เอเอฟพี - ผลการศึกษาของสถาบันประชากรศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสเผย จำนวนประชากรโลกจะแตะหลัก 7,000 ล้านคนภายในปีนี้ จากตัวเลขประชาชนในแอฟริกาที่เพิ่มขึ้น ชดเชยอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศอื่นๆ และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสถียร ที่ระหว่าง 9,000-10,000 ล้านคนทั่วโลก ภายในสิ้นศตวรรษนี้
ความแตกต่างระหว่างอัตราการเกิด และการตายทั่วโลก ดึงตัวเลขประชากรให้เพิ่มขึ้นร่วม 1,000 ล้านคนอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 12 ปี จากจำนวนประชากรที่มีการประเมินไว้ในปี 1999 ประมาณ 6,000 ล้านคน
สถาบันไอเอ็นอีดีคาดว่า จำนวนประชากรโลกจะมีตัวเลขถึง 8 พันล้านคนในอีก 14 ปีข้างหน้า ก่อนที่ตัวเลขจะเริ่มรักษาระดับคงที่ ตามผลการศึกษา ซึ่งรวบรวมจากงานวิจัย ที่ทำขึ้นโดยสหประชาชาติ เวิลด์แบงก์ และสถาบันระดับชาติใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง
รายงานฉบับนี้ระบุว่า การเติบโตของจำนวนประชากรโลกพุ่งสูงขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าของเมื่อ 200 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งจะขึ้นไปถึง 7,000 ล้านคนในปี 2011 และคาดว่าจะทะลุ 9,000-10,000 ล้านภายในสิ้นศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ จำนวนประชากรครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ใน 7 ประเทศเท่านั้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงในประเทศเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวเลขประชากรโลก โดยจีนอยู่ในอันดับสูงสุด กว่า 1.33 พันล้านคน อินเดียอีก 1.17 พันล้านคน ส่วนอีก 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย บราซิล ปากีสถาน และไนจีเรีย
ไอเอ็นอีดียังประเมินว่า นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้ 1 คน เพื่อลดจำนวนประชากรชาวจีน
ขณะที่ตัวเลขโดยรวมยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นนั้นลดลงแล้ว ตามรายงานของสถาบันประชากรศาสตร์แห่งนี้ โดยในปี 2011 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 1.1% ซึ่งตกลงจาก 2% เมื่อ 50 ปีก่อน
ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอัตราการเกิดชะลอตัว โดยในผู้หญิง 1 คนมีลูก 2.5 คน ลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขที่มีการบันทึกไว้ในปี 1950 ทว่า ในแต่ละพื้นที่ก็มีตัวเลขแตกต่างกันมาก โดยในแอฟริกา เฉลี่ยหญิง 1 คนมีลูก 4.7 คน แต่ในยุโรปอยู่ที่ 1.6 คนเท่านั้น