หลังจากรัฐมนตรีพาณิชย์แดนปลาดิบรายนี้ร้องขอให้ไทยมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อช่วยภาคธุรกิจ อาทิระบายน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมที่จมน้ำ อำนวยความสะดวกการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้แก่คณะวิศวกรญี่ปุ่นที่จะไปซ่อมแซมโรงงาน ขณะที่นายยูคิโกะรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือสูงสุดแก่ไทยเรื่องการฟื้นฟูระยะยาว

ทั้งนี้ นายอิซามุ วากามัตสึ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำภูมิภาคเอเชียโอเชียเนีย ระบุว่า จนถึงตอนนี้บริษัทของญี่ปุ่นยังไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น “ญี่ปุ่นและไทยทั้งว่ายน้ำและจมน้ำไปด้วยกัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศถูกสานเข้าด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าหากเกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีกก็อาจเพียงพอที่จะทำให้บริษัทต่างๆทบทวนแผนการลงทุนใหม่ “หากหายนะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในปีหน้า บางทีโรงงานต่างๆอาจจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับการย้านฐานการผลิตไปยังที่อื่นๆ” เขากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น