xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์มอง “ไทย” ไม่พ้นเผชิญเหตุรุนแรงแม้หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายหาเสียงบนท้องถนนในกรุงเทพฯ
เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ ชี้ ความแตกแยก ซึ่งทำให้สังคมไทยวุ่นวายจะยิ่งซึมลึกยิ่งขึ้น หลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันอาทิตย์ (3 ก.ค.) นี้ เว้นเสียแต่ว่าคู่อริทางการเมืองยินยอมที่จะเคารพผลการเลือกตั้ง อันเป็นตัวตัดสิน

ก่อนหน้าจะถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งที่มีความสำคัญต่ออนาคตของไทย มีผู้สังเกตการณ์เพียงไม่กี่คนที่คาดว่า ผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ขึ้นเป็นรัฐบาลอย่างสงบ โดยต้องสู้กับฝ่ายค้านในรัฐสภาเท่านั้น ขณะที่อีกหลายคน เกรงว่า การชุมนมประท้วงจะฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง และเหตุจลาจลมากขึ้น เนื่องจากไม่ว่าใครได้จัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป จะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์ ก็จะต้องมีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนคัดค้านพรรคเหล่านั้นอยู่ดี”

“นั่นหมายถึงว่า ไม่มีพรรคใดที่จะสามารถอ้างความชอบธรรม หรืออำนาจจากประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้จริง” เขาเสริม

ขณะที่ อัศวิน คงสิริ นักธุรกิจซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารในหลายๆ บริษัท รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“หากฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าไม่ยุติธรรม เนื่องจากการแทรกแซงของกองทัพ เนื่องจากการซื้อเสียง เนื่องจากการโกงบัตรเลือกตั้ง ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ออกมาประท้วง” นายอัศวิน กล่าว
ประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ (26) ที่ผ่านมา
การก่อรัฐประหารโดยกองทัพมักถูกนักวิเคราะห์ยกขึ้นมาพูดถึงในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งการแทรกแซงของทหารดังกล่าวในการโค่นอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2006 นั้นเป็นเพียง 1 ในความพยายามก่อรัฐประหารทั้งหมด 18 ครั้ง นับตั้งแต่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สามารถรวบรวมกระแสโมเมนตัมได้อย่างรวดเร็ว และกำลังมีคะแนนนำนายกฯ อภิสิทธิ์ในโพลหลายสำนัก และคาดกันว่า เธอจะครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เธอจัดตั้งรัฐบาลผสมได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามอยู่ว่า ชนชั้นนำของไทยจะยอมรับการกลับขึ้นสู่อำนาจของพวกพ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หรือไม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยกความเป็นไปได้ที่จะขอนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมือง ซึ่งเป็นการปูทางให้เขาเดินทางกลับประเทศ

ด้าน พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงทางการเมือง ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กองทัพมีบทบาททางการเมืองในหลากหลายระดับ แม้จะไม่ได้ป่าวประกาศให้ทราบโดยทั่วไป

เขายังสำทับว่า หากต้องการให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้ กองทัพก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น