เอเจนซีส์ - การจ้างงานในสหรัฐฯประจำเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอยู่ในภาวะแน่นิ่งไม่มีการขยายตัวเลย ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขที่นำออกเผยแพร่ในวันศุกร์(2) ทำให้เกิดความหวาดผวามากขึ้นมาอีกว่าอเมริกากำลังย่างเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ต้องหาทางเพิ่มมาตรการกระตุ้นช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ตามตัวเลขข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตกรรมในสหรัฐฯประจำเดือนที่แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า โดยที่นักวิเคราะห์มองว่าธุรกิจต่างๆ ที่ลังเลไม่แน่ใจอยู่แล้วในการที่จะขยายกิจการจ้างงานเพิ่มเติม เวลานี้กำลังยิ่งมีความมั่นใจลดต่ำลงไปอีก
ตัวเลขของเดือนสิงหาคมนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาเกือบ 1 ปีทีเดียว ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่สามารถเพิ่มการจ้างงานให้มากขึ้นได้ กระนั้นบรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็เตือนว่า ไม่ควรมองแง่ร้ายถึงขึ้นถือข้อมูลนี้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในเดือนที่แล้วพนักงานของบริษัทเวอริซอน คอมมิวนิเคชั่นส์ สไตรก์นัดหยุดงานถึง 45,000 คน
พนักงานเหล่านี้ได้กลับเข้าทำงานแล้ว และจะถูกนำมานับเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีการจ้างงานกันใหม่ในเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังคงถูกมองว่าย่ำแย่กว่าที่ทำนายกันอยู่นั่นเอง โดยที่พวกนักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์กันไว้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในเดือนที่แล้วน่าจะเพิ่มสูงขึ้น 75,000 ตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้เองตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทจึงร่วงกันระนาว เมื่อนักลงทุนพากันทิ้งหุ้นและหันไปหาที่หลบภัยในพันธบัตรคลังสหรัฐฯและทองคำ
ในอีกด้านหนึ่ง ตัวเลขการว่างงานที่มีการแถลงในวันเดียวกันระบุว่า ยังคงอยู่ในอัตรา 9.1% โดยที่การสำรวจภาคครัวเรือนพบด้วยว่า อัตราการจ้างงานมีการขยายตัว และกำลังแรงงานก็มีการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี
แต่การที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่เหนือระดับจิตวิทยาที่ 9.0% อีกทั้งความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังสั่นคลอนหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่ทำเนียบขาวที่เป็นฝ่ายเดโมแครต และพรรครีพับลิกันที่กุมเสียงข้างในสภาล่าง เกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องการลดการขาดดุลงบประมาณ จนสร้างความกังวลถึงขั้นว่าสหรัฐฯอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้ และบริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์รายหนึ่ง (เอสแอนด์พี) ก็ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯลงมา เหล่านี้ล้วนทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และตลาดรู้สึกวิตก
“เศรษฐกิจ(สหรัฐฯ)กำลังต่อสู้กับพวกลมปะทะที่รุนแรงมาก และดูเหมือนจะยิ่งดุเดือดเข้มข้นขึ้นด้วยในระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้” มิลแลน มูลเรน นักยุทธศาสตร์มหภาคอาวุโส แห่ง ทีดี ซีเคียวริตีส์ ในนิวยอร์ก กล่าวให้ความเห็น “ถึงแม้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้กำลังตกลงจากยอดเขาหรอก แต่ก็แทบไม่มีอะไรที่บ่งชี้ให้เห็นว่ามันกำลังใกล้ที่จะได้แรงโมเมนตัมของตนเองกลับคืนมาแล้ว”
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโอบามาก็เผชิญแรงกดดันให้จัดทำมาตรการในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน ทั้งนี้เห็นกันอย่างกว้างขวางว่าสุขภาพของตลาดแรงงานอาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดว่า เขาจะชนะการเลือกตั้งปีหน้าเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองหรือไม่
ทั้งนี้โอบามามีกำหนดการที่จะแจกแจงแผนการสร้างงานฉบับใหม่ของเขาในการกล่าวปราศรัยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศวันพฤหัสบดี(8)นี้ โดยที่พวกที่ปรึกษาในทำเนียบขาวบอกว่า ตัวเลขข้อมูลการจ้างงานล่าสุดนี้ยิ่งย้ำเน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องลงมือปฏิบัติการ
นอกจากนั้น ตัวเลขข้อมูลการจ้างงานดังกล่าว ยังอาจจะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ฝ่ายที่ต้องการให้ดำเนินมาตรการเข้าช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประมาณการกันว่าเศรษฐกิจอเมริกันจำเป็นที่จะต้องสร้างงานให้ได้ราว 150,000 ตำแหน่งในแต่ละเดือน จึงจะคุมอัตราการว่างงานให้อยู่กับที่ได้
เฟดนั้นได้หั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟดฟันด์เรต) ของตนลงมาจนอยู่ในระดับใกล้ๆ 0% ตุ้งแต่เดือนธันวาคม 2008 รวมทั้งยังได้ใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการรับซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) มาแล้ว 2 รอบ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านดอลลาร์
แต่ในรายงานการประชุมเมื่อเดือนสิงหาคมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ที่เพิ่งมีการนำออกมาเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันก่อน ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดบางคนต้องการให้ดำเนินมาตรการอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้นในการช่วยเศรษฐกิจ
ถึงแม้เรื่องภาวะเงินเฟ้ออาจจะยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ทว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างคาดหมายว่า อีกไม่นาน ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งต่อไปในวันที่ 20-21 กันยายนนี้ เฟดจะประกาศมาตรการ QE รอบ 3 เพื่อรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอีก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากมองเห็นกันอยู่แล้วว่า ด้วยบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯน่าจะเน้นเรื่องการตัดลดงบประมาณรายจ่าย เพื่อมุ่งลดการขาดดุลงบประมาณ และยากนักหนาที่จะใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ
“แม้กระทั่งพวกเหยี่ยวที่มุ่งพะวงเรื่องเงินเฟ้อ (ในเอฟโอเอ็มซี) ก็ยังต้องรู้สึกกังวลกับรายงานตัวเลขนี้” โจเอล นารอฟฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง นารอฟฟ์ อีโคโนมิก แอดไวเซอร์ส ในเมืองฮอลแลนด์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย ให้ความเห็น “ในเมื่อนโยบายด้านการคลังของรัฐบาลในทุกๆ ระดับเวลานี้ล้วนอยู่ในสภาพที่กลายเป็นการจำกัดการเติบโตขยายตัว เฟดจึงกลายเป็นรายเดียวที่เหลืออยู่ซึ่งสามารถทำอะไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้”