xs
xsm
sm
md
lg

‘ไต้หวัน’ร้อนใจมีคนจบปริญญาเอกมากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คาสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwanese too smart by half
By Jens Kastner
12/09/2011

กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันกำลังดำเนินการเพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษาปริญญาเอก หลังจากที่ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถใช้คำว่า ดร.นำหน้าชื่อได้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 เท่าตัว ทั้งนี้ด้วยความวิตกกังวลว่าการผลิตมากเกินไป อาจจะทำให้ผลผลิตสุดท้ายที่ออกมามีคุณค่าด้อยถอยลง ขณะเดียวกัน ถึงแม้การร่ำเรียนจนได้ดุษฎีบัณฑิต จะได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะเป็นใบผ่านทางเพื่อเขยิบฐานะทางสังคมและทางอาชีพ แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณภาพทางวิชาการของคนจบปริญญาเอกเหล่านี้ ก็มักจะไร้ประโยชน์ในตลาดแรงงานไต้หวันปัจจุบัน

ไทเป – พวกนักการเมืองของไต้หวันทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหนัก ในเรื่องวิธีแก้ไขปัญหาผลผลิตการเกษตร อย่างเช่น กล้วย และ มะละกอ ที่มีการผลิตออกมาจนล้นเกินขายไม่ออก ทว่าอันที่จริงแล้วยังมีภาวะเกินล้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสมควรที่จะได้รับความใส่ใจ

เวลานี้ ผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกของไต้หวันกำลังมีจำนวนพุ่งทะยานขึ้นอย่างพรวดพราด นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2005-2006 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้เข้าศึกษาในระดับนี้ ได้สูงขึ้นมาเป็นกว่าสามเท่าตัวแล้ว และก็เช่นเดียวกับผลผลิตล้นเกินในภาคการเกษตร ปริญญาเอก PhD ที่เกินล้น กำลังก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมาว่า ผลผลิตสุดท้ายทั้งหมดล้วนแต่จะพากันเสื่อมถอยด้อยค่าลง

ตามตัวเลขข้อมูลของสื่อมวลชนท้องถิ่น ในปีการศึกษา 2009-2010 นักศึกษาระดับปริญญาเอกของบัณฑิตวิทยาลัยต่างๆ ในไต้หวันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,705 คน เปรียบเทียบปีการศึกษา 2005-2006 ที่ยังมีเพียง 1,053 คน ขณะเดียวกันสถิติของทางการก็ช่วยยืนยันว่า ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปี 2009 จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพิ่มขึ้นมา 2.5 เท่าตัว นั้นคือจาก 13,000 คน เป็น 33,000 คน

พวกผู้สังเกตการณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนตำแหน่งงานตามมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลาย หรือกระทั่งในภาคเอกชนแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วตำแหน่งอาจารย์ประจำระดับอุดมศึกษาในไต้หวันเวลานี้ อยู่ในสภาพหายากหาเย็นจนแม้แต่พวกมีปริญญาด็อกเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของไต้หวัน ตลอดจนจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, หรือเยอรมนี ลงท้ายก็ได้แค่เป็นผู้ช่วยสอน หรือย่ำแย่กว่านั้น ก็คือต้องไปเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการหรือเจ้าหน้าที่เลขานุการ ตามสำนักงานกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งต่างๆ

ทำนองเดียวกัน เมื่อพยายามลองเสี่ยงโชคไปหางานทำในภาคเอกชนดูบ้าง ข้อเท็จจริงที่เห็นกันอย่างชัดเจนทั่วไปว่าผู้สำเร็จ PhD มีจำนวนมากมายเหลือกินเหลือใช้ ก็ดูจะทำให้พวกเขาได้รับเงินเดือนผลตอบแทนจากนายจ้างเพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิด จากการสู้อุตส่าห์ใช้ความเพียรพยายามและวันเวลาเพิ่มมากขึ้น ในการร่ำเรียนระดับปริญญาเอก

