(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
The meddling father
By Daisy Sindelar
18/05/2011
การที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถูกจับกุมในคดีอาญาอันอื้อฉาว กำลังกลายเป็นชนวนปลุกให้ความโกรธกริ้วของพวกประเทศลูกหนี้ที่มีต่อองค์การระดับโลกแห่งนี้ ปะทุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง พวกนักวิจารณ์ในชาติเหล่านี้ ตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงปากีสถาน ต่างชี้ว่าไอเอ็มเอฟนั้นชอบแสดงบทบาทเป็นเสมือนคุณพ่อจอมจุ้นที่เอาแต่แทรกเข้ามาบีบคั้นบังคับรัฐบาลผู้ยื่นขอความช่วยเหลือ โดยที่แทบไม่ได้กังวลห่วงใยต่อความลำบากที่ประชาชนคนสามัญในชาตินั้นๆ จะต้องแบกรับ
*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**สามัญชนต้องดิ้นรนหนักจริงๆ**
อีกประเทศหนึ่งที่กำลังตั้งคำถามว่า ความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ “ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรจริงๆ” หรือเปล่า ก็คือปากีสถาน ประเทศนี้ยังคงกำลังเจรจากับทางกองทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของเงินกู้จำนวน 11,300 ล้านดอลลาร์ที่ไอเอ็มเอฟเสนอให้ภายหลังราคาน้ำมันพุ่งทะยานทะลุฟ้าในปี 2008 จนเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตการชำระเงินขึ้นในชาติเอเชียใต้รายนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ปากีสถานเป็นบางงวดแล้ว และปากีสถานก็ต้องการความช่วยเหลืองวดต่อๆ ไปอย่างเหลือเกิน ทว่าเงื่อนไขที่จะต้องทำให้ได้ก่อนตามที่ไอเอ็มเอฟเรียกร้องกำหนดออกมานั้น จะทำให้ต้องมีการตัดลดงบประมาณแผ่นดินลงอย่างฮวบฮาบ สภาพเช่นนี้กำลังก่อให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในรัฐบาล รวมทั้งเกิดเหตุความไม่สงบทางสังคม ด้วยการที่คนยากคนจนของประเทศพากันประท้วงเรื่องที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
“ผมใช้ชีวิตเหมือนอย่างเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว” อัชฟาค (Ashfaq) คนขับรถแท็กซี่ในเมืองราวัลปินดี เมืองใหญ่แห่งหนึ่งของปากีสถาน พูดคร่ำครวญ “มันลำบากสุดๆ เลย”
เขาจาระไนให้ฟังถึงรายการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเขา เป็นต้นว่า ค่าเล่าเรียนสำหรับลูก 4 คนของเขา, ค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของแท๊กซี่, แล้วไหนยังค่าน้ำมันและค่าอาหารอีก เขาบอกว่าเขาสามารถเก็บออมได้เพียงแค่วันละ 5 ถึง 7 ดอลลาร์จากเงินรายได้ทั้งหมดของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ราคาเชื้อเพลิงพุ่งขึ้นไป 13% เมื่อเดือนที่แล้ว
“ถ้าเราเน้นไปที่เรื่องการเล่าเรียนของลูกๆ เราก็ไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าให้พวกแก” เขาบอก “คนยากคนจนต้องดิ้นรนหนักเลยเพียงเพื่อให้ได้สิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต และการได้ของอย่างหนึ่งมายังกำลังหมายถึงการต้องยอมทิ้งอะไรอย่างอื่นๆ ไปอีกด้วย งานขับแท๊กซี่เคยป็นงานที่ดี แต่ตอนนี้มันหมดเสน่ห์ไปแล้ว ผมต้องเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เช้า แล้วยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงกลางคืน”
