xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้ “รบ.ปู” จัดการอุทกภัยมั่ว สะท้อนวิกฤต “ภาวะผู้นำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอลล์สตรีทเจอนัลด์ - สื่อต่างประเทศชื่อดังร่ายยาวถึงเสียงก่นด่าต่อความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไทยในการรับมือกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งทศวรรษที่ก่อความเสื่อมถอยรอบใหม่แก่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่ามกลางมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอันมหาศาล



ในบทความเรื่อง “Floods Soak New Thai Government” ของวอลล์สตรีทเจอนัลด์ อ้างคำพูดของนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอุทกภัยแบบตามมีตามเกิด ผลจากการที่รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สั่งอพยพในพื้นที่บางส่วนของเมืองหลวงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ข้อมูลข่าวสารที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ ก่อความตื่นตระหนกแก่ชาวบ้านและบริษัทต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องปิดโรงงานไปแล้วหลายแห่งทั่วไทย ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการณ์ว่าอุทกภัย ซึ่งคราชีวิตผู้คนไปแล้ว 315 ศพและทำประชาชนตกงานราว 2.5 แสนคน จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศร้อยละ 1.7 ขณะที่ภัยธรรมชาติครั้งนี้ยังก่อความยุ่งเหยิงแก่ห่วงโซ่อุปทานทางอุตสาหกรรมไปทั่วเอเชียและอาจไกลกว่านั้นด้วย

รัฐบาลพยายามต่อสู้อุทกภัยด้วยการจัดตั้ง “วอร์รูม” ณ สนามบินดอนเมือง สถานที่ซึ่งความแตกแยกทางการเมืองระหว่างรัฐบาลประชานิยมกับข้าราชการหัวอนุรักษนิยม และผู้นำทหารถูกพับเอาไว้ แต่นักวิเคราะห์บอกว่าในความจริงก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับประสบปัญหาในการควบคุมสถานการณ์เพราะเป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลอายุ 2 เดือนของเธอถูกควบคุมโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พี่ชายซึ่งพำนักอยู่ในดูไบ หลังจากถูกรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน

วอลล์สตรีท เจอร์นัลด์ อ้างคำสัมภาษณ์ของนายภาวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักวิจัยแห่งสถาบันการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สิงคโปร์ ระบุว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยกเครดิตให้เธอ เธอทำหน้าที่ได้ดี เธอปรากฏตัวไปทุกๆที่ แต่รัฐบาลของเธอก็รู้ถึงภัยคุกคามของอุทกภัยนี้มาตั้งแต่ 2 เดือนก่อน แต่ก็ปกป้องได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นนี่จึงเป็นภาวะวิกฤตผู้นำอย่างแท้จริง”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รุดออกจากที่ประชุมระดับสูงและบอกให้ประชาชนทางเหนือของกรุงเทพฯ เก็บข้าวของอพยพหนีน้ำออกมาทันที แต่ในข้อเท็จจริงคือแนวป้องกันของเมืองหลวงยังเอาอยู่ ซึ่งต่อมานายปลอดประสพ ก็ออกมาขอโทษที่ก่อความสับสน ทว่านั่นก็ไม่ทันการณ์แล้วเมื่อประชาชนจำนวนมากต่างทิ้งที่อยู่อาศัยหนีเอาตัวรอดกันอลหม่านและจุดชนวนความตื่นตระหนกไปทั่วเมือง ไม่นานหลังจากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็ออกมาบอกกับชาวกทม.ให้ฟังเขาเพียงคนเดียว

นับตั้งแต่นั้น ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางการรับมือวิกฤตอุทกภัยของรัฐบาลก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศภาวะฉุกเฉินและเลื่อนนโยบายประชานิยมต่างๆที่เป็นกุญแจสำคัญช่วยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชนะการเลือกตั้งเมื่อกลางปีออกไปก่อน

ทั้งนี้ วอลล์สตรีท เจอร์นัลด์ ระบุว่าประกาศภาวะฉุกเฉินและมาตรการอื่นๆ จะช่วยเพิ่มอำนาจแก่กองทัพไทยสำหรับช่วยปลดเปลื้องอุทกภัยและสามารถเข้าแทรกแซงเหตุทะเลาวิวาทระหว่างชาวบ้านซึ่งขัดแย้งกันจากการปิดกั้นทางไหลของน้ำ อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธ โดยแย้งว่าประกาศดังกล่าวอาจก่อความตกใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงพีกสุดของฤดูกาลท่องเที่ยว

สื่อมวลชนแห่งนี้ยังรายงานว่า บรรดานักสังเกตการณ์ก็ต่างตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ชลประทานถึงไม่เริ่มปล่อยน้ำจำนวนที่เกินอยู่ตามแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ของประเทศไปก่อนหน้านี้ จนกระทั่งได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าฟ้าคะนองรุนแรงในปีนี้จึงเพิ่งปล่อยน้ำออกมา ทั้งที่ปีก่อนๆ ฝ่ายบริหารน้ำของประเทศจะเริ่มปล่อยน้ำออกจากเขื่อนและแหล่งกักเก็บต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังคงส่งสารมั่วๆ กลับไปกลับมาขณะที่กระแสน้ำซัดกระหน่ำเขตอุตสาหกรรมจนต้องปิดดำเนินการเป็นแห่งที่ 5 เมื่อวันจันทร์ (17) ก่อความฉงนแก่เหล่านักธุรกิจยิ่งขึ้นไปอีกว่าวิกฤตนี้จะลุกลามออกไปไกลแค่ไหน

โรงงานแห่งหนึ่งในไทยของฮอนด้าต้องจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนโตโยต้าบอกว่าจำเป็นต้องขยายเวลาระงับปฏิบัติการไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้เป็นอย่างน้อยเพราะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเช่นกัน

ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และฮาร์ดไดรฟ์ ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงด้วย ซึ่งเหล่านักธุรกิจหลายคนแสดงความข้องใจต่อรัฐบาลไทยที่ไม่บุกเบิกมาตรการระยะยาวเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆในประเทศแห่งนี้

ด้านกลุ่มการค้าญี่ปุ่นถึงกับบ่นว่าบริษัทต่างๆของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย รู้สึกผิดหวังต่อแผนรับมืออุทกภัยของรัฐบาล โดยระบุว่า “พวกเขาไม่รู้เลยว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น และอะไรคือข้อมูลที่ถูกต้อง”

“พวกเขาได้รับคำเตือน แต่ข้อมูลนั้นไม่เพียงพอและไม่ให้เวลามากพอสำหรับตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรดี” เซยะ สุเกกาวะ รองประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น