xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: 10 ปีหลังวินาศกรรมนิวยอร์ก นักวิเคราะห์ชี้ “อัลกออิดะห์” แค่เจ็บหนักแต่ยัง “ไม่ตาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์ชี้ แม้จะผ่านเหตุวินาศกรรม 9/11 มาแล้วถึง 10 ปี แต่โลกยังไม่พ้นภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - แม้จะผ่านมาแล้ว 10 ปีกับเหตุวินาศกรรม 9/11 ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการติดตามไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ครั้งใหญ่ และนำไปสู่การเสียชีวิตของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ทว่าเครือข่ายก่อการร้ายที่หลบซ่อนในเยเมนและแอฟริกาเหนือ ก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลก

เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญบางคนรีบออกมาสดุดีการสังหาร บิน ลาดิน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะเป็นปฐมบทแห่งการล่มสลายของเครือข่ายอัลกออิดะห์ ทว่ายังมีอีกหลายเสียงที่เตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะ

“แกนหลักของอัลกออิดะห์ถูกรวบตัวได้แล้ว พวกเขาอยู่ในสภาพอ่อนแอที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ไมเคิล เลย์เทอร์ อดีตหัวหน้าศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นซีทีซี) กล่าว

“โอกาสที่เราจะมีชัยชนะในเชิงยุทธศาสตร์เหนืออัลกออิดะห์อยู่แค่เอื้อม” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลีออน เพเนตตา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างไปเยือนอัฟกานิสถานซึ่งเคยเป็นจุดกำเนิดของอัลกออิดะห์เมื่อปลายทศวรรษที่ 1980

การตายของ บิน ลาดิน นับเป็นจุดจบของปฏิบัติการไล่ล่าครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำอัลกออิดะห์คนต่อมาก็คือ อัยมาน อัล-ซาวาฮีรี ผู้ช่วยคนสำคัญซึ่งมีตำแหน่งเป็นเบอร์ 2 รองจาก บิน ลาดิน

อดีตศัลยแพทย์ชาวอียิปต์ผู้นี้โพสข้อความลงอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าอัลกออิดะห์ยังไม่สูญสลายไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกร่วมกันทำสงครามศักดิ์สิทธิ์(ญิฮาด) แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อัล-ซาวาฮีรี ยังไม่มีบารมีเทียบเท่า บิน ลาดิน

ฌอง-ปิแอร์ ฟิลยู นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งเชี่ยวชาญด้านอัลกออิดะห์ ระบุว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของ อัล-ซาวาฮีรี ไม่ได้ราบรื่นนัก

“เครือข่ายอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบียซึ่งอยู่ในเยเมน ประกาศยอมรับ อัล-ซาวาฮีรี อย่างเป็นทางการแล้ว แต่อัลกออิดะห์ในดินแดนอิสลามมัฆริบและพวกที่อยู่ในอิรัก เพียงแต่ส่งโฆษกออกมาแสดงความยินดีเท่านั้น” ฟิลยูเผย

“นี่แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยในขบวนการญิฮาด โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มชาวอียิปต์และเยเมน กับกลุ่มชาวอิรักและแอฟริกาเหนือ”

แม้ อัลกออิดะห์ จะมีอิทธิพลต่อเครือข่ายย่อยๆ ในภูมิภาคอื่นน้อยลง แต่สำหรับกลุ่มนักรบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งเคยจงรักภักดีต่อ บิน ลาดิน มาก่อน ยังคงปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่อง
อัยมาน อัล-ซาวาฮีรี ศัลยแพทย์ชาวอียิปต์ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์แทน อุซามะห์ บิน ลาดิน ทว่านักวิเคราะห์มองว่า ชายผู้นี้ยังไม่มีบารมีเทียบเท่าอดีตผู้นำ (แฟ้มภาพ)
ที่เยเมน อัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบียอาศัยช่วงเวลาที่ประเทศเกิดความสับสนอลหม่านเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ และสร้างสถานที่หลบซ่อนขึ้นหลายแห่ง

“เยเมนเป็นประเทศที่กว้างขวาง ซึ่งชนเผ่าต่างๆล้วนให้ความร่วมมือกับนักรบญิฮาดเหล่านี้” โดมินิก โทมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามจากโรงเรียนสังคมศาสตร์ศึกษาขั้นสูง (EHESS) ในกรุงปารีส อธิบาย

“ดินแดนนี้เป็นแหล่งพักพิงที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา เพราะสามารถฝึกซ้อมและเตรียมการโจมตีประเทศอื่นๆ ได้... พวกเขามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวหัวหน้าก็หลบอยู่ในสถานที่ปลอดภัย จะกลัวก็แต่เครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐฯ เท่านั้น” โทมัสเผย

ส่วนในเขตซาเฮล (Sahel) ของทวีปแอฟริกา อัลกออิดะห์ในดินแดนอิสลามมัฆริบยังปฏิบัติการโจมตีอย่างอุกอาจ โดยแทบไม่มีแรงต้านทานจากฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีอาวุธน้อยกว่าและการวางแผนยังไม่ดีเท่าที่ควร

นักรบกลุ่มนี้ใช้วิธีจับชาวต่างชาติเป็นตัวประกันเพื่อเรียกเงินค่าไถ่ก้อนโต และบางครั้งก็ปะทะกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบ้าง แต่ยังไม่มีศักยภาพพอจะก่อเหตุภายนอกดินแดนของตน

นอกจากกลุ่มติดอาวุธที่พยายามรณรงค์ให้ขบวนการญิฮาดแผ่ขยายไปทั่วโลกแล้ว ยังมีภัยคุกคามจากพวกหัวรุนแรงที่หันมาทำสงครามบนโลกออนไลน์ ซึ่งกว่าจะเผยโฉมให้เห็นก็มักสายไปเสียแล้ว

“มันเป็นภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ร้ายแรงเท่า 9/11 ก็จริง แต่การจะสร้างผลกระทบด้านภูมิศาสตร์การเมืองอย่างมหาศาลต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องก่อวินาศกรรมเสมอไป” เลย์เทอร์ ชี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างความบ้าคลั่งของ อันเดอร์ส เบห์ริง บรีวิก ซึ่งวางระเบิดสถานที่ราชการในกรุงออสโล และกราดยิงค่ายเยาวชนบนเกาะอูเทอยาเพียงลำพังคนเดียว แต่สร้างกระแสความหวาดกลัวลัทธิขวาจัดไปทั่วภูมิภาคได้

“ลองดูโศกนาฏกรรมที่นอร์เวย์เป็นตัวอย่างว่ามันส่งผลกระทบต่อประเทศในยุโรปอย่างไรบ้าง บางทีเหตุการณ์เล็กๆ ก็มีผลทางยุทธศาสตร์ได้เหมือนกัน” เขากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น