ไอเอ็มเอฟนั้นกำลังบีบคั้นให้กรุงอิสลามาบัดขึ้นภาษีที่เก็บจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม และยกเลิกมาตรการให้การอุดหนุนสินค้าเชื้อเพลิง มีรายงานว่ารัฐบาลผสมอันอ่อนแอของประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการรวมพลังรวบรวมเจตนารมณ์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้คืบหน้าไปตามที่ไอเอ็มเอฟบงการมา ยิ่งกว่านั้นการที่ปากีสถานมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2013 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เป็นไปได้ยากมากขึ้นอีกที่พวกนักการเมืองจะกล้าตัดสินใจกระทำเรื่องที่ประชาชนจะต้องไม่พอใจหนัก
การที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ลังเลที่จะดำเนินการปฏิรูปอันไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชน โดยที่การปฏิรูปเหล่านี้กำหนดขึ้นมาโดยพวกขุนนางไอเอ็มเอฟที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราเหินห่างชาวบ้าน เช่นนี้ก็ได้กลายเป็นจุดอ่อนฉกรรจ์อีกประการหนึ่งของกองทุน “ผมคิดว่าไอเอ็มเอฟควรต้องตระหนักด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ย่อมมีขีดขั้นมีความจำกัดในการดำเนินโครงการปรับตัวต่างๆ โดยเฉพาะในสภาพที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่เป็นใจ” ซาร์ตัช อาซิซ (Sartaj Aziz) อดีตรัฐมนตรีคลังของปากีสถานบอก เขายังให้ความเห็นด้วยว่า จากการที่ สเตราส์-คาห์น ทำท่าจะต้องอำลาตำแหน่ง เราสามารถที่จะใช้มันเป็นเสมือนโอกาสทองเพื่อการเติมความหวานให้แก่สิ่งที่เขาเรียกว่า “ยาขม” ของไอเอ็มเอฟ ถึงแม้เขาจะกล่าวต่อไปว่า ไปๆ มาๆ ก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากกว่า
“ผมไม่คิดว่าการจากไปของ โดมินัก สเตราส์-คาห์น จะทำให้เกิดความแตกต่างใดๆ ขึ้นมาหรอก” เขาบอก “ไอเอ็มเอฟนั้นมีการวางแผนมีการดำเนินงานระดับสถาบันที่จะยังคงค่อนข้างเหมือนๆ เดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ยังคงมีบางผู้บางคนในไอเอ็มเอฟซึ่งมีวิธีคิดที่เคร่งตำรามากเกินไปและมีความแข็งตัวมากเกินไป ทว่าเมื่อพิจารณากันโดยภาพรวมแล้ว ผมไม่คิดว่าการออกไปจากไอเอ็มเอฟของ สเตราส์-คาห์น จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมาอย่างมากมายต่อปากีสถาน หรือต่อมาตรการต่างๆ ของไอเอ็มเอฟ”
**เว้นวรรค “ชาวตะวันตก”เสียทีดีไหม**
ความแข็งตัวในการทำงานกับพวกประเทศกำลังพัฒนาและยากจนดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาพรรณนาถึงไอเอ็มเอฟว่า เป็นองค์กรของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งบังคับให้ใช้หนทางแก้ไขปัญหาแบบตะวันตก คำพูดดังกล่าวนี้มีเหตุผลรองรับอันหนักแน่นอย่างน้อยก็บางส่วน กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว ผู้นำระดับกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟต้องเป็นชาวยุโรปเสมอมา ขณะที่ธนาคารโลก ที่ถือเป็นองค์การพี่องค์การน้องกัน ก็ต้องมีบิ๊กบอสเป็นชาวอเมริกันตลอดมาเช่นกัน ระบบเช่นนี้เป็นมรดกตกทอดของ “ข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษ” ซึ่งทำกันไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ในตอนนั้นศูนย์กลางแห่งแนวโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจของโลก ยังคงปักหลักอย่างหนักแน่นมั่นคงอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป
