xs
xsm
sm
md
lg

การพิพาทชิงหมู่เกาะสแปรตลีย์ทำทะเลจีนใต้เดือดพล่าน

เผยแพร่:   โดย: โจเอล ดี อาดริอาโน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Waters roil in the South China Sea
By Joel D Adriano
16/06/2011

จีนส่งเรือรบตรวจการณ์ไปยังทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความตึงเครียดที่มีอยู่กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีส์ ซึ่งคาดกันว่าจะอุดมด้วยทรัพยากรอันมีค่า ขณะเดียวกันกองทัพเรือเวียดนามก็จัดการฝึกซ้อมยิงปืนด้วยกระสุนจริง ภายหลังที่ได้เกิดการประจันหน้าทางทะเลในพื้นที่แถบนี้ ทางด้านฟิลิปปินส์ที่โกรธเกรี้ยว “การรุกล้ำ” ของจีน ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชื่อทะเลในอาณาบริเวณนี้อย่างเป็นทางการ จาก “ทะเลจีนใต้” เป็น “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” สำหรับสหรัฐฯได้เน้นย้ำว่า ตนเอง “ไม่มีการกำหนดจุดยืนใดๆ” เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้

มะนิลา – ความตึงเครียดที่กำลังยกระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างจีนกับพวกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) กำลังทำท่าว่าอาจจะลุกลามขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์และเวียดนามนั้น เวลานี้กำลังทะเลาะวิวาทกับแดนมังกร ภายหลังที่ได้เกิดเหตุยั่วยุเพิ่มเติมโทสะอย่างต่อเนื่องกันหลายครั้งหลายหน ทั้งนี้บางคนเชื่อว่าการยั่วยุดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังใช้ท่าทีทำตามอำเภอใจของตนมากขึ้น ในการยืนกรานการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณทางทะเลแถบนี้ที่คาดกันว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวียดนามกล่าวหาจีนว่า “จงใจ” โจมตีเรือสำรวจของตนลำหนึ่งในบริเวณซึ่งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้วที่เรือของจีนเผชิญหน้ากับเรือของเวียดนามในพื้นที่แถบนี้ในรอบระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อมาในวันพฤหัสบดี(16) หนังสือพิมพ์เป่ยจิงเดลี่ ของทางการแดนมังกรรายงานอีกว่า จีนได้จัดส่งเรือรบตรวจการณ์หลายลำเข้าไปยังทะเลบริเวณนี้เพื่อ “ปกป้องคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล”

ความตึงเครียดที่บังเกิดขึ้นนี้ กลายเป็นการโหมฮือกระแสความรู้สึกต่อต้านจีนไปทั่วประเทศเวียดนาม โดยที่มีผู้คนนับพันๆ พากันออกมาชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินต์ เพื่อแสดงการประท้วงคัดค้านการปฏิบัติการทางนาวีของจีนในเขตน่านน้ำที่พิพาทกันอยู่ นอกจากนั้นพวกแฮกเกอร์ชาวเวียดนามก็ได้เปิดฉากการโจมตีทางไซเบอร์สเปซต่อเว็บไซต์ต่างๆ ของทางการจีนอีกด้วย

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง จีนยังเกิดขัดแย้งกับฟิลิปปินส์ ด้วยการ “รุกล้ำ” ครั้งแล้วครั้งเล่าเข้าไปในเขตเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งทางการมะนิลาประกาศอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ ฝ่ายจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าเป็นเพียง “ข่าวลือ” ถึงแม้ว่า หลิว จินเชา (Liu Jinchao) เอกอัครราชทูตแดนมังกรประจำฟิลิปปินส์จะได้กล่าวเตือนระหว่างการแถลงข่าวครั้งหนึ่งว่า บรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียของจีนจะต้องยุติการสำรวจน้ำมันและแก๊สในอาณาบริเวณซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใต้อำนาจอธิปไตยของตน

ประเทศทั้งสองยังได้ดำเนินการประท้วงทางการทูตต่อกัน เพื่อเป็นการยืนกรานการอ้างกรรมสิทธิ์ของฝ่ายตน โดยที่ฟิลิปปินส์ได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อสหประชาชาติตอนต้นเดือนนี้ ระบุว่าแดนมังกรได้รุกล้ำดินแดนของตนรวม 6 ครั้งในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การรุกล้ำดังกล่าวมีทั้งกรณีที่เรือรบจีนยิงใส่เรือประมงฟิลิปปินส์, เรือของจีนขัดขวางการเดินทางของเรือสำรวจน้ำมันของฟิลิปปินส์, และการที่ปักกิ่งนำเอาหลักเขตและทุ่นลอยมาวางในน่านน้ำที่ทางการมะนิลาอ้างกรรมสิทธิ์อยู่

