สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างนักวิเคราะห์มองกองทัพไทยไม่เป็นกลาง และมีเจตนาที่จะขัดขวางการขึ้นสู่อำนาจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ นช.ทักษิณ ซึ่งลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนหน้านี้
รอยเตอร์ ระบุว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เอาชนะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จได้ การก่อรัฐประหารก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่กองทัพจะลงมือทำ แม้ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องด้วยเสี่ยงต่อการลุกฮือต่อต้านของกลุ่มเสื้อแดง ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ
นักวิเคราะห์ และนักการทูตส่วนใหญ่ ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจทำข้อตกลงกับกองทัพ เพื่อรักษารัฐบาลของตัวเองไว้ รวมถึงป้องกันการก่อจลาจลบนท้องถนนครั้งใหม่
ในช่วงก่อนถึงการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ กองทัพกำลังพยายามขัดขวางความเคลื่อนไหว และแผนการขอนิรโทษกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะปูทางให้พี่ชายของเธอสามารถกลับประเทศ หลังต้องลี้ภัยอยู่ในดูไบเพื่อหลบหนีโทษจำคุกข้อหาคอร์รัปชัน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวย้ำผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งกองทัพเป็นเจ้าของ 2 ช่อง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กองทัพจะไม่เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้ ทว่า ข้อความของเขากลับส่งผลในทางตรงกันข้าม
พล.อ.ประยุทธ์ เตือนถึงภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตรย์ และเร่งเร้าให้ประชาชนเลือกคนดี อย่าให้ซ้ำรอยการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ซึ่งมีนัยถึงการเลือกตั้งที่พรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้กุมชัยชนะ
“หากคุณยอมให้ผลการเลือกตั้งเป็นเหมือนครั้งก่อนๆ คุณก็จะไม่ได้อะไรใหม่ และคุณก็จะไม่เห็นการพัฒนาใดๆ เลย” ผบ.ทบ.กล่าว ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกมองว่าเป็นการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำลังมีคะแนนนำอยู่ในโพลหลายสำนัก
ส่วน นายวีระ ประทีปชัยกูร อดีต บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันนี้ (20) ว่า การที่ ผบ.ทบ.ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเลือกคนดี พรรคดีเข้าสภานั้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเขาจะถูกมองว่าเลือกข้างในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
ขณะที่กองทัพมีอำนาจสำคัญทางการเมืองไทยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดการรัฐประหารถึง 18 ครั้ง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง และหลายครั้งที่มีบทบาทแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลด้วย รวมถึงการขึ้นสู่อำนาจของ นายอภิสิทธิ์ ในปี 2008
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ภาพลักษณ์โดยทั่วไปของกองทัพไม่ได้เป็นองค์ประกอบโดยสมบูรณ์ของกระบวนการประชาธิปไตยของไทย พร้อมเสริมว่า การแสดงความเห็นเช่นนั้นในช่วงใกล้วันเลือกตั้งอาจมีการตอบสนองในทางลบได้
นอกจากนี้ กัน ยืนยง นักวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองสยาม ระบุว่า การรัฐประหารนั้นถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถมองข้ามไปได้หาก พ.ต.ท.ทักษิณ กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งกองทัพได้เรียนรู้จากอดีตแล้ว และรู้ดีว่า ทักษิณ จะต้องกลับมาแก้แค้นแน่นอน
สำหรับบางฝ่าย คาดหวังว่า ทหารจะเข้าแทรกแซงไม่ให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะที่หลายฝ่าย คาดว่า หากเพื่อไทยได้ที่นั่งในสภามากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เสียงข้างมาก จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งนั่นทำให้กองทัพสามารถใช้อิทธิพลชักชวนพรรคเล็กพรรคน้อยให้หันไปเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์แทนเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวอาจไม่ได้ผล หากพรรคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย หรือชนะขาดลอย ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางเข้าร่วมรัฐบาลผสมได้อีกเพียงพรรคเดียว
ส่วนวิธีการที่แข็งกร้าวกว่าอย่างการรัฐประหารนั้น นักวิเคราะห์มองว่า เป็นไปได้ยาก และเป็นทางเลือกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการใช้ เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงแข็งแกร่งขึ้น และมีการจัดการดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งรัฐประหารปี 2006 ซึ่งโค่นทักษิณลงจากอำนาจได้
“ทว่า การรัฐประหารก็อาจเกิดขึ้นได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกำจัดออกจากตำแหน่งโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งนั่นไม่มีทางเลือกอื่น” แหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับกองทัพ ระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย และกองทัพ เผยว่า ประเด็นดังกล่าวอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยที่ ทักษิณ และนายทหารระดับสูงเจรจากันภายใต้เงื่อนไขให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพื่อแลกกับการไม่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง
แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของ IHS-Jane เสริมว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างสง่างาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคเพื่อไทยยังต้องแลกกับการล้มเลิกแผนการนิรโทษกรรม เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ แต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งมาจากผู้นำกองทัพ และรับประกันว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับกิจการทางทหาร