เอเอฟพี - นักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กในอินเดียร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รัฐอานธรประเทศให้มีคำสั่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี กลืนปลาลงท้องทั้งเป็นเพื่อรักษาอาการหอบหืดตามประเพณีการรักษาเก่าแก่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
ทุกๆ ปีผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือระบบทางเดินหายใจจำนวนนับแสนคนจะมุ่งหน้ามายังเมืองไฮเดอราบัด รัฐอานธรประเทศ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย เพื่อกลืนปลาตัวเล็กๆ ทั้งเป็นลงคอพร้อมกับสมุนไพรสูตรพิเศษ
ตระกูลกูด (Goud family) เจ้าของตำรับยามัจฉาบำบัดนี้ อ้างว่าได้รับวิธีรักษาโรคหอบหืดสุดพิสดารมาจากนักบุญฮินดูคนหนึ่งเมื่อปี 1845 ตั้งแต่นั้นมาสมาชิกตระกูลนี้ก็คอยบำบัดอาการหอบหืดให้กับผู้คนจากทั่วทั้งอินเดียโดยไม่เก็บค่ารักษา ในหนึ่งปีจะเปิดรักษาเพียง 2 วันในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
เจ้าตำรับตระกูลนี้อ้างว่า ลูกปลาช่อนขนาด 5 เซนติเมตรที่ดิ้นเร่าๆ จะช่วยทำความสะอาดหลอดอาหารไปจนถึงกระเพาะ โดยปีนี้เทศกาลดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 8 - 9 มิถุนายน อนึ่งหลังจากกลืนปลาแล้ว ผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 45 วัน
ทั้งนี้ บาลาลาฮักกูลาซังฮัม (Balala Hakkula Sangham) กลุ่มสิทธิเด็กได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐอานธรประเทศให้ยับยั้งไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้
“กระบวนการรักษานี้ไม่ถูกสุขลักษณะ เพราะคนๆ หนึ่งจะป้อนปลาให้กับคนเป็นหมื่นๆ โดยไม่ล้างมือ” คำร้องเรียนระบุเช่นนั้น
เมื่อวันอังคาร (31 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรัฐอานธรประเทศมีคำสั่งให้จัดทำรายงานตามคำร้องเรียนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตระกูลกูดยืนยันว่ามัจฉาบำบัดได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถรักษาอาการหอบหืด และปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจต่างๆ ได้ แต่ปฏิเสธการเปิดเผยความลับของสูตรสมุนไพรที่ต้องกลืนลงไปพร้อมกับปลา
“นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของตระกูลกูดมานาน 166 ปีที่จะรักษาโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” บาธิณี ฮารินัธ กูด หัวหน้าตระกูลคนปัจจุบัน กล่าว
บาธิณี ฮารินัธ กูด กล่าวย้ำกับเอเอฟพีว่า เด็กๆ จะไม่เป็นอันตราย ส่วนผู้ที่ร้องเรียนเรื่องนี้รับเงินจากบริษัทผลิตยารักษาโรคหอบหืดที่เสียผลประโยชน์ เขาเล่าต่อว่าเมื่อปีที่แล้วผู้คนกว่า 400,000 คนเดินทางมาเพื่อกลืนปลาเป็นๆ ที่มีสมาชิกตระกูล 200 คนช่วยกันแจกจ่าย
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้เตรียมรถไฟขบวนพิเศษเพื่อบริการผู้ที่เดินทางไปยังเมืองไฮเดอราบัด และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพิเศษคอยทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน