xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: สหรัฐฯซ่อน “ปัญหาเรื้อรัง” ในระบบเศรษฐกิจด้วยอิทธิพลทางการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาสำคัญในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯถูกซ่อนไว้ภายใต้อิทธิพลทางการเงิน
เอเอฟพี - อิทธิพลทางการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์อยู่ในสถานะที่เกือบจะแตะต้องไม่ได้มาโดยตลอด แท้จริงกลับซุกซ่อนปัญหาในระดับโครงสร้างของประเทศ ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินรุงรัง, การสลายตัวทางอุตสาหกรรม (de-industrialization) และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเรื่อยๆ

สัญญาณเตือนขั้นรุนแรงเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ประกาศลดเรตติ้งสหรัฐฯจาก AAA เหลือ AA+ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงเหวเมื่อวานนี้ (8)

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยอมรับว่า ได้ยินเสียงเตือน และกล่าววานนี้ (8) ว่า “ปัญหาที่เราประสบอยู่ยังแก้ไขได้ และเราก็ทราบด้วยว่าจะแก้อย่างไร” ซึ่งหมายถึงการควบคุมภาวะขาดดุลงบประมาณมหาศาลของสหรัฐฯ

โอบามา ย้ำถึงความมั่นใจในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่า “เรายังมีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด, มีแรงงานที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด, มีบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มากที่สุด และมีผู้ประกอบการที่ไม่กลัวความเสี่ยงมากที่สุดในโลก”

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงที่ฟังดูชาตินิยมเช่นนี้ เป็นเพียงความพยายามซุกซ่อนรายละเอียดที่ไม่พึงประสงค์ไว้

หากนักลงทุนทั่วโลกยังเชื่อถือในเครดิต AAA ของสหรัฐฯ ตามที่ โอบามา กล่าวไว้ สหรัฐฯจะต้องรักษาระดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของเงินดอลลาร์ไว้ให้ได้เสียก่อน ซึ่งด้วยแรงสนับสนุนจากภาคการเงินในประเทศ และความเชื่อมั่นของธนาคารกลางต่างประเทศ สถานะของเงินดอลลาร์ขณะนี้ยังถือว่าปลอดภัยไร้กังวล

จอห์น เชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ และประธานคณะกรรมการจัดเรตติ้งของ เอสแอนด์พี ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็มีปัญหา ซึ่ง เอสแอนด์พี พยายามชี้ให้เห็นด้วยการลดเรตติ้ง ทว่า “ดอลลาร์สหรัฐฯจะยังคงมีสถานะเป็นเงินทุนสำรองหลักระหว่างประเทศ ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเชื่อถือ”

แต่หากมองจากค่าเงินแล้วก็จะพบว่า ดอลลาร์เสื่อมมนต์ขลังลงไปไม่น้อย โดยรายงานประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือนกรกฎาคม ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ

หนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับสหรัฐฯ คือ ความสามารถด้านการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันสัมผัสได้อยู่ทุกวัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้อุปโภคบริโภคล้วนติดตรา “เมด อิน ไชน่า” แทบทั้งสิ้น

ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า สัดส่วนสินค้าส่งออกของสหรัฐฯในตลาดโลกลดลง 12.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2000 และ 8.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010 ขณะที่จดหมายข่าว “แพลนท์ โคลสซิง นิวส์” (Plant Closing News) ของ WTO รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมาโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐฯปิดตัวลงไม่น้อยกว่า 10,000 แห่ง

ตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมที่สูญเสียไปก่อให้เกิดช่องว่างรายได้ระหว่างคนจบมหาวิทยาลัยกับแรงงานไร้ฝีมือ, ระหว่างภูมิภาค และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงให้ความสำคัญต่อธุรกิจบริการและภาคการเงินอย่างไม่มีข้อกังขา

ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารการเมือง เดอะ นิว รีพับลิก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่า ยังไม่มีแผนทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจโดยลดความสำคัญของระบบการเงิน เพราะต้องคำนึงถึงบทบาทของสหรัฐฯบนเวทีโลกด้วย ซึ่ง ไซมอน จอห์นสัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ความคิดเห็นเช่นนี้นับเป็นข้อผิดพลาดระดับพื้นฐานทีเดียว

“มุมมองเช่นนี้ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ไม่ต่างจากการนำอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าไปเดิมพันครั้งใหญ่โดยไร้ข้อมูล” จอห์นสัน กล่าว พร้อมอ้างอิงถึงความสูญเสียที่ไอซ์แลนด์และไอร์แลนด์ได้รับจากการสร้างโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน (financial globalization)

นักเศรษฐศาสตร์บางคน มองว่า การขยายอิทธิพลของภาคการเงินเป็นวิธีที่จะอำพรางภาวะหนี้สินไว้ได้ ขณะที่วิกฤตการเงินของสหรัฐฯคราวนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ระดับความน่าเชื่อถืออาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น