เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะสามารถจับกุม หรือสังหารกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุวางระเบิดไนต์คลับบนเกาะบาหลี เมื่อปี 2002 ได้เกือบทั้งหมดแล้ว ทว่าแดนอิเหนากลับต้องเผชิญภัยรูปแบบใหม่จากนักรบญิฮาดรุ่นที่สอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ
กลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐอิสลามทั่วภูมิภาค ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุวินาศกรรมนครนิวยอร์กและวอชิงตัน เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ด้วยซ้ำ
ญามาอะห์ อิสลามิยะห์ (เจไอ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990 โดยชาวอินโดนีเซียที่เข้าไปลี้ภัยในมาเลเซีย เคยก่อเหตุโจมตีมานับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงการวางระเบิดโบสถ์คริสต์และตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย เมื่อปี 2000 ด้วย
กระนั้นก็ตาม “ความสำเร็จสูงสุด” จากเหตุวินาศกรรม 9/11 และการที่สหรัฐฯบุกรุกอัฟกานิสถาน เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าที่กระตุ้นให้มุสลิมจำนวนมากหันมาทำสงครามต่อต้านชาวตะวันตก หรือที่ อุซามะห์ บิน ลาดิน เรียกขานว่า “ศัตรูที่อยู่ห่างไกล”
เหตุระเบิดบาร์และไนต์คลับเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี 2002 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียถึง 88 ราย และในขณะที่นักรบญิฮาดกำลังฉลองความสำเร็จกันอยู่นั้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้อินโดนีเซีย, สหรัฐฯ และออสเตรเลีย หันมาตระหนักถึงภัยก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียและภาคใต้ของฟิลิปปินส์
ที่ปรึกษาจากสหรัฐฯและออสเตรเลีย ทยอยเดินทางเข้าไปยังอินโดนีเซีย เพื่อช่วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังสิ้นสุดยุคเผด็จการซูฮาร์โต รับมือกลุ่มเจไอตลอดจนเครือข่ายของพวกเขา
แม้รัฐบาลอิเหนาจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการชักจูงให้นักรบญิฮาดระดับหัวหน้าหลายคนละทิ้งแนวคิดสุดโต่ง ทว่าภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายกลับมีมากขึ้น
“การก่อการร้ายเกิดจากค่านิยมสุดโต่ง ดังนั้น การจับกุมหรือสังหารผู้นำของพวกเขา จึงไม่สามารถทำลายขบวนการเหล่านั้นลงได้โดยอัตโนมัติ” อันซยาด เอ็มไบ หัวหน้าสำนักงานต่อต้านการก่อการร้าย ให้สัมภาษณ์
อันซยาด บอกด้วยว่า เจไอได้ “เปลี่ยนรูป” ไปเป็นกลุ่มติดอาวุธรายย่อยๆ ซึ่งไม่ขึ้นตรงต่อผู้นำคนหนึ่งคนใด
“กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ทำงานเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดคนใด พวกเขาเพียงมีค่านิยมร่วมกัน และจะทำงานเป็นกลุ่มย่อยหรือรายบุคคลก็ได้ พวกเขาสามารถตั้งกลุ่มเป้าหมายและวางแผนการได้เองทั้งหมด” เอ็มไบ เผย
หลังจากเหตุระเบิดบาหลี ทางการอินโดนีเซียจึงหันมากวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการจับกุม ฮัมบาลี หัวหน้ากลุ่มเจไอ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอัลกออิดะห์ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันการวางระเบิดสายการบิน แพน แอม ของสหรัฐฯ
ต่อมาได้เกิดการโจมตีชาวตะวันตกบนเกาะบาหลีอีกครั้งเมื่อปี 2005 และนำมาซึ่งการสังหาร อาซาฮารี ฮูซิน มือทำระเบิดชาวมาเลเซียของเจไอ ที่หลบซ่อนตัวอยู่บนเกาะชวา
ในปี 2009 นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ซึ่งถอนตัวออกจากกลุ่มเจไอ ได้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพที่โรงแรมหรูในกรุงจาการ์ตา จนมีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นการแก้แค้นให้มือระเบิดบาหลี 3 คนที่ถูกประหารไปเมื่อปี 2008 คือ อัมโรซี, มุคลาส และอิหม่าม ซามูดรา
นับจากนั้น หน่วยปราบปรามก่อการร้ายของอินโดนีเซียก็ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วค้นพบกลุ่มติดอาวุธซึ่งใช้ชื่อว่า “อัลกออิดะห์ในอาเจะห์” บนเกาะสุมาตรา และสามารถจับกุมหรือสังหารผู้นำกลุ่มดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว
ดุลมาติน ผู้นำกลุ่มเจไอซึ่งบงการเหตุระเบิดบาหลี ก็ถูกตำรวจวิสามัญไปเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วน อุมาร์ ปาเต๊ะ ก็ถูกจับได้ที่เมืองอับบอตตาบัดของปากีสถาน และถูกส่งตัวกลับมารับโทษทัณฑ์ที่อินโดนีเซียแล้ว
นูร์ ฮุดา อิสมาแอล นักวิเคราะห์จากสถาบันสร้างเสริมสันติภาพนานาชาติในกรุงจาการ์ตา ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธในอินโดนีเซียหันมาใช้วิธีก่อเหตุย่อยๆ โดยมีตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าหมายสำคัญ
“แต่นี่เป็นเพียงแผนชั่วคราวเท่านั้น พวกเขากำลังรอโอกาสที่จะทำร้ายนักท่องเที่ยวอีก” เขากล่าว พร้อมเตือนว่า รัฐบาลอิเหนายังมี “การบ้าน” ต้องทำอีกหลายข้อ รวมถึงจัดการปัญหานักโทษในเรือนจำที่ถูกอบรมแนวคิดหัวรุนแรงด้วย