ผลการสำรวจที่จัดทำโดยสำนักงานด้านทรัพยากรมนุษย์ในไต้หวันแห่งหนึ่งระบุว่า ในภาคการเงิน, การลงทุน, หรือการประกันภัย ตลอดจนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศ ระดับเงินเดือนเริ่มต้นระหว่างผู้ที่จบปริญญาตรีกับพวกที่จบ ดร. มีความแตกต่างกันเพียงประมาณ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งสำหรับพวกสำนักงานกฎหมายและสำนักงานบัญชี, งานในภาคการวิจัยและพัฒนา, ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านการบริการ, ภาคการค้าปลีกและการค้าส่ง ส่วนต่างจะอยู่เพียงแค่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ขยับตัวแก้ไขปัญหาอะไรเลย เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงศึกษาธิการก็ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันไม่ให้ปริญญา PhD จากสถาบันอุดมศึกษาของไต้หวัน กลายเป็นของโหลที่ไร้คุณค่า ทั้งนี้กระทรวงตกลงจะจำกัดจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาในระดับนี้ นอกจากนั้น การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกใหม่ๆ ก็จะได้รับการพิจารณาด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับอันเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ตามตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการเอง ระยะหลายๆ ปีหลังมานี้ หลักสูตรปริญญาเอกใหม่ๆ ที่ผ่านการอนุมัติในแต่ละปี อยู่ในระดับประมาณ 20% ทีเดียว

แต่สิ่งที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าระเบียบกฎเกณฑ์ชุดใหม่ๆ ที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบนำเอาออกมาใช้เหล่านี้ ก็คือเรื่องของสาเหตุที่ทำให้ปริญญา PhD ของไต้หวันอยู่ในภาวะล้นเกิน มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ขึ้นมา จากการสัมภาษณ์สอบถามของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นหลายๆ รายได้ระบุสิ่งต่างๆ หลายๆ ประการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานี้

“การที่จำนวนนักศึกษาระดับ PhD ในไต้หวันเพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจัยที่มีความสำคัญมากทีเดียวคือเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โม เรดแดด (Mo Reddad) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยอี้-โซว (I-Shou University) แห่งเมืองเกาสง (Kaohsiung) และคอมเมนเตเตอร์ในเรื่องกิจการการศึกษาของไต้หวัน ให้ความเห็น “สืบเนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่สามารถส่งลูกหลานของพวกเขาไปศึกษาในต่างประเทศได้”

เขาชี้ต่อไปว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ยังเป็นตัวการทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นหันมาคร่ำเคร่งเรียนเอาปริญญาเอก เนื่องจากพวกเขาต้องการใช้ PhD มาเป็นเกราะป้องกันตำแหน่งงานในปัจจุบันของพวกเขา หรือเพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะหางานใหม่ๆ ได้ นอกจากนั้น เขาเน้นย้ำว่า การที่ไต้หวันเป็นสังคมที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องสถานภาพเป็นอย่างยิ่ง ก็มีบทบาทในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน “ในสังคมที่ถือว่าอัตลักษณ์โดยรวมของครอบครัวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเหลือเกิน ความสำเร็จของลูกหลานก็คือความสำเร็จของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย แม่ของลูกชายที่กลายเป็นด็อกเตอร์ขึ้นมา ย่อมได้อัตลักษณ์ใหม่ นั่นคือ เป็น แม่ด็อกเตอร์” เรดแดดบอก

ข้อสังเกตของเรดแดดในเรื่องการไปศึกษาในต่างประเทศ ดูจะมีตัวเลขสถิติของสหรัฐฯมารองรับให้น่าเชื่อถือ กล่าวคือ ในปีการศึกษา 2009-2010 ไต้หวันส่งนักศึกษาไปเรียนที่สหรัฐฯเป็นจำนวนเกือบๆ 27,000 คน ตัวเลขดังกล่าวนี้ต่ำลงมาจากปีก่อนหน้านั้น 4.9% นับตั้งแต่ช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ตอนที่นักศึกษาไต้หวัน 38,000 คนเดินทางไปศึกษาในสหรัฐฯ จากนั้นมาจำนวนก็ได้ลดน้อยถอยลงโดยตลอด ปัจจัยสำคัญที่สุดของแนวโน้มเช่นนี้ถูกระบุว่าคือเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนการประเมินของเรดแดดเช่นกัน

