เอเอฟพี/เอเจนซี - ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกฯเยอรมนียังแสดงความมั่นใจศักยภาพของรัฐบาลกรีซในการจัดการแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณอันมหาศาล ตลอดจนเชื่อว่ายูโรโซนยังฝากอนาคตไว้กับเอเธนส์ได้ ทั้งนี้หลังจากได้ประชุมหารือทางไกลกับนายกฯกรีซ เมื่อวันพุธ (14) โดยที่ผู้นำกรีซให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่า จะงัดมาตรการรัดเข็มขัดชนิดเข้มงวดที่จำเป็นทุกอย่างมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเงื่อนไขของแพกเกจเงินกู้ช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกคำแถลง หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมหารือทางไกลระหว่างประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ โดยระบุว่า ทั้งผู้นำแดนน้ำหอมและเมืองเบียร์ ต่างได้รับการโน้มน้าวจนเชื่อมั่นว่า “อนาคตของกรีซยังคงอยู่ในยูโรโซน”
“นายกรัฐมนตรีกรีซได้ยืนยันความตั้งใจอันแน่วแน่ของเขาอย่างถึงที่สุดว่า เขาจะระดมมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นมาปฏิบัติเพื่อให้สามารถบรรลุตามเงื่อนไขคำมั่นสัญญาที่เขาเคยให้ไว้” คำแถลงระบุ
ก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสหวั่นวิตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า กรีซอาจต้องตกอยู่ในฐานะผิดนัดชำระหนี้ (default) หรืออาจเลวร้ายกระทั่งว่า กรีซอาจถูกถีบกระเด็นออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินตราสกุลยูโร สืบเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเงินกู้ของอียูและไอเอ็มเอฟ ความวิตกดังกล่าวส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
กรีซได้รับคำเตือนว่า หากประสบความล้มเหลวไม่อาจยกเครื่องปฏิรูปเศรษฐกิจของตนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจทำให้กรีซไม่ได้รับการอนุมัติเงินอัดฉีดประทังชีวิตงวดถัดๆ ไปจากแพกเกจเงินกู้รอบแรกที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 110,000 ล้านยูโร ที่สองเจ้าหนี้รายใหญ่ ทั้งอียูและไอเอ็มเอฟ ทยอยจ่ายให้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตลอดจนแพกเกจช่วยเหลือรอบที่สองมูลค่ารวม 159,000 ล้านยูโร ซึ่งมีแผนจะเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่สิ้นปีนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ อียูจะตัดสินใจว่าจะอนุมัติเงินกู้งวดถัดไปมูลค่า 8,000 ล้านยูโรแก่รัฐบาลกรีซหรือไม่ ภายหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีระหว่างประเทศเดินทางกลับจากกรีซแล้ว ซึ่งหากไม่อนุมัติ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กรีซอาจต้องหยุดพักชำระหนี้ในเดือนหน้า เนื่องจากเงินในคลังร่อยหรอ
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงระบุว่า ซาร์โกซีและแมร์เคิล ได้เรียกร้องด้วยว่า “ตอนนี้สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การนำนโยบายต่างๆ ซึ่งตกลงเห็นพ้องกันจากที่ประชุมซัมมิตกลุ่มชาติที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรกรุ๊ป) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไปปฏิบัติจริงเพื่อเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ยูโรโซน
โดยที่ในที่ประชุมครั้งนั้น บรรดาผู้นำยูโรโซนมีฉันทามติร่วมกันที่จะมอบเงินช่วยเหลือแพกเกจใหม่แก่รัฐบาลกรีซ ตลอดจนขยายเพิ่มจำนวนเม็ดเงินในกองทุนสนับสนุนเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility หรือ EFSF)
นอกเหนือจากประเด็นความช่วยเหลือกรีซซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกแล้ว แนวคิดที่กำลังมีการถกเถียงกันอยู่มากอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การออกพันธบัตรร่วมของยูโรโซน หรือ “ยูโรบอนด์” โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ นายกฯ แมร์เคิล ได้ออกมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าวว่า “เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์” เธอระบุด้วยว่า การฟื้นฟูเสถียรภาพของเงินยูโรจำเป็นต้องอาศัยแนวทางการแก้ปัญหาทีละขั้นตอน และต้องอาศัยเวลา
“นี่เป็นบทเรียน พวกเราต้องหลีกหนีให้ไกลจากการบูรณาการหนี้เข้าด้วยกัน แต่ควรมุ่งหน้าไปสู่การเป็นสหภาพที่มีเสถียรภาพยั่งยืน ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ทว่า นี่ต่างหากคือสิ่งที่ถูกต้อง” นายกฯ หญิง กล่าวปราศัยในงานแสดงรถยนต์ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต
“สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืนด้วยเครื่องมือแก้ปัญหาแบบโป้งเดียวจอด แต่มันจะเกิดขึ้นได้ภายใต้กระบวนการที่มีการควบคุม และเป็นไปตามขั้นตอนทีละก้าว” แมร์เคิล กล่าว “ยูโรบอนด์ เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ หากต้องการที่จะให้เกิดอัตราดอกเบี้ยกลางขึ้น พวกคุณจำเป็นจะต้องทำให้แต่ละประเทศมีความสามารถทางการแข่งขันในระดับที่เหมือนกัน ตลอดจนมีสถานภาพในการกำหนดงบประมาณที่คล้ายคลึงกันเสียก่อน คุณไม่อาจฉาบฉวยได้มันมาด้วยการรวมตราสารหนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้”