ฟิลิปปินส์ยังกำลังประท้วงเรื่องที่จีนก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ บนเกาะแก่งที่ตนถือเป็นกรรมสิทธิ์ วุฒิสมาชิกฟรานซิส เปงกิลินัน (Francis Pangilinan) วิพากษ์วิจารณ์การกระทำเหล่านี้ของจีนว่า “ไม่สมกับที่เป็นมหาอำนาจระดับโลก” ในทางฟากแดนมังกร ก็ได้มีการยื่นหนังสือทางการทูตถึงสหประชาชาติอ้างว่าฟิลิปปินส์ได้ทำการรุกรานดินแดนหลายๆ ส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ข้ออ้างนี้ทำให้พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงหัวเราะงอหาย เนื่องจากทราบกันดีอยู่แล้วว่ากองทัพเรือฟิลิปปินส์อยู่ในสภาพน่าสมเพทขนาดไหน

เอกอัครราชทูตหลิวบอกว่า การที่เรือของจีนต้องมีปฏิบัติการต่างๆ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พวกชาวประมงฟิลิปปินส์ล่วงล้ำเข้าไปใน “อาณาเขตที่อยู่ในอำนาจ” ของแดนมังกร ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า พื้นที่บริเวณที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์นั้นในทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้ฟิลิปปินส์เป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น พื้นที่ “รีด แบงก์” (Reed Bank) ที่เป็นจุดเกิดเหตุขึ้นครั้งหนึ่ง บริเวณนี้อยู่ห่างเพียงแค่ 80 ไมล์ทะเล (148 กิโลเมตร) จาก ปาลาวัน (Palawan) ที่เป็นจังหวัดทางด้านตะวันตกสุดของฟิลิปปินส์ ทว่าอยู่ห่างจากจีนถึงร่วมๆ 500 ไมล์ (800 กิโลเมตร)

ดินแดน หมู่เกาะคาลายาน (Kalayaan islands) และ สันดอน สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ต่างก็อยู่ใกล้กับปาลาวัน มากกว่าดินแดนของชาติอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทุกๆ ชาติ อีกทั้งยังตั้งอยู่ภายในแนวเส้นฐานหมู่เกาะ (archipelagic baseline) ของฟิลิปปินส์ แดนตากาล็อกจึงนับเป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์เพียงชาติเดียวเท่านั้นที่มีข้ออ้างอิงในทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวนี้

อาณาบริเวณที่เรียกกันว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ นั้น ตั้งตามนามของ ริชาร์ด สแปรตลีย์ (Richard Spratly) กะลาสีชาวอังกฤษน หมู่เกาะแห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหมู่เกาะ, เกาะเล็กเกาะน้อย, แนวปะการัง, โขดหิน, และ เกาะปะการัง จำนวนรวมกันมากกว่า 650 แห่งที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ หากคำนวณเฉพาะบริเวณที่เป็นที่ดินแล้ว รวมกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็ยังไม่ถึง 5 ตารางกิโลเมตร ทว่าส่วนที่เป็นที่ดินเหล่านี้ตั้งกระจัดกระจายอยู่ภายในท้องทะเลเป็นพื้นที่กว้างขวางมากกว่า 400,000 ตารางกิโลเมตรทีเดียว

ดินแดนในหมู่เกาะที่กำลังเกิดการพิพาทช่วงชิงกันอยู่นี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีผู้คนพำนักอาศัย ทว่าหลายๆ แห่งเป็นช่องทางเดินเรืออันสำคัญ ตลอดจนมีบางคนบางฝ่ายเชื่อกันว่าลึกลงไปใต้ทะเลแถบนี้เป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สขนาดใหญ่ หมู่เกาะแห่งนี้ถูกอ้างกรรมสิทธิ์จากบรูไน, จีน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, และเวียดนาม โดยที่บางรายก็อ้างแบบตลอดทั้งหมู่เกาะ ขณะที่บางรายอ้างเพียงแค่บางส่วน ตามรายงานหลายๆ ฉบับระบุว่า ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯจัดอันดับให้อาณาบริเวณนี้เป็น 1 ใน 8 พื้นที่ที่อาจเกิดสถานการณ์ปะทุรุนแรงได้มากที่สุดของโลก