ชาร์ลีน จาง (Charlene Chang) โฆษกหญิงของบริษัทรับสมัครงานทางออนไลน์ชื่อ “1111 จ็อบ แบงก์” (1111 Job Bank) เมื่อถูกถามถึงเรื่องความนิยมเรื่องปริญญาเอกของคนไต้หวันเวลานี้ ก็ตอบว่า “เรื่องมันยาว” คล้ายๆ กับข้อสังเกตของเรดแดด จางก็บอกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองชาวไต้หวันมักมุ่งมั่นผลักดันให้ลูกหลานร่ำเรียนสูงขึ้น ๆ ทั้งนี้ไม่เพียงเพื่อให้ได้เงินเดือนดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้ได้รับความเคารพนับถือในสังคมอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม พอพวกเขาได้ปริญญามาแล้ว พวกเขาจึงเกิดความตระหนักรับรู้ว่ามีแต่เพียงวงการการศึกษา และไอที (เทคโนโลยีสารสนเทศ) เท่านั้น ที่จ่ายเงินตอบแทนแพงๆ ให้แก่ผู้ที่ได้ PhD สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างก็ให้เงินเดือนต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้” เธอกล่าวเตือน

“ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ พวกเรียนจบปริญญาตรีจะตรงเข้าเรียนต่อขั้นปริญญาโทปริญญาเอกกันเลย ไม่คิดหาประสบการณ์จากการทำงานกันก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากตกอยู่ในสภาพเป็นคนว่างงาน หรือได้เงินเดือนน้อย ผลก็คือชั้นเรียนระดับปริญญาเอกจึงกลายเป็นสถานที่พักพิงสำหรับพวกนักศึกษาที่ความสามารถอยู่ในระดับด้อยลงมา” จางอธิบายต่อ

อย่างไรก็ดี ตามความคิดเห็นของจางแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างทางประชากร “เนื่องจากไต้หวันมีอัตราการเกิดต่ำ พวกมหาวิทยาลัยจึงได้รายรับกันน้อยลง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเปิดประตูให้กว้างขึ้น” เธอบอก

ขณะที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดกันน้อยลง ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราการเกิดของไต้หวันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลกเมื่อปี 2010 มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงแทบไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้อนรับผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาอย่างไม่ค่อยมีการกลั่นกรองเท่าใดนัก ยิ่งจำนวนของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาซึ่งได้รับการรับรองวิทยาฐานะมีจำนวนมากถึง 171 แห่งด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สภาพเช่นนี้มีความสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก ในจำนวนสถาบันการศึกษาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการแบ่งประเภทออกเป็น สถาบันที่ “ทำการสอน” โดยพื้นฐาน และสถาบันที่มีความโดดเด่นในเรื่อง “ทำการวิจัย” ซึ่งประเภทหลังนี้ถือว่ามีเกียรติภูมิสูงส่งกว่า แล้วเมื่อหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งในการเปลี่ยนจากประเภทแรกมาอยู่ในประเภทหลังก็คือการเปิดสอนระดับปริญญาเอก จึงทำให้ปรากฏการณ์ PhD ล้นตลาดยิ่งกลาดเกลื่อนชัดเจน

จางทิ้งท้ายโดยกล่าวเตือนว่า ขณะการจัดวางหลักสูตรปริญญาเอกหรือปริญญาโท มีความมุ่งหมายให้นักศึกษาได้ค้นคว้าเรียนรู้ทางด้านวิชาการให้มากขึ้นนั้น แวดวงอุตสาหกรรมกลับประเมินว่าหลักสูตรเหล่านี้ยังไม่ทำให้ได้ดุษฎีบัณฑิตหรือมหาบัณฑิตที่มีความสามารถอย่างเพียงพอในการทำงานภาคปฏิบัติ “พวกนายจ้างต่างบ่นพึมว่า ผู้สมัครงานที่มีปริญญาสูงๆ เรียกร้องเงินเดือนแพงๆ ทว่าเมื่อมาทำงานจริงๆ กลับด้อยประสิทธิภาพกว่าพวกจบปริญญาตรีด้วยซ้ำไป”

ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิวัติในด้านความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในเอเชียตะวันออก ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงชั้นเรียนระดับปริญญาเอกในไต้หวันด้วยเช่นกัน การสำรวจหลายๆ ครั้งที่กระทำกันได้ผลออกมาว่า ในระยะหลายปีหลังๆ มานี้ แรงกดดันต่อสตรีชาวไต้หวัน จากความขัดแย้งระหว่างการแต่งงานกับอาชีพการงาน ได้ผ่อนคลายลงไปมาก จึงทำให้การก้าวข้ามกำแพงขวางกั้นการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายดายขึ้น

“ถึงแม้ในหลักสูตร PhD จำนวนผู้ที่เข้าเรียนยังเป็นนักศึกษาชายมากกว่านักศึกษาหญิง ทว่าสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยรวมแล้ว สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าเรียนได้แซงหน้าหน้าผู้ชายไปเรียบร้อยแล้ว” หยาง เหวินซาน (Yang Wen-shan) นักประชากรศาสตร์แห่งบัณฑิตสถานอาคาเดเมีย ซินิคา (Academia Sinica) ชี้ให้เห็นความสำคัญของปัจจัยเรื่องนี้

“เนื่องจากผู้หญิงที่จบปริญญาตรีจะให้ความสำคัญกับการงานและอาชีพของพวกเธอมากขึ้นกว่าในอดีต ต้องการที่จะแข่งขันกับผู้ร่วมงานที่เป็นเพศชายเพื่อให้ได้เงินเดือนและโอกาสด้านอาชีพในตลาดแรงงาน พวกเธอจึงตัดสินใจชะลอการแต่งงานเอาไว้ก่อน (และสมัครเข้าเรียนในหลักสูตร PhD)” หยางแจกแจง

สำหรับ ไฉ เจียฮุง (Tsai Chia-hung) แห่งศูนย์ศึกษาการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ของไต้หวัน เขามองประเด็นนี้จากแง่มุมทางด้านการเมือง “รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ ยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนาความรู้ด้านโนว-ฮาวให้มากขึ้นมาตั้งนานแล้ว ถ้าหากได้ทำเรื่องนี้กันแต่เนิ่นๆ แล้ว พวกจบ PhD ก็ย่อมจะหางานทำได้ง่ายกว่านี้มาก” ไฉบอก เขากล่าวด้วยว่าสำหรับในระยะสั้นนั้น รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้พวกจบปริญญาเอกหมาดๆ ทั้งหลาย ปรับปรุงความสามารถทางด้านภาษาให้ดีขึ้น จะได้มีโอกาสไปทำงานสอนในต่างประเทศ

ถึงแม้จะโจมตีว่าพวกสถาบันของภาครัฐขาดความริเริ่มจึงเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้มีผู้จบปริญญาเอกกันมากมายเกินไป แต่ไฉก็ยังมองว่าปัญหานี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนทางการเมืองมากมายอะไร “ผมไม่คิดว่าพวกนักศึกษามหาวิทยาลัยจะออกมาชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อประท้วงคัดค้านการไม่มีงานทำหรอกครับ แต่ความไม่พอใจของพวกเขาอาจจะแสดงออกในรูปของการไม่ออกมาใช้สิทะในการเลือกตั้ง (ประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2012) มากกว่า” ไฉพยากรณ์

ส่วน หวาง หลี่หยุน (Wang Li-yun) ศาสตราจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) มองประเด็นนี้อย่างเรียบๆ ง่ายๆ ว่า การที่มีนักศึกษาเรียนระดับปริญญาเอกกันมาก ก็เพราะทางเลือกเช่นนี้ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไร

“เนื่องจากการเข้าเรียนในหลักสูตรเช่นนี้กระทำได้ง่ายๆ คนจำนวนมากที่ยังคงมีงานทำแบบเต็มเวลา และอันที่จริงแล้วตำแหน่งการงานมีความมั่นคงด้วยซ้ำไป จึงยังอยากที่จะได้ปริญญาเอกกัน นี่เป็นเพราะปริญญา PhD มาพร้อมกับโอกาสที่ได้จะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างสำคัญหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลอะไร ดังนั้น พวกเขาก็ต้องพูดกับตัวเองว่า ทำไมไม่เรียนเอาปริญญาเอกล่ะ มันก็เหมือนกับเป็นการสะสมของรักของชอบส่วนตัวนั่นแหละ” เธอบอก

เยนส์ คาสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น