xs
xsm
sm
md
lg

“ซาร์โกซี-แมร์เคิล” ถกป้องกัน “วิกฤตกรีซ” ลามสู่ภาคธนาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี เตรียมการต้อนรับประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ช่วงค่ำวันอาทิตย์ (9) เพื่อหารือวิธีใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินรับมือวิกฤต
เอเจนซีส์ - ผู้นำฝรั่งเศส-เยอรมนี นัดหารือวิธีใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินรับมือวิกฤต จัดการและป้องกันไม่ให้โรคร้ายจากเอเธนส์ลุกลาม รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคธนาคาร ขณะที่ไอเอมเอ็ฟไม่มั่นใจ กรีซพร้อมปรับโครงสร้างเด็ดขาดจริงจัง ตอกย้ำแนวโน้มการปล่อยกู้งวด 2 ยังลางเลือน

ประธานาธิบดี นิโคลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส มีกำหนดเดินทางสู่เบอร์ลิน เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ค่ำวันอาทิตย์ (9) ขณะที่กรณีธนาคารเด็กเซีย อันเป็นแบงก์ฝรั่งเศส-เบลเยียม และมีฐานะเป็นเหยื่อรายแรกของวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน ก็กำลังเป็นแรงกดดันให้หลายฝ่ายเร่งเปิดเจรจาเพื่อหาทางออก โดยแหล่งข่าวในกระทรวงคลังแดนน้ำหอม เผยว่า เด็กเซียจะเป็นหัวข้อหนึ่งในการหารือระหว่างซาร์โกซี กับ แมร์เคิล แต่ประเด็นหลักคือเรื่องกรีซและยูโรโซน

ทางด้าน วูล์ฟกัง ชะออยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ก็กล่าวเตือนเมื่อวันอาทิตย์ ว่า มีความเสี่ยงใหญ่หลวงที่วิกฤตจะขยายวงกว้างออกไป

เวลานี้ยุโรปเห็นพ้องกันแล้ว่า ภาคธนาคารของยุโรปที่ถือครองพันธบัตรของกรีซ ตลอดจนชาติยูโรโซนที่มีฐานะอ่อนแออื่นๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก จำเป็นที่ต้องเพิ่มทุนให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ในสภาพที่ตลาดการเงินต่างหวาดผวาว่าบางชาติยูโรโซน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรีซ คงจะต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ในไม่ช้าไม่นานนี้

ทว่า เยอรมนี และฝรั่งเศส นั้น ยังมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับวิธีการเพิ่มทุนพวกแบงก์ในยุโรป ซึ่งทางไอร์แลนด์ประเมินว่า ต้องใช้เงินกว่า 100,000 ล้านยูโร (135,000 ล้านดอลลาร์) ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุตัวเลขไว้ถึง 200,000 ล้านยูโร

ปารีสนั้นต้องการใช้เงินในกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 440,000 ล้านยูโร มาเพิ่มทุนแบงก์ ขณะที่เบอร์ลินยืนยันว่ากองทุนนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยน่าจะให้ธนาคารแต่ละรายหาทางระดมทุนในตลาด ตลอดจนใช้วิธีอื่นๆ กันก่อน

อีกหนึ่งประเด็นที่ชาติผู้นำยุโรปทั้งสองเห็นต่าง ก็คือ วิธีใช้อีเอฟเอสเอฟเข้าซื้อพันธบัตรคลัง เพื่อป้องกันวิกฤตลุกลาม โดยเฉพาะถ้าหากกรีซไม่ได้รับเงินกู้งวดถัดไปจากอียู/ไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ เอเธนส์ยังมีเงินสดพอใช้ถึงกลางเดือนหน้าเท่านั้น

ฝรั่งเศสไม่ต้องการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินงานของอีเอฟเอสเอฟในเรื่องนี้ แต่เยอรมนีต้องการให้จำกัดจำนวนเงินที่จะใช้ซื้อพันธบัตรของสมาชิกแต่ละชาติ รวมทั้งจำกัดเวลาในการซื้อพันธบัตร และจำกัดการซื้อเฉพาะในตลาดรองของแต่ละประเทศเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กองทุนถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มหาอำนาจสองชาติในยูโรโซนกำลังถูกกดดันจากทั่วโลกให้เร่งแก้วิกฤตยุโรปที่กำลังเขย่าขวัญตลาดอย่างรุนแรง เป็นต้นว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องอีกครั้งเมื่อวันพฤหัสฯ (6) ให้ยุโรปลงมือโดยเร็ว รวมถึงระบุว่า วิกฤตเงินสกุลเดียวของยุโรปกำลังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการฟื้นตัวของสหรัฐฯ

**กดดันกรีซปฏิรูป**

ขณะเดียวกัน พอล ธอมเซน หัวหน้าคณะเจรจาของไอเอ็มเอฟ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเยอรมนีว่า กรีซอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เห็นได้ชัดว่าโครงการต่างๆ จะไม่เกิดผลหากเอเธนส์ไม่ได้ปรับโครงสร้างอย่างเคร่งครัดกว่าที่ผ่านมา

คำวิจารณ์นี้บ่งชี้ว่า ไอเอ็มเอฟ ยังไม่แน่ใจว่า การเจรจารอบปัจจุบันเพื่อตัดสินใจว่าควรอนุมัติเงินกู้งวดต่อไปให้แก่กรีซจะได้ข้อสรุปในทางบวกหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในความจริงจังในการปฏิรูปของกรีซ และผลต่อเนื่องจากการออกมาประท้วงอย่างรุนแรงของประชาชนชาวกรีก