ความตึงเครียดอาจจะเพิ่มระดับยิ่งขึ้นอีก หลังจากที่เวียดนามจัดการฝึกซ้อมทางทหารด้วยกระสุนจริงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลอดจนการฝึกซ้อมร่วมระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้านั้นอีก ในบริเวณน่านน้ำที่พิพาทกันอยู่นี้ ยิ่งไปกว่านั้นฟิลิปปินส์ยังกระทำการที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับจีน ด้วยแผนการที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐสภา เพื่อเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการของ “ทะเลจีนใต้” (South China Sea) ให้เป็น “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” (West Philippine Sea)

ในการยื่นเสนอญัตติเรื่องนี้ วอลเดน เบลโล (Walden Bello) ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอัคบายัน (Akbayan) แถลงว่า ชื่อทะเลจีนใต้เป็นการขนานนามอย่างผิดพลาดไม่ถูกต้องซึ่งจีนกำลังใช้อยู่ การใช้ชื่อนี้ทำให้แดนมังกรได้เปรียบอย่างไม่สมควรในการเวลาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในอาณาบริเวณแถบนี้ เบลโลบอกว่า ด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ “เราก็กำลังเดินหมากในเชิงรุกซึ่งทำให้การอ้างกรรมสิทธิ์ของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น”

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ใช้ชื่อใหม่นี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน ระหว่างการบรรยายสรุปประเด็นปัญหานี้ เอดูอาร์โด มาลายา (Eduardo Malaya) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศอธิบายว่า ชื่อ “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” เป็นการสะท้อนให้เห็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทะเลแห่งนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในเวลานี้ พวกองค์การสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ก็ได้เริ่มใช้ชื่อใหม่นี้กันแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เอ็ด ดักดัก (Ed Dagdag) นักวิเคราะห์การเมืองแห่งศูนย์เอชีย (Asian Center) ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) เสนอแนะว่า พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลรวมทั้งตัวโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีด้วย ควรที่จะละเว้นหลีกห่างจากการแถลงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความปวดแสบปวดร้อนระคายเคืองต่างๆ ถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะให้มีการแก้ไขกรณีพิพาทนี้กันอย่างสันติ

ดักดัก เชื่อว่าถ้าหากเกิดการประจันหน้าทางการทหารขึ้นมาจริงๆ สหรัฐฯที่เป็นพันธมิตรทางทหารรายสำคัญที่สุดของฟิลิปปินส์ ไม่น่าที่จะยืนอยู่ข้างฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกดึงลากลงสู่ความขัดแย้งที่อาจจะบานปลายใหญ่โตกับแดนมังกร ดังเห็นได้จากการที่รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ของสหรัฐฯ ได้แถลงย้ำในระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ว่า สหรัฐฯ “ไม่มีการกำหนดจุดยืนใดๆ” เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ของฝ่ายต่างๆ เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์

ถึงแม้จะมีการแสดงท่าทีตลอดจนการใช้ถ้อยคำโวหารอันคึกคักเข้มแข็งดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่เอาเข้าจริงแล้วฟิลิปปินส์ก็จะไม่ค่อยมีลู่ทางอะไรนักที่จะป้องกัน ถ้าหากในอนาคตจีนจะทำการล่วงล้ำหรือดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่กำลังช่วงชิงกันนี้อีก ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน (Benigno Aquino) แห่งฟิลิปปินส์ ก็เฉกเช่นเดียวกับพวกผู้นำของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือสแปรตลีย์รายอื่นๆ ที่ต่างแถลงว่าพวกเขาปรารถนาที่จะหาหนทางแก้ไขในลักษณะพหุภาคีมาคลี่คลายกรณีพิพาทนี้ จุดยืนเช่นนี้ถือว่าตรงกันข้ามกับท่าทีของจีนที่ยืนกรานจะให้เปิดการเจรจาแบบทวิภาคี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนยังคงคัดค้านขัดขวางข้อเสนอแนะที่ให้สหรัฐฯเข้ามาแสดงบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้จึงยังน่าที่จะร้อนระอุเพิ่มขึ้นอีกก่อนที่จะคลี่คลายเย็นตัวลง

โจเอล ดี อาดริอาโน เป็นที่ปรึกษาอิสระ และเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระระดับได้รางวัลมาแล้ว เขาเคยเป็นบรรณาธิกรณ์ (sub-editor) ให้แก่หน้าธุรกิจของหนังสือพิมพ์ เดอะ มะนิลา ไทมส์ (The Manila Times) ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่ อาเซียน บิซไทมส์ (ASEAN BizTimes), เซฟ เดโมเครซี (Safe Democracy), และ พีเพิลส์ ทูไนต์ (People's Tonight)
กำลังโหลดความคิดเห็น