เอเจนซี / เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เตรียมยื่นเสนอร่างแผนปรับขึ้นภาษีคนรวย ต่อสภาคองเกรสในวันจันทร์ (19) ทั้งนี้แผนดังกล่าวซึ่งถูกขนานนามว่า “ภาษีบัฟเฟตต์ (Buffett Tax)” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการลดการขาดดุลงบประมาณอันมหาศาล โดยจะกำหนดให้บรรดาผู้มีอันจะกินต้องจ่ายภาษีเงินได้ในสัดส่วนที่เท่ากับพวกชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม ร่างแผนฉบับนี้มีโอกาสสูงยิ่งที่จะไม่ผ่านสภาล่างซึ่งมีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่
แหล่งข่าวจากทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโอบามาเตรียมจะประกาศแผนปรับขึ้นอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบรรดาเศรษฐีที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ในการกล่าวปราศรัยที่ทำเนียบขาว ณ เวลา 10.30 น. ของวันจันทร์ (19) ตามเวลาโซนตะวันออกของสหรัฐฯ (21.30 น.เวลาเมืองไทย) จากนั้นก็จะยื่นเสนอร่างแผนฉบับนี้ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
แผนดังกล่าวถูกยื่นเข้าสภาในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามากำลังพยายามผลักดันร่างกฎหมายขยายการจ้างงานมูลค่า 447,000 ล้านดอลลาร์ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถลดอัตราการว่างงานของประเทศซึ่งปัจจุบันสูงลิ่วแตะ 9.1 เปอร์เซ็นต์ลงได้ ตลอดจนฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของโอบามา กลับคืนมา
แดน ไฟฟ์เฟอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำทำเนียบขาว อธิบายผ่านทวิตเตอร์ว่า มาตรการเพิ่มภาษีคนรวยนี้จะมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำแบบทางเลือก (Alternative Minimum Tax หรือ AMT) โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะการันตีว่าบรรดาเศรษฐีซึ่งมีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีนั้น จะต้องจ่ายภาษีในอัตราขั้นต่ำสุดอย่างน้อยเท่ากับเงินภาษีที่ครอบครัวระดับชนชั้นกลางจ่าย
ทั้งนี้ แผนขึ้นภาษีของโอบามาฉบับใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า “ภาษีบัฟเฟตต์” นี้ ถูกเรียกตามชื่อของวอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีพันล้านและพ่อมดการลงทุน ผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า บุคคลที่เป็นเศรษฐีแบบเดียวกับเขานี้ บ่อยครั้งมักจ่ายภาษีน้อยกว่าคนที่ทำงานให้พวกเขาเสียอีก สืบเนื่องจากยังมีช่องโหว่ในกฎหมายการเรียกเก็บภาษีอยู่
การที่เศรษฐีอเมริกันบางรายจ่ายภาษีน้อยกว่านั้น เป็นเพราะตามกฎหมายของสหรัฐฯ นั้นบัญญัติไว้ว่า รายได้จากการลงทุน เป็นต้นว่า กำไรส่วนเกินทุน (capital gains), เงินปันผล ตลอดจน กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (carried interest) ที่จ่ายให้กับผู้จัดการการลงทุนและหุ้นส่วนกองทุนป้องกันความเสี่ยงนั้น ไม่ถือเป็นเงินได้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงถูกหักภาษีน้อยกว่าเงินได้ทั่วไปที่เป็นค่าจ้างแรงงาน
นอกจากนี้ เศรษฐีอเมริกันยังจ่ายภาษีประเภทสวัสดิการสังคมโดยคิดคำนวณจากรายได้เพียง 106,800 ดอลลาร์แรกเท่านั้น
ทั้งนี้ แผนขึ้นภาษีคนรวยนี้จะกระทบต่อผู้เสียภาษีเพียงร้อยละ 0.3 หรือไม่ถึง 450,000 คน จากจำนวนผู้เสียภาษีในสหรัฐฯ ทั้งหมด 144 ล้านคนในปี 2010
กระนั้นก็ดี หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อเจ้าแรกที่รายงานข่าวเกี่ยวกับ “ภาษีบัฟเฟตต์” นั้น ระบุว่า โอบามายังไม่ได้กำหนดอัตราภาษีที่แน่นอนตายตัว และไม่ได้บอกไว้ด้วยว่า รัฐบาลจะมีรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดจากแผนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่า ข้อเสนอขึ้นภาษีคนรวยที่โอบามากำลังจะผลักดันฉบับนี้ จะไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอย่างแน่นอน เนื่องจากรีพับลิกันคัดค้านแนวคิดที่จะให้ขึ้นภาษี ตลอดจนจำกัดการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูงสุด นอกจากนี้หลายฝ่ายยังวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า ร่างแผนดังกล่าวเป็นเพียงกลเม็ดทางการเมืองของโอบามา เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมก่อนการเลือกทั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า