นอกจากนั้น เมื่อวันศุกร์ (7) ไอเอ็มเอฟยังปฏิเสธคำแถลงของเอเธนส์ที่ระบุว่า บรรลุข้อตกลงกับคณะผู้ตรวจสอบของอียู/ไอเอ็มเอฟ เรื่องเงินกู้งวดต่อไปจำนวน 8,000 ล้านยูโรแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ตรวจสอบจากไอเอ็มเอฟ คณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือที่เรียกว่า ทรอยกา ได้เดินทางกลับมาเอเธนส์ เพื่อทบทวนความคืบหน้าของกรีซอีกครั้ง หลังกลับออกจากเอเธนส์เมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนเนื่องจากหาข้อสรุปไม่ได้เรื่องการแก้ปัญหาขาดดุลของกรีซ

เจ้าหน้าที่อาวุโสของทรอยกา เผยว่า อียูและไอเอ็มเอฟต้องการได้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการและผลจากแผนการที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วในการปลดข้าราชการและขึ้นภาษีเพื่ออุดช่องโหว่ทางการคลังที่กว้างขวางกว่าเป้าหมาย

ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของกรีซที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ระบุว่า เอเธนส์ และทรอยกากำหนดหารือกันต่อในวันอาทิตย์ โดยเน้นที่แผนการลดยอดขาดดุลสำหรับปี 2013-2014 หลังการเจรจานาน 4 ชั่วโมงระหว่างอิแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังกรีซ และคณะผู้ตรวจสอบอียู/ไอเอ็มเอฟ

สัปดาห์ที่แล้ว เอเธนส์ช็อกตลาดการเงิน ด้วยการประกาศว่าไม่สามารถลดยอดขาดดุลสำหรับปีนี้ได้ตามเงื่อนไขเพื่อขอรับเงินกู้ แม้ขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายหลายส่วนแล้วก็ตาม

ในขณะที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า อียู/ไอเอ็มเอฟ จะอนุมัติเงินกู้งวดต่อไป 8,000 ล้านยูโรแก่กรีซ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้ช่วยเหลือกรีซก้อนแรก พวกผู้นำอียูก็มีกำหนดการหารือกันที่บรัสเซลส์ในวันที่ 17-18 เดือนนี้ เกี่ยวกับข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมในการให้ความช่วยเหลือก้อนที่ 2 แก่กรีซ

เวลานี้เป็นที่เห็นพ้องกันว่า ความช่วยเหลือก้อนที่ 2 นี้ก็ยังอาจจะไม่เพียงพอ อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องว่าจะต้องทบทวนให้พวกนักลงทุนยอมรับการขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรกรีซมากกว่า 21% ตามที่ได้ตกลงไว้แล้ว

ไมเคิล ฟิวช์ส รองผู้นำเสียงข้างมากในรัฐสภาเยอรมนีจากพรรคคริสเตียน เดโมแครตส์ (ซีดียู) ของเมอร์เคล ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของกรีซเมื่อวันเสาร์ (8) ว่า กรีซใกล้ล้มละลายแล้ว และต้องยอมเสียพันธบัตรคลังบางส่วนเพื่อให้ได้รับการลดหนี้ตามจำนวนที่จำเป็นต่อการอยู่รอด และสำทับว่าทางที่ดีกรีซควรออกจากยูโรโซน

**หารือขั้นสุดท้าย ‘แตก’ เด็กเซีย**

สำหรับความคืบหน้ากรณีเด็กเซียนั้น ฝรั่งเศสและเบลเยียมคาดว่าจะบรรลุแผนการขั้นสุดท้ายในการแตกกิจการแบงก์ที่เป็นเหยื่อรายแรกของวิกฤตหนี้ยุโรปรายนี้ภายในวันนี้ (9)

ภายใต้แผนการนี้ กิจการส่วนที่ยังดีอยู่ หรือ “กู๊ดแบงก์” ของเด็กเซียนั้น จะแยกธุรกิจพันธบัตรภาครัฐออกและผนวกเข้ากับแคส เดส์ เดโปส์ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลฝรั่งเศส รวมทั้งบองเก โปสตาล บริการไปรษณีย์ของแบงก์แห่งนี้ ขณะที่รัฐบาลเบลเยียมต้องการเข้าบริหารธุรกิจการธนาคารรายย่อยส่วนใหญ่ของเด็กเซียที่อยู่ในประเทศ ส่วนธุรกิจที่มีกำไร เช่น เดนิซแบงก์ในตุรกี จะนำเอาออกมาขายทิ้ง

สำหรับกิจการส่วนที่เป็นหนี้เสีย หรือ “แบดแบงก์” ของเด็กเซีย ที่ฝรั่งเศสกับเบลเยียมจะเข้ามาค้ำประกันนั้น ประมาณกันว่าประกอบด้วยพันธบัตรมูลค่า 95,000 ล้านยูโร ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ของประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซนจำนวน 12,000 ล้านยูโร และเมื่อรวมกับหลักทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับสินเชื่อบ้านในสหรัฐฯ ด้วยแล้ว ก็อาจทำให้ฝรั่งเศสและเบลเยียม ต้องให้การรับประกันสินทรัพย์สูงถึง 200,000 ล้านยูโร หรือกว่า 55% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเบลเยียมทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น