ซีเอ็นบีซี - สื่อนอกเผยนักลงทุนต่างชาติในไทยเริ่มอยู่ในอารมณ์ที่เดือดดาลมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อแนวทางจัดการปัญหาอุทกภัยของรัฐบาลไทย หลังน้ำไหลบ่าท่วมเขตอุตสาหกรรมไปแล้วหลายแห่งและก่อความเสียหายอย่างมหาศาล
“พวกเขาพร่ำบอกอยู่นั่นแหละว่าไม่เป็นไร” ฮิโรชิ มินามิ ประธานบริษัท โรห์ม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ไทยแลนด์) หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมนวนครกล่าว หลังจากต้องระงับการผลิตมาเกือบ 1 สัปดาห์และพื้นที่ชั้น 1 ของโรงงานเต็มไปด้วยน้ำ “เราได้นำอุปกรณ์สำคัญๆขึ้นไปไว้ชั้น 3 และคิดว่าปลอดภัยแล้ว แต่ตอนนี้พวกมันก็เสี่ยงที่จะถูกน้ำซัด เรากำลังดูว่าจะสามารถใช้เฮลิคอปเตอร์ยกมันออกมาได้หรือไม่ หากว่าบางส่วนยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่”
โคเฮอิ ทาคาฮาชิ นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีพีมอร์แกนมองว่าในกรณีที่ดีที่สุดของฮอนด้า คงต้องระงับการผลิตนานถึง 3 เดือน และส่งผลกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานถึง 1.5 หมื่นล้านเยน (ราว 6,000 ล้านบาท) และดูเหมือนว่าปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจะส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน และมิตซูบิชิ ก็ล้วนแต่เจอปัญหาไม่ต่างกัน
รัฐบาลซึ่งก้าวสู่อำนาจในเดือนสิงหาคม ล้มเหลวในความพยายามหยุดยั้งกระแสน้ำที่ถาโถมเข้าใส่กรุงเทพฯ และคลองระบายน้ำหลายแห่งเริ่มเอ่อล้น อาสาสมัครตั้งแนวกระสอบทรายไปตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ชาวบ้านทางเหนือของเมืองหลวงแห่งนี้เดินลุยน้ำขนข้าวของไปพื้นที่สูง ส่วนทางด่วนก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่จอดรถหนีน้ำ
เขตอุตสาหกรรม 7 แห่งต้องอพยพ ก่อความยุ่งเหยิงแก่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสากรรมต่างๆทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ หลายบริษัทบอกว่าแม้กระทั่งกลับเข้าไปยังโรงงานก็ยังทำไม่ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะประมาณการณ์ความเสียหายและค่าบริหารจัดการต่างๆ
นายเซยะ สุเกกาวะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) บอกว่า “ญี่ปุ่นคือนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทย พวกเขาคือกลุ่มนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ พวกเขามีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและจะมีผลกระทบใหญ่หลวงหากพวกเขารู้สึกว่าประเทศไทยไม่เหมาะทำธุรกิจอีกต่อไป หากรัฐบาลไม่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหล่าเอสเอ็มอีจำนวนมากอาจต้องพังทลาย”
“พวกเราใช้การอะไรไม่ได้มาสักพักหนึ่งแล้ว แค่จะเข้าไปตรวจโรงงาน เรายังทำไม่ได้เลย” ยาสุนาริ คูวาโน ผู้จัดการทั่วไทยของบริษัทมินีแบไทย ผู้ผลิตบอลแบร์ริงรายใหญ่ ป้อนบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้และโทรศัพท์มือถือหลายแห่งกล่าว ขณะที่เหล่าผู้บริหารบอกว่าในทุกวันที่ต้องระงับการผลิตนั่นหมายถึงโอกาสสูญเสียลูกค้าให้แก่คู่แข่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างเช่นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า