เอเอฟพี - จีนพึ่งพาการนำเข้าอาวุธและพลังงานจากรัสเซียน้อยลง ทำให้สถานะของกรุงมอสโกในการเจรจาใดๆ กับปักกิ่งอ่อนแอลงตามไปด้วย สถาบันวิจัยในสวีเดน ระบุ
“การที่จีนนำเข้าอาวุธจากรัสเซียน้อยลงและมีตัวเลือกด้านพลังงานมากขึ้น หมายความว่า จากนี้ไปจีนจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ารัสเซีย” สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศ ณ กรุงสตอกโฮล์ม (SIPRI) กล่าวในรายงานซึ่งเผยแพร่ วันนี้ (3)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ วันนี้จีน “มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของตนเอง” และเมื่อเป็นเช่นนี้ ความต้องการอาวุธนำเข้าจากรัสเซียจึงลดน้อยลงไปโดยปริยาย
ที่ผ่านมา กรุงมอสโกแสดงท่าทีไม่เต็มใจจะขายเทคโนโลยีอันซับซ้อนที่สุดของตนให้แก่จีน เนื่องจากเกรงว่าปักกิ่งจะนำไปลอกเลียนแบบ และผลิตเพื่อการส่งออกแข่งกับตน
“นับจากนี้ความสัมพันธ์ด้านอาวุธระหว่างจีนกับรัสเซียจะเป็นไปในลักษณะของการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ” พอล ฮอลทอม หัวหน้าโครงการว่าด้วยการโยกย้ายอาวุธของ SIPRI ระบุ
นอกจากนี้ ความต้องการน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ลดลงเรื่อยๆ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถานะของจีนแข็งแกร่งขึ้น
“ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้แก่จีนคือซาอุดีอาระเบีย รองลงมาคือแองโกลา, อิหร่าน และโอมาน” SIPRI เผย
“ในส่วนของก๊าซธรรมชาติ อำนาจต่อรองของรัสเซียก็ลดลงไปมากเช่นกัน หลังจากที่จีนหันไปหาคู่ค้ารายใหม่ๆ โดยเฉพาะจากแถบเอเชียกลาง”
แม้อดีตสหายสงครามเย็นทั้ง 2 ชาติจะเป็นมิตรในเชิงการทูตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรวมพลังต่อต้านโลกตะวันตกที่พยายามคว่ำบาตรระบอบอัตตาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนและรัสเซียกลับให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันอย่างจำกัด และแม้จะมีจุดยืนทางการทูตที่คล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ผู้วางนโยบายทั้ง 2 ประเทศ “ก็ยังมองว่าอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว” SIPRI ระบุ
“ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียมีปัญหามากมาย เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ปักกิ่งกับมอสโกก็จะร่วมมือกันดี แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ขัดกัน ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ก็แทบหมดความหมาย ทั้งสองฝ่ายยังขาดความไว้วางใจกันอย่างแท้จริง” ลินดา เจค็อบสัน หนึ่งในผู้เขียนรายงาน เผย