เมื่อวันคืนผันผ่านไปเกือบๆ 70 ปี ผู้คนจำนวนมากก็ออกมาพูดว่าถึงเวลาที่สโมสรของชาวตะวันตกแห่งนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมเสียที แม้กระทั่งในตอนที่ สเตราส์-คาห์น ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟในปี 2007 ก็มีการคาดเดากะเก็งกันอย่างแพร่หลายแล้วว่า เขาอาจจะเป็นชาวยุโรปคนสุดท้ายที่ได้เข้ารับตำแหน่งนี้ในแบบสืบทอดกันไปอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ของเยอรมนี ได้ออกมาส่งสัญญาณตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ว่า เธอรู้สึกกังวลใจหากจะเกิดมีการเปลี่ยนแปลงระบบสืบทอดดังกล่าวกันในตอนนี้ โดยเธอบอกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจในรัฐยูโรโซนต่างๆ ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะยุติคลี่คลายลงเสียที คือ “เหตุผลที่ดี” สำหรับการหาชาวยุโรปมานั่งบริหารไอเอ็มเอฟต่อไปอีก
อย่างไรก็ตาม มีผู้แข่งขันอันมิใช่ชาวยุโรปแต่มีประวัติความเป็นมาที่เลิศหรูจำนวนหนึ่ง ถูกระบุชื่อออกมาแล้วว่า เปี่ยมล้นศักยภาพที่จะเข้าแทนที่ สเตราส์-คาห์น เป็นต้นว่า อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เคมาล เดอร์วิส (Kemal Dervis) แห่งตุรกี และ อะกุสติง การ์สเตงส์ (Agustin Carstens) ผู้ว่าการธนาคารกลางของเม็กซิโก
นอกจากนั้น พวกมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างเช่น จีน, บราซิล, และอินเดีย ต่างกำลังล็อบบี้กันอย่างหนักเพื่อให้ตำแหน่งสูงสุดของไอเอ็มเอฟออกมาอยู่นอกวงโคจรของยุโรปเสียที ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปยังคงได้รับการจัดสรรให้เป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากในกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมด 340,000 ล้านดอลลาร์ของไอเอ็มเอฟ และดังนั้นจึงมีสิทธิมีเสียงตัดสินชี้ขาดยิ่งกว่าใครๆ ในหมู่รัฐสมาชิกทั้ง 187 รายของไอเอ็มเอฟ
มอร์ริส โกลด์สไตน์ (Morris Goldstein) นักวิจัยอาวุโสแห่ง สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอาวุโสในไอเอ็มเอฟมาหลายๆ ตำแหน่งในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 แสดงความคิดเห็นว่า เวลานี้พวกชาติกำลังพัฒนาไม่เพียงกำลังส่งเสียงดังกึกก้องเท่านั้น พวกเขายังมีขนาดใหญ่ และกำลังใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการคาดการณ์ที่ว่าพวกเขาจะยังคงมีอัตราเติบโตอันสูงล้ำในช่วงทศวรรษหน้า เขาบอกว่ามีโอกาสอยู่ประมาณ 60 ต่อ 40 ทีเดียวที่ตำแหน่งบิ๊กบอสไอเอ็มเอฟคนต่อไปจะตกเป็นของผู้เข้าแข่งขันที่มาจากชาติกำลังพัฒนา
“ผมคิดว่าทางพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะต้องโต้แย้งว่า พวกเขามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมามากแล้วในเศรษฐกิจโลกเวลานี้ และพวกเขาไม่เคยได้โอกาสในเรื่องการนำเลย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่มากเกินกว่าเพียงแค่เรื่องการสร้างความหลากหลาย แต่มันเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในเศรษฐกิจโลก” เขากล่าว “ปัญหาที่พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เคยมีอยู่ในอดีตเมื่อเผชิญกับเรื่องประเภทนี้ก็คือ พวกเขายังต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะตกลงเห็นพ้องกันได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้สมัครของพวกเขา ขณะที่ทางฝ่ายยุโรปสามารถตกลงกันในเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็วมาก”
**เสียงเรียกร้องให้ยืดหยุ่นและแสดงความรับผิดชอบ**
อย่างไรก็ดี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ในระดับบนสุด มันก็อาจจะไม่ได้ส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญในระดับล่าง อันที่จริงแล้ว เท่าที่ผ่านมามีผู้เฝ้าจับตามองไอเอ็มเอฟจำนวนมากทีเดียว แสดงการยกย่องชมเชย สเตราส์-คาห์น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการคนแรกๆ ที่มีการผ่อนคลายวิธีปฏิบัติของไอเอ็มเอฟให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในเวลาเข้าไปแก้ปัญหาให้พวกประเทศยากจน
นูเรีย โมลินา (Nuria Molina) ผู้อำนวยการของ ยูโรแดด (Eurodad) กลุ่มที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งคอยทำหน้าที่เฝ้าติดตามผลงานของไอเอ็มเอฟ เธอให้คะแนน สเตราส์-คาห์น อย่างสูงทีเดียว สำหรับเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางกองทุนกำหนดเรียกร้อง ในเวลาปล่อยเงินกู้ให้แก่พวกประเทศรายได้ต่ำอย่างเช่น ยูเครน, ปากีสถาน, และเหล่าชาติในเอเชียกลางอย่าง คีร์กิซสถาน แต่เธอก็ชี้ว่า การที่ความไม่สงบทางสังคมอย่างใหญ่โตในประเทศเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่โดยไม่ได้สิ้นสุดลง เป็นอะไรบางอย่างที่ไอเอ็มเอฟสมควรจะต้องยอมรับรู้ และแสดงความรับผิดชอบบางประการด้วย
“ถึงแม้จะมีกระบวนการแห่งการใช้ความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีเงื่อนไขและการปฏิรูปเชิงนโยบายบางอย่างที่ไอเอ็มเอฟกำลังผลักดันให้พวกประเทศรายได้ต่ำและพวกประเทศกำลังพัฒนาต้องดำเนินการ ซึ่งเรายังคงรู้สึกว่าต้องตำหนิติเตียนเป็นอย่างยิ่ง” เธอกล่าว “แน่นอนทีเดียวว่า ไอเอ็มเอฟไม่ใช่เป็นผู้เล่นเกมอยู่คนเดียว และบ่อยครั้งที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้เอง ตลอดจนกลุ่มล็อบบี้อื่นๆ รวมไปถึงกลุ่มล็อบบี้ของภาคเอกชนด้วย คือผู้รับผิดชอบในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเภทเหล่านี้ขึ้นมา แต่ดิฉันก็ต้องขอพูดด้วยว่า ใช่เลย ไอเอ็มเอฟยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบเป็นบางส่วนด้วย”
กระนั้น ก็มีนักการเมืองบางคนยอมรับว่า เมื่อมองจากระดับท้องถิ่นแล้ว ถ้าหากจะต้องผลักดันให้มีการดำเนินนโยบายหรือมาตรการโหดๆ อะไรขึ้นมา การใช้ไอเอ็มเอฟตลอดจนพวกผู้ให้ความช่วยเหลือระดับระหว่างประเทศรายอื่นๆ เป็นแพะรับบาป ย่อมเป็นความสะดวกอย่างมากทีเดียว ในยูเครน สมาชิกรัฐสภา โวโลดืย์มืย์ร วยาซิฟสกีอี (Volodymyr Vyazivskyy) ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการนโยบายสังคมและแรงงานด้วย ให้ความเห็นว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลต่างหาก ไม่ใช่ของไอเอ็มเอฟเลย ในการทำให้เกิดความมั่นใจว่าการปฏิรูปทั้งหลายที่ดำเนินการกันจะเป็นไปอย่างมีเมตตาเห็นอกเห็นใจสมาชิกผู้อ่อนแอที่สุดของสังคม
“ไอเอ็มเอฟมองเห็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา ไอเอ็มเอฟกำลังทดสอบกลไกในการลดหนี้สินด้วยวิธีเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ ของรัฐ” เขาชี้ “แต่ว่ารัฐบาลต่างหากคือผู้ที่ควรต้องมีความคิดอ่านเกี่ยวกับวิธีการที่จะให้การปกป้องคุ้มครองชาวยูเครนผู้ยากไร้ แท้ที่จริงแล้วรัฐกำลังเอาปัญหาโยนใส่พวกสถาบันต่างชาติ ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ ทว่าไม่ได้มองเห็นว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่คอยปลอบประโลมผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากจนที่สุดในยูเครน ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ”
มันเป็นปัญหา ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว คงจะไม่ได้รับการแก้ไขโดยไอเอ็มเอฟ ไม่ว่าจะเป็นไอเอ็มเอฟที่อยู่ภายใต้ สเตราส์-คาห์น หรือใครคนอื่นที่อาจจะมาแทนที่เขา การแยกห่างออกจากกันในระดับพื้นฐาน ระหว่างพวกองค์การให้ความช่วยเหลือระดับโลก กับบรรดาผู้คนผู้รับความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับติดดิน คงจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น แม้กระทั่งหลังจากที่ความรู้สึกช็อกเกี่ยวกับเรื่อง สเตราส์-คาห์น ถูกจับกุม ตลอดจนเรื่องห้องพักที่เป็นห้องชุดระดับคืนละ 3,000 ดอลลาร์ของเขา ได้ถูกลืมเลือนไปตั้งนมนานแล้ว
“พูดกันในขั้นพื้นฐานเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับ สเตราส์-คาห์น ถือเป็นการถอยหลังของไอเอ็มเอฟ และการถอยหลังของอำนาจบารมีขององค์การนี้” เป็นความเห็นของ มิโรสลาฟ โปรโคปิเชวิช (Miroslav Prokopijevic) ศาสตราจารย์ในกรุงเบลเกรด ซึ่งสอนวิชาเศรษฐศาสตร์และยุโรปศึกษา “แต่ปัญหาหลักของไอเอ็มเอฟนั้นไม่ใช่ตัว สเตราส์-คาห์น ผมขอบอกว่ามันอยู่ที่พวกหลักการชี้นำการปฏิบัติงานของไอเอ็มเอฟต่างหาก มันอยู่ที่ว่าจริงๆ แล้วไอเอ็มเอฟไม่มีต้นทุนอะไรจากการเข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินงานเรื่องต่างๆ ถ้าหากเป็นบุคคลภาคเอกชนแล้ว คุณต้องมีความเสี่ยง 100% เต็ม แต่ถ้าคุณเป็นไอเอ็มเอฟ คุณก็มีความเสี่ยงต่ำเหลือเกิน”
รายงานข่าวชิ้นนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี (Radio Free Europe/Radio Liberty) เขียนขึ้นโดยได้รับรายงานสมทบเพิ่มเติมมาจาก โอเลนา เรมอฟสกา (Olena Removska) และ มืย์โคลา ซาคาลิวจนี (Mykola Zakalyuzhny) ในกรุงเคียฟ, ริอัซ มูซาเคล (Riaz Musakhel) ในกรุงอิสลามาบัด, รูเบน เมโลยัน (Ruben Meloyan) และ ซูเรน มูซาเยลยัน (Suren Musayelyan) ในกรุงเยเรวาน, และ ฮีเธอร์ มาเฮอร์ (Heather Maher) ในกรุงวอชิงตัน
เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
The meddling father
By Daisy Sindelar
18/05/2011
การที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถูกจับกุมในคดีอาญาอันอื้อฉาว กำลังกลายเป็นชนวนปลุกให้ความโกรธกริ้วของพวกประเทศลูกหนี้ที่มีต่อองค์การระดับโลกแห่งนี้ ปะทุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง พวกนักวิจารณ์ในชาติเหล่านี้ ตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงปากีสถาน ต่างชี้ว่าไอเอ็มเอฟนั้นชอบแสดงบทบาทเป็นเสมือนคุณพ่อจอมจุ้นที่เอาแต่แทรกเข้ามาบีบคั้นบังคับรัฐบาลผู้ยื่นขอความช่วยเหลือ โดยที่แทบไม่ได้กังวลห่วงใยต่อความลำบากที่ประชาชนคนสามัญในชาตินั้นๆ จะต้องแบกรับ
*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**สามัญชนต้องดิ้นรนหนักจริงๆ**
อีกประเทศหนึ่งที่กำลังตั้งคำถามว่า ความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ “ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรจริงๆ” หรือเปล่า ก็คือปากีสถาน ประเทศนี้ยังคงกำลังเจรจากับทางกองทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของเงินกู้จำนวน 11,300 ล้านดอลลาร์ที่ไอเอ็มเอฟเสนอให้ภายหลังราคาน้ำมันพุ่งทะยานทะลุฟ้าในปี 2008 จนเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตการชำระเงินขึ้นในชาติเอเชียใต้รายนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ปากีสถานเป็นบางงวดแล้ว และปากีสถานก็ต้องการความช่วยเหลืองวดต่อๆ ไปอย่างเหลือเกิน ทว่าเงื่อนไขที่จะต้องทำให้ได้ก่อนตามที่ไอเอ็มเอฟเรียกร้องกำหนดออกมานั้น จะทำให้ต้องมีการตัดลดงบประมาณแผ่นดินลงอย่างฮวบฮาบ สภาพเช่นนี้กำลังก่อให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในรัฐบาล รวมทั้งเกิดเหตุความไม่สงบทางสังคม ด้วยการที่คนยากคนจนของประเทศพากันประท้วงเรื่องที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
“ผมใช้ชีวิตเหมือนอย่างเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว” อัชฟาค (Ashfaq) คนขับรถแท็กซี่ในเมืองราวัลปินดี เมืองใหญ่แห่งหนึ่งของปากีสถาน พูดคร่ำครวญ “มันลำบากสุดๆ เลย”
เขาจาระไนให้ฟังถึงรายการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเขา เป็นต้นว่า ค่าเล่าเรียนสำหรับลูก 4 คนของเขา, ค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของแท๊กซี่, แล้วไหนยังค่าน้ำมันและค่าอาหารอีก เขาบอกว่าเขาสามารถเก็บออมได้เพียงแค่วันละ 5 ถึง 7 ดอลลาร์จากเงินรายได้ทั้งหมดของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ราคาเชื้อเพลิงพุ่งขึ้นไป 13% เมื่อเดือนที่แล้ว
“ถ้าเราเน้นไปที่เรื่องการเล่าเรียนของลูกๆ เราก็ไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าให้พวกแก” เขาบอก “คนยากคนจนต้องดิ้นรนหนักเลยเพียงเพื่อให้ได้สิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต และการได้ของอย่างหนึ่งมายังกำลังหมายถึงการต้องยอมทิ้งอะไรอย่างอื่นๆ ไปอีกด้วย งานขับแท๊กซี่เคยป็นงานที่ดี แต่ตอนนี้มันหมดเสน่ห์ไปแล้ว ผมต้องเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เช้า แล้วยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงกลางคืน”
ไอเอ็มเอฟนั้นกำลังบีบคั้นให้กรุงอิสลามาบัดขึ้นภาษีที่เก็บจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม และยกเลิกมาตรการให้การอุดหนุนสินค้าเชื้อเพลิง มีรายงานว่ารัฐบาลผสมอันอ่อนแอของประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการรวมพลังรวบรวมเจตนารมณ์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้คืบหน้าไปตามที่ไอเอ็มเอฟบงการมา ยิ่งกว่านั้นการที่ปากีสถานมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2013 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เป็นไปได้ยากมากขึ้นอีกที่พวกนักการเมืองจะกล้าตัดสินใจกระทำเรื่องที่ประชาชนจะต้องไม่พอใจหนัก
การที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ลังเลที่จะดำเนินการปฏิรูปอันไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชน โดยที่การปฏิรูปเหล่านี้กำหนดขึ้นมาโดยพวกขุนนางไอเอ็มเอฟที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราเหินห่างชาวบ้าน เช่นนี้ก็ได้กลายเป็นจุดอ่อนฉกรรจ์อีกประการหนึ่งของกองทุน “ผมคิดว่าไอเอ็มเอฟควรต้องตระหนักด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ย่อมมีขีดขั้นมีความจำกัดในการดำเนินโครงการปรับตัวต่างๆ โดยเฉพาะในสภาพที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่เป็นใจ” ซาร์ตัช อาซิซ (Sartaj Aziz) อดีตรัฐมนตรีคลังของปากีสถานบอก เขายังให้ความเห็นด้วยว่า จากการที่ สเตราส์-คาห์น ทำท่าจะต้องอำลาตำแหน่ง เราสามารถที่จะใช้มันเป็นเสมือนโอกาสทองเพื่อการเติมความหวานให้แก่สิ่งที่เขาเรียกว่า “ยาขม” ของไอเอ็มเอฟ ถึงแม้เขาจะกล่าวต่อไปว่า ไปๆ มาๆ ก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากกว่า
“ผมไม่คิดว่าการจากไปของ โดมินัก สเตราส์-คาห์น จะทำให้เกิดความแตกต่างใดๆ ขึ้นมาหรอก” เขาบอก “ไอเอ็มเอฟนั้นมีการวางแผนมีการดำเนินงานระดับสถาบันที่จะยังคงค่อนข้างเหมือนๆ เดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ยังคงมีบางผู้บางคนในไอเอ็มเอฟซึ่งมีวิธีคิดที่เคร่งตำรามากเกินไปและมีความแข็งตัวมากเกินไป ทว่าเมื่อพิจารณากันโดยภาพรวมแล้ว ผมไม่คิดว่าการออกไปจากไอเอ็มเอฟของ สเตราส์-คาห์น จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมาอย่างมากมายต่อปากีสถาน หรือต่อมาตรการต่างๆ ของไอเอ็มเอฟ”
**เว้นวรรค “ชาวตะวันตก”เสียทีดีไหม**
ความแข็งตัวในการทำงานกับพวกประเทศกำลังพัฒนาและยากจนดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาพรรณนาถึงไอเอ็มเอฟว่า เป็นองค์กรของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งบังคับให้ใช้หนทางแก้ไขปัญหาแบบตะวันตก คำพูดดังกล่าวนี้มีเหตุผลรองรับอันหนักแน่นอย่างน้อยก็บางส่วน กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว ผู้นำระดับกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟต้องเป็นชาวยุโรปเสมอมา ขณะที่ธนาคารโลก ที่ถือเป็นองค์การพี่องค์การน้องกัน ก็ต้องมีบิ๊กบอสเป็นชาวอเมริกันตลอดมาเช่นกัน ระบบเช่นนี้เป็นมรดกตกทอดของ “ข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษ” ซึ่งทำกันไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ในตอนนั้นศูนย์กลางแห่งแนวโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจของโลก ยังคงปักหลักอย่างหนักแน่นมั่นคงอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป
เมื่อวันคืนผันผ่านไปเกือบๆ 70 ปี ผู้คนจำนวนมากก็ออกมาพูดว่าถึงเวลาที่สโมสรของชาวตะวันตกแห่งนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมเสียที แม้กระทั่งในตอนที่ สเตราส์-คาห์น ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟในปี 2007 ก็มีการคาดเดากะเก็งกันอย่างแพร่หลายแล้วว่า เขาอาจจะเป็นชาวยุโรปคนสุดท้ายที่ได้เข้ารับตำแหน่งนี้ในแบบสืบทอดกันไปอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ของเยอรมนี ได้ออกมาส่งสัญญาณตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ว่า เธอรู้สึกกังวลใจหากจะเกิดมีการเปลี่ยนแปลงระบบสืบทอดดังกล่าวกันในตอนนี้ โดยเธอบอกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจในรัฐยูโรโซนต่างๆ ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะยุติคลี่คลายลงเสียที คือ “เหตุผลที่ดี” สำหรับการหาชาวยุโรปมานั่งบริหารไอเอ็มเอฟต่อไปอีก
อย่างไรก็ตาม มีผู้แข่งขันอันมิใช่ชาวยุโรปแต่มีประวัติความเป็นมาที่เลิศหรูจำนวนหนึ่ง ถูกระบุชื่อออกมาแล้วว่า เปี่ยมล้นศักยภาพที่จะเข้าแทนที่ สเตราส์-คาห์น เป็นต้นว่า อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เคมาล เดอร์วิส (Kemal Dervis) แห่งตุรกี และ อะกุสติง การ์สเตงส์ (Agustin Carstens) ผู้ว่าการธนาคารกลางของเม็กซิโก
นอกจากนั้น พวกมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างเช่