เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ (3) นี้ถือเป็นบททดสอบสำคัญของสังคมไทย ว่า จะสามารถก้าวผ่านวิกฤตการเมืองที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรงได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพี มองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การเลือกตั้งที่ชนชั้นปกครองยืนอยู่ตรงข้ามกับคนรากหญ้า
การเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกิดชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว อันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ราย ที่สำคัญ การลงคะแนนครั้งนี้ถูกสื่อต่างประเทศ มองว่า เป็นการกลับสู่เวทีการเมืองอีกครั้งของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนีโทษทัณฑ์ และอาศัยอยู่ในต่างแดน แต่ยังส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนตน
“คุณทักษิณเป็นแชมเปี้ยนแห่งการเลือกตั้งไทยในศตวรรษที่ 21 เขาไม่เคยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง” รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
นอกจากนี้ เอเอฟพี มองว่า ทักษิณเป็นผู้นำตัวจริงของพรรคเพื่อไทย แม้ตัวจะอยู่ในนครดูไบ ตั้งแต่ระเห็จหนีคุกไทยไปตั้งแต่ปี 2008 ก่อนที่ศาลพิพากษาลับหลัง ลงโทษจำคุก 2 ปี ตามความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน
ในมุมมองของเอเอฟพี นักโทษชายทักษิณในวัย 61 ปี ยังเป็น “ไอดอล” ของชนชั้นแรงงานและคนรากหญ้าจำนวนมากจากนโยบายประชานิยม สมัยที่เขากุมบังเหียนรัฐบาล แต่ทักษิณเป็นที่เกลียดชังของบรรดาชนชั้นปกครอง ผู้มองเห็นธาตุแท้ของเขาว่าเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน และเป็นภัยต่อสถาบันที่ปวงชนชาวไทยเคารพยิ่ง
“ความจริงที่ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูง สะท้อนความจริงว่า คุณทักษิณยังมีอำนาจทางการเมืองอันชอบธรรมในสังคมไทย” พอล แชมเบอร์ส นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยพายัพ แสดงความเห็นไว้
สำนักข่าวแห่งนี้รายงานว่า ผลงานในสนามเลือกตั้งของพรรคทักษิณที่แล้วมาตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ของ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยสิ้นเชิง เนื่องจากประชาธิปัตย์ไม่ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วเกือบ 20 ปี แม้เคยจัดตั้งรัฐบาลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 แต่เป็นผลมาจากลาออกของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แกนนำรัฐบาลในขณะนั้น จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์มองว่า มีสัญญาณบอกเหตุปรากฏขึ้นมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเลือก “คนดี” เข้าสภา ซึ่งเป็นการกระทำที่เอเอฟพี ชี้ว่า สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างออกนอกหน้า
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธเสียงครหาเรื่องการเข้าแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง แต่นักสังเกตการณ์ยังคงระแวงว่ากำลังทหารทรงแสนยานุภาพพร้อมจะนิ่งเฉยอยู่ในกรมกองหรือไม่
“เราได้เห็นทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น” พอล แชมเบอร์ส กล่าว “หากพฤติกรรมเช่นนี้ยังดำเนินต่อไป เราอาจได้เห็นบทบาทถาวรบนเวทีการเมืองของทหาร เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับพม่าในทศวรรษ 1960”