xs
xsm
sm
md
lg

ชาวภารตะร่วม “เทศกาลกลืนปลาช่อนเป็นๆ” รักษาโรคหอบหืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัจฉาบำบัดอาการหอบหืด - ลูกปลาช่อนตัวเป็นๆ ยัดไส้สมุนไพร สิ่งที่ผู้ป่วยที่มีความเลื่อมใสต้องกลืนลงกระเพาะ ขณะที่ปลายังคงดิ้นเร่าๆ
บาธิณี ฮารินัธ กูด หัวหน้าตระกูลกูด (Goud family)
เทเลกราฟ/เอเอฟพี - ผู้ป่วยโรคหอบหืดนับแสนคนจากทั่วอินเดียเดินทางไปยังเมืองไฮเดอราบัด วานนี้ (8) เพื่อเข้าแถวอันยาวเหยียดท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว รอรับการป้อนปลาที่ต้องกลืนลงคอทั้งเป็น หวังรักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

การรักษาสุดพิสดารนี้จัดขึ้นโดยสมาชิกตระกูลกูด (Goud family) ในเมืองไฮเดอราบัด รัฐอานธรประเทศ และได้รับความนิยมจากชาวอินเดียจำนวนมหาศาล แม้มีเสียงครหาว่า “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” ขณะเดียวกัน กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิเด็ก โดยบังคับให้กลืนปลาทั้งเป็นๆ

เทศกาลมัจฉาบำบัดนี้จัดขึ้น ณ เมืองไฮเดอราบัด เป็นประจำทุกปีตามมงคลฤกษ์ของปฏิทินฮินดู ซึ่งตรงกับช่วงต้นเดือนมิถุนายน จุดเริ่มต้นของฤดูมรสุม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลายแสนคนเข้าแถวรอรับการป้อนปลาช่อน (murrel) ตัวเป็นๆ ยึดไส้สมุนไพรสูตรลับจากมือสมาชิกตระกูลกูดกว่า 200 คน

ทางตระกูลกูดไม่ยอมเปิดเผยส่วนผสมของสมุนไพร แต่อธิบายไว้ว่า ลูกปลาช่อนที่ดิ้นเร่าๆ จะช่วยทำความสะอาดหลอดอาหารไปจนถึงกระเพาะ และบำบัดอาการหอบหืดที่ชาวอินเดียจำนวนหลายล้านคนเป็นอยู่ พวกเขาอ้างว่าได้รับตำรับยาขนานพิสดารมาจากนักบุญชาวฮินดูคนหนึ่งเมื่อ 170 ปีที่แล้ว โดยนักบุญท่านนี้กำชับกำชาไว้ว่าหากพยายามเรียกรับเงินทองจากการรักษา ตัวยาจะไม่ออกฤทธิ์ อนึ่ง หลังจากกลืนปลาแล้ว ผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 45 วัน และต้องรับการรักษาติดต่อกัน 3 ปี

“นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของตระกูลกูดมานาน 166 ปีที่จะรักษาโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” บาธิณี ฮารินัธ กูด หัวหน้าตระกูลคนปัจจุบัน กล่าว นอกจากนี้ เทศกาลยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยทางการอินเดียได้จัดรถขบวนไฟบริการส่งผู้ป่วยไปยังเมืองไฮเดอราบัดเป็นกรณีพิเศษ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิเด็กในอินเดียเรียกร้องให้ยุติเทศกาล โดยกล่าวหาว่าทำให้เด็กๆ เสี่ยงอันตรายจากวิธีการที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ และไม่ถูกหลักอนามัย

บาลาลาฮักกูลาซังฮัม (Balala Hakkula Sangham) กลุ่มสิทธิเด็กภารตะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐอานธรประเทศ ว่า “กระบวนการนี้ไม่ถูกสุขลักษณะ เพราะคนๆ หนึ่งจะป้อนปลาให้กับคนเป็นหมื่นๆ โดยไม่ล้างมือ”

ตระกูลกูดออกมาตอบโต้ประเด็นนี้ว่า เป็นแผนการของบริษัทยารักษาโรคหอบหืดที่เสียผลประโยชน์จากการรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายของพวกเขา





กำลังโหลดความคิดเห็น