วอลล์สตรีท เจอร์นัลด์ - สื่อต่างประเทศตีข่าวชาวบ้านในกรุงเทพฯกำลังหันไปพึ่งจุลินทรีย์ก้อนหรืออีเอ็มบอลที่ผู้นำเสนออ้างว่าสามารถบำบัดและฆ่าเชื้อโรคน้ำที่ท่วมขังทั่วเมืองหลวง แต่ปัญหาคือไม่มีใครหรือแม้กระทั่งองค์การสาธารณสุขระดับโลกเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันจะได้ผลอย่างแท้จริง
ความพยายามทำและแจกจ่าย "เอฟเฟคทีฟ ไมโครออร์แกนิซึม" หรือ "อีเอ็มบอล" ได้แพร่กระจายไปทั่วเมือง โดยอาสาสมัครรวมตัวกันที่อัมรินทร์ พลาซ่าและสถานที่อื่นๆเพื่อปั้นอีเอ็มบอลหลายแสนลูกสำหรับแจกจ่ายในพื้นที่ประสบอุทกภัย
ก้อนปั้นขนาดเท่าลูกเทนนิสมีส่วนประกอบของดิน รำ ดินทรายและจุลินทรีย์ เชื่อว่าเมื่อโยนอีเอ็มบอลหนึ่งก้อนจะสามารถฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่น้ำท่วมขัง 5 ลูกบาศก์เมตร และอยู่ได้นานกว่า 1 เดือน ทำให้เกิดแนวคิดนำไปฆ่าเชื้อโรคตามพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังที่อาจแพร่เชื้อโรคหรือโรคติดต่อต่างๆ
แม้แรกๆสิ่งนี้นำพามาซึ่งความตื่นเต้น ทว่าต่อมาเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขต่างรู้สึกเคลือบแคลงว่ามันอาจไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะในน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียปนอยู่อย่างเช่นน้ำที่กำลังท่วมไทยในเวลานี้
"ด้วยเหตุที่มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง การเพาะอีเอ็มจึงจะต้องใช้จำนวนมหาศาลถึงจะได้ผล" ดอกเตอร์ มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าว "นี่อาจเป็นการเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์หรือไม่จนกว่าจะผ่านการทดลองภายใต้การควบคุมเพื่อวัดถึงประโยชน์จริงๆของมัน" พร้อมบอกว่าขณะที่มีการกล่าวอ้างว่าเทคโนโลยีเอฟเฟคทีฟ ไมโครออร์แกนิซึม เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเฮอร์ริเคนแคทรินา แต่ก็มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนว่ามันจะได้ผลกับสถานการณ์ในไทย
มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ตามเว็บบล็อกต่างๆว่าความพยายามปั้นอีเอ็มบอลนี้เปล่าประโยชน์หรือไม่ โดยในบล็อกแห่งหนึ่ง มีคนเอารายงานผลศึกษาของภาควิชาหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่าอีเอ็มบอลยิ่งแต่ทำให้มลพิษทางน้ำเลวร้ายลงไปอีกเนื่องจากมันจะไปลดระดับออกซิเจนในน้ำ
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนลูกบอลนี้บอกว่าแม้มันจะช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่ก็อย่างน้อยมันก็เป็นหนึ่งในความพยายามคลี่คลายปัญหาความโสโครกที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้การปั้นลูกบอลก็เป็นการแสดงออกของชุมชนเพื่อแสดงความสนับสนุนผู้ประสบภัยคนอื่นๆ
"นี่ไม่ใช่แค่แนวทางบำบัดน้ำ แต่มันยังเป็นแนวทางที่คนเข้าถึงและมีส่วนร่วม" นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์กล่าว
เทคโนโลยีอีเอ็มบอล ถูกใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่น และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการทดสอบในปีนัง มาเลเซีย เพื่อใช้ทำความสะอาดน้ำครำและป้องกันการเติบโตแพร่ขยายของสาหร่าย ซึ่งแตกต่างจากไทยที่กำลังต่อสู้กับน้ำเน่าจากซากสัตว์และสิ่งปฏิกูล ขณะที่อาสามัครที่ร่วมมือกันปั้นอีเอ็มบอลที่อัมรินทร์ พลาซ่า ได้รับคำแนะนำว่าหากหย่อนลูกบอลในบริเวณน้ำไหลเชี่ยวมันก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