xs
xsm
sm
md
lg

World Plus: “แบบเรียนดิจิทัล” ประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกาหลีใต้เตรียมเสริมสถานะผู้นำการศึกษาโลกโดยจะใช้สื่อดิจิทัลแทนตำราเรียนแบบดั้งเดิมทั้งหมด ภายในปี 2015 (ภาพ: www.singularityhub.com)
เอเจนซี - เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาก้าวหน้าที่สุดในโลก เตรียมรักษาตำแหน่งเมืองการศึกษาชั้นนำด้วยการนำสื่อดิจิทัลมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ

กรุงโซลตั้งเป้าหมายที่จะใช้สื่อการสอนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดภายในปี 2015 ซึ่งก็หมายความว่า ข้อมูลที่ควรจะถูกพิมพ์เป็นตำราเรียนจะถูกส่งผ่านไปถึงผู้เรียนผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์

จู โฮ-ลี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ระบุว่า ทางกระทรวงเตรียมออกแผนสนับสนุน “การศึกษาอย่างชาญฉลาด” (Smart Education) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดรูปแบบ

โครงการดังกล่าวซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมา ยังรวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายไปยังทุกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้ “ทุกที่ทุกเวลา” รวมถึงติดตั้งฐานข้อมูลที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, แล็ปท็อป, แท็ปเล็ต หรือแม้แต่โทรทัศน์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังสนับสนุนตลาดข้อมูลที่เปิดกว้างซึ่งมีสื่อการสอนหลากหลายประเภท ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบการศึกษามีมาตรฐานสูงสุด และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

“การศึกษาอย่างชาญฉลาดจะทำให้มุมมองที่เรามีต่อตำราเรียนเปลี่ยนไป” ลี กล่าว

“เมื่อตำราเรียนถูกเปลี่ยนจากหนังสือเป็นสื่อดิจิทัล ก็จะช่วยให้เด็กๆไม่ต้องแบกกระเป๋าที่หนักอึ้งไปโรงเรียน ทั้งยังสามารถเรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนได้ด้วย”

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้สื่อดิจิทัลแทนตำราแบบดั้งเดิมก็คือ นักเรียนในชนบทจะมีโอกาสเลือกเรียนในสาขาที่ตนต้องการโดยปราศจากอุปสรรค ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขามักขาดแคลนครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กๆสามารถเรียนจากที่บ้านได้อีกด้วย

นักเรียนเกาหลีใต้นับเป็นกลุ่มเยาวชนที่พร้อมรับเทคโนโลยีด้านการศึกษาสมัยใหม่มากที่สุด เพราะจากการประเมินโดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า เยาวชนอายุ 15 ปีของเกาหลีใต้มีความคล่องแคล่วในการใช้สื่อดิจิทัลมากที่สุด เมื่อเทียบกับเยาวชนจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด 16 ประเทศ

นอกจากนี้ เด็กเกาหลีใต้ยังรู้จักประเมินค่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต, วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ และใช้เว็บเพจต่างๆได้คล่องที่สุดด้วย

ความโดดเด่นด้านสื่อดิจิทัลของเกาหลีใต้ใช่ว่าได้มาโดยบังเอิญ

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้บันทึกแนวทางที่รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้ควบคุมข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร (ไอซีที) ในระบบการศึกษาอย่างรอบคอบ ทั้งยังพบว่า กรุงโซลเข้าใจความสำคัญของมาตรฐานการศึกษา ดังนั้นสื่อการสอนทุกแขนงจึงสามารถใช้งานควบคู่กันได้ ทั้งยังประกันคุณภาพได้อีกด้วย

ด้านสหรัฐฯซึ่งตระหนักถึงความตกต่ำของระบบการศึกษาในประเทศ ก็เริ่มหันมาลงทุนในทรัพยากรที่จะส่งเสริมการเรียนด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เสนอแผน “สัญญาดิจิทัล” (Digital Promise) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจะรวมถึงการตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนในสหรัฐฯ

สถาบันดังกล่าวจะมีหน้าที่ “พิจารณาอย่างเร่งด่วนว่าวิธีใดได้ผลหรือไม่ได้ผล และยกระดับตลาดเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ยังกระจัดกระจายในปัจจุบัน เพื่อปูทางให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างกว้างขวางในการศึกษา ซึ่งจะให้ประสิทธิผลที่ดีเยี่ยมต่อนักเรียน, ผู้ปกครอง และครูผู้สอน”
สื่อดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น (ภาพ: www.advancedtechnologykorea.com)
อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาในสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดคำถามว่า เทคโนโลยีใหม่ๆจะช่วยให้การศึกษามีประสิทธิภาพขึ้นจริงหรือไม่ และสื่อดิจิทัลจะช่วยให้การเรียนในห้องเรียนแตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด

ผลการศึกษาโดยภาควิชาการวิจัยด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแลงแคสเตอร์ พบว่า การใช้สื่อดิจิทัลในห้องเรียนจะช่วยดึงดูดให้ผู้เรียนอยากมีส่วนร่วม และทุ่นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนลงได้

แต่จุดอ่อนของเทคโนโลยีเหล่านี้ก็คือครูผู้สอน เพราะจำเป็นต้องใช้ครูที่รู้จักนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแผนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ แม้จะมีคอมพิวเตอร์, กระดานไวท์บอร์ดซึ่งสามารถตอบสนองผู้เรียน และเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆอยู่เต็มห้องเรียน แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงเรียนรู้ได้น้อย ไม่ต่างจากห้องเรียนที่ใช้โต๊ะไม้และกระดานดำ” เดวิด เวสตัน อาจารย์ด้านไอซีที ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา อินฟอร์มด เอ็ดยูเคชั่น เผย

เวสตัน บอกด้วยว่า แม้จะมีความเป็นไปได้สูงที่ซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะสามารถกระตุ้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ แต่หากไม่พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการสอนให้สอดรับกับเทคโนโลยีเหล่านี้ รัฐก็อาจเสียงบประมาณ เสียเวลา และเสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของแผนการสอนด้วยระบบดิจิทัลแบบรวมศูนย์ก็คือ สื่อเหล่านี้อาจตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทุจริต ที่จะพยายามควบคุมการเรียนรู้ของเยาวชนในประเทศ

ความกังวลที่ว่านี้ได้ถูกตีแผ่ผ่านนวนิยายเรื่อง “เดอะ บุ๊ก” ของ เอ็ม. คลิฟฟอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องราวของดินแดนแห่งหนึ่งที่การศึกษาสามารถเข้าถึงผ่าน อี-รีดเดอร์ เท่านั้น และต่อมาประชาชนก็พบว่า พวกเขากำลังถูกล้างสมองโดยรัฐบาลชั่วที่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาในบทเรียนของเยาวชนทีละน้อย

“สิ่งพิมพ์มีส่วนเชื่อมโยงกับความเชื่อถือของคน... และการอ่านก็ถือเป็นกิจกรรมส่วนตัวอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกขนลุกเมื่อเห็นการเผาทำลายหนังสือ เพราะนั่นหมายถึงการทำลายพันธะแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ” คลิฟฟอร์ด กล่าว

ในสังคมซึ่งสิ่งพิมพ์ลดน้อยลงเรื่อยๆ เราอาจไว้วางใจเทคโนโลยี แต่จะมีคำถามเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สิ่งที่ผมหวาดหวั่นคือการล้างสมองคนทีละน้อย อาจจะค่อยๆปรับข้อมูลไปทีละคำๆ เพื่อให้มุมมองของคนเกี่ยวกับความเป็นจริงเปลี่ยนไป” คลิฟฟอร์ด กล่าว

“ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนมุมมองที่คนๆหนึ่งมีต่อโลกนี้ เมื่อใดที่คุณเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งที่คุณอ่านคือของแท้ คุณก็จะใช้วิจารณญาณน้อยลง และยอมรับโดยง่ายว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือความจริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น