xs
xsm
sm
md
lg

‘เส้นทางขนส่งข้ามแดนอัฟกัน-ปากีฯ’เปิดประตูใหม่สู่โลกภายนอก

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghan trucks roll to Wagah
By Syed Fazl-e-Haider
14/06/2011

การติดต่อเชื่อมโยงทางบกระหว่างอัฟกานิสถานกับโลกภายนอกโดยผ่านปากีสถาน ได้ย่างเข้าสู่ยุคใหม่ในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน เส้นทางคมนาคมขนส่งดังกล่าวก็เป็นการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่การค้าระหว่างปากีสถานกับบรรดาสาธารณรัฐในเอเชียกลาง

การาจี, ปากีสถาน – ในที่สุดเมื่อวันจันทร์(13)ที่ผ่านมา รถบรรทุกสินค้าของอัฟกานิสถานก็สามารถเริ่มต้นเดินทางแล่นผ่านปากีสถาน ไปยังด่านพรมแดนวากาห์ (Wagah) เพื่อข้ามเข้าไปในอินเดีย ภายใต้ข้อตกลงผ่านแดนที่มีสหรัฐฯเป็นผู้อุปถัมภ์ ข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์(12) ภายหลังจากต้องใช้เวลาในการทะเลาะโต้แย้งรายละเอียดกันเป็นเวลานานถึง 8 เดือน

ด้วยสัญญาดังกล่าวนี้ ซึ่งใช้แทนที่ข้อตกลงการค้าผ่านแดนอัฟกานิสถานปี 1965 (Afghan Transit Trade Agreement of 1965) ที่ล้าสมัยมากแล้ว รถบรรทุกสินค้าของอัฟกานิสถานที่ขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก สามารถแล่นตรงลิ่วไปยังตำบลวากาห์ หรือไม่ก็ไปยังท่าเรือนครการาจี ตลอดจนท่าเรือเมืองกวาดาร์ (Gwadar) ของปากีสถาน ขณะที่รถบรรทุกของปากีสถานก็สามารถวิ่งข้ามเข้าไปสู่รัฐต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียกลาง โดยผ่านเมืองเฮราตาน (Heratan) ที่อยู่ตรงชายแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับอุซเบกิสถาน

ปากีสถานกับอัฟกานิสถานสามารถตกลงรายละเอียดขั้นสุดท้าย เพื่อนำเอาข้อตกลงฉบับนี้ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ข้อตกลงการค้าผ่านแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน (Afghanistan-Pakistan Transit Trade Agreement ใช้อักษรย่อว่า APTTA) มาบังคับใช้ ในระหว่างที่ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ของอัฟกานิสถาน เดินทางเยือนกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันที่จริงได้มีการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปีกลาย ทว่าไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ หลังจากที่ทั้งสองประเทศประสบความล้มเหลวไม่อาจแก้ไขประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการให้แบงก์การันตีแก่สินค้าของอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้มีรายงานว่า ประเทศทั้งสองสามารถแก้ไขทุกๆ ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลง APTTA แล้ว โดยที่จะมีติดตั้งระบบตรวจอัตลักษณ์แบบชีวมิติ (biometric identification system) ที่ด่านตรวจทั้งขาเข้าและขาออก ภายใน 3 ถึง 4 สัปดาห์ข้างหน้านี้

“ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องแบงก์การันตีในข้อตกลงฉบับใหม่นี้ ขณะนี้ได้รับการแก้ไขจนลุล่วงไปแล้ว” สำนักข่าวเพรส ทรัสต์ แห่ง อินเดีย รายงานคำพูดของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานผู้หนึ่ง ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็รายงานว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ปากีสถานบอกว่า “ไม่มีข้อขัดขวางอะไรอีกแล้วในการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้”

ระหว่างที่ร่วมแถลงข่าวกับประธานาธิบดีคาร์ไซของอัฟกานิสถานในสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ไซเอด ยูซุฟ กิลานี (Syed Yousuf Raza Gilani) ของปากีสถาน กล่าวว่า การทำให้ข้อตกลง APTTA เริ่มมีผลในทางปฏิบัติได้เช่นนี้ ควรต้องถือเป็นหลักหมายอันสำคัญ

ในคำแถลงที่มีเนื้อหา 23 ข้อซึ่งนำออกมาเผยแพร่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงอิสลามบัด ระบุว่า ทั้งสองประเทศ “เห็นพ้องกันที่จะดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นทุกๆ ประการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้อย่างเต็มที่ และให้ข้อตกลงฉบับนี้เอื้ออำนวยประโยชน์แก่การเพิ่มพูนการค้า ซึ่งก็ได้เพิ่มทวีขึ้นมาอย่างสำคัญอยู่แล้วในระยะหลายๆ ปีหลังมานี้”

ประเทศทั้งสองยังตกลงกันที่จะเริ่มต้นปรึกษาหารือกับรัฐอื่นๆ ที่มีความสนใจ เพื่อจัดทำกลไกในด้านการส่งสินค้าผ่านแดนและในด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะทำให้บรรดาชาติเพื่อนบ้านในเอเชียกลางของประเทศทั้งสอง สามารถใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกผ่านอัฟกานิสถานและปากีสถานไปติดต่อโลกภายนอกได้

เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ การค้าผ่านแดนของอัฟกานิสถาน คือต้นตอสำคัญที่สุดของสินค้าเถื่อนที่ทะลักเข้าสู่ปากีสถาน ซึ่งทำให้กรุงอิสลามาบัดได้รับความเสียหายในรูปของการที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีคิดเป็นมูลค่าปีละนับล้านๆ ดอลลาร์ ขณะเดียวกันสินค้าเถื่อนเหล่านี้ก็มีส่วนในการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมท้องถิ่นของปากีสถานไปด้วย ตามข้อมูลของคณะกรรมการส่วนกลางว่าด้วยจัดเก็บภาษีอากร (Federal Board of Revenue) ในจำนวนสินค้าหนีภาษีที่เข้าสู่ปากีสถานซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น มีอยู่ 75% ทีเดียวที่ไหลทะลักออกมาจากสินค้าที่อ้างว่าอยู่ในกระบวนการผ่านแดนปากีสถานเพื่อไปยังอัฟกานิสถาน

พ่อค้าทั้งชาวปากีสถานและชาวอัฟกานิสถานจำนวนมากทีเดียวอ้างต่อทางการว่า พวกเขากำลังขนส่งสินค้านำเข้าต่างๆ เพื่อข้ามแดนปากีสถานไปยังอัฟกานิสถาน แต่แล้วกลับขายสินค้าเหล่านี้ในปากีสถานโดยไม่จ่ายภาษีอากรใดๆ ทั้งสิ้น การที่โครงสร้างด้านภาษีศุลกากรของปากีสถานกับของอัฟกานิสถานมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมเพิ่มพูนการค้าของเถื่อนดังกล่าว

“วิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการค้าของเถื่อนได้อย่างแท้จริง ก็คือการทำให้การค้าของเถื่อนเป็นสิ่งที่ไม่มีกำไร” หนังสือพิมพ์เอ็กซ์เพรส ทรีบูน (Express Tribune) รายงานคำพูดของปลัดกระทรวงพาณิชย์ปากีสถาน ซาฟาร์ เมห์มูด (Zafar Mehmood) “ไม่เช่นนั้นแล้ว การค้าเช่นนี้ก็จะยังมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือลำเลียงไปบนหลังล่อ”

ในปัจจุบัน ปากีสถานยังคงไม่มีการจัดทำนโยบายระยะยาวใดๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนปากีสถานเพื่อไปยังอัฟกานิสถาน ซึ่งมีทั้งพวกสินค้าเพื่อการพาณิชย์ และสินค้าที่มิใช่เพื่อการพาณิชย์ ถึงแม้การขนส่งดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับกำลังแรงงานจำนวนมากมาย และก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬารตามท่าเรือต่างๆ ทั้งในรูปของการขนถ่ายสินค้าขึ้นลง และการใช้รถบรรทุกขนสินค้าเหล่านี้ไปยังชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน

ปากีสถานยังเป็นเส้นทางทางบกสายหลักในการลำเลียงยุทธปัจจัยและสัมภาระต่างๆ ไปให้กองกำลังทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน ถึงแม้ว่าสหรัฐฯกำลังใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเปิดเส้นทางเลือกอื่นๆ ที่อาศัยผ่านดินแดนในภูมิภาคเอเชียกลาง

สำหรับอัฟกานิสถานนั้น ในปัจจุบันสินค้านำเข้าที่ส่งผ่านมาจากปากีสถาน มีปริมาณเท่ากับราวๆ 1 ใน 3 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของอัฟกานิสถาน โดยส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 นั้นผ่านมาทางอิหร่านและทาจิกิสถาน

บทบาทของอิหร่านในการค้าของอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังที่ถนนสาย ซารันจ์-เดลาราม (Zaranj-Delaram) สร้างเสร็จในปี 2008 ถนนความยาว 218 กิโลเมตรเส้นนี้สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอินเดีย เมื่อมีเส้นทางสายนี้ก็ได้ช่วยผ่อนคลายสภาพที่อัฟกานิสถานต้องพึ่งพาปากีสถานแทบจะโดยสิ้นเชิงในการติดต่อเข้าถึงท่าเรือทางทะเล เพราะถนนสายนี้ทำให้อัฟกานิสถานติดต่อกับท่าเรือเมืองชาบาฮาร์ (Chabahar) ของอิหร่านได้

การที่ข้อตกลง APTTA ประสบอุปสรรคไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้เสียที ได้กลายเป็นการส่งเสริมให้สินค้านำเข้าสู่อัฟกานิสถาน หันไปใช้การคมนาคมขนส่งผ่านทางอิหร่าน โดยที่มีพวกพ่อค้าอัฟกานิสถานจำนวนมากขึ้นที่จองตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าจากดูไบ เพื่อลำเลียงไปยังท่าเรือเมืองบันดาร์ อับบัส (Bandar Abbas) ของอิหร่าน ทั้งนี้เมืองท่าแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองชาบาฮาร์

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ นิวส์ (The News) ของปากีสถานระบุว่า พวกพ่อค้าชาวอัฟกานิสถานได้จองตู้คอนเทนเนอร์เอาไว้ถึง 17,000 ตู้ทีเดียว เพื่อขนส่งสินค้าจากดูไบไปยังบันดาร์ อับบัส แนวโน้มเช่นนี้อาจจะดำเนินต่อไปอีกถ้าหากยังคงมีการติดขัดในเรื่องการออกสินค้าและการลำเลียงสินค้านำเข้าไปยังอัฟกานิสถานโดยใช้ท่าเรือการาจี และจุดข้ามแดนเข้าสู่อัฟกานิสถานที่ ชามาน (Chaman) ซึ่งอยู่ในแคว้นบาโลจิสถาน (Balochistan) และ ตอร์คาม (Torkham) ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองเปชาวาร์ (Peshawar)

ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่นี้ยังจะทำให้ปากีสถานสามารถติดต่อเข้าถึงพวกสาธารณรัฐในเอเชียกลาง ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะทำให้สินค้าส่งออกของปากีสถานขนส่งไปยังภูมิภาคดังกล่าวเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์ (http://www.syedfazlehaider.com) เป็นนักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาในปากีสถาน เขาเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม เป็นต้นว่าเรื่อง The Economic Development of Balochistan (2004) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sfazlehaider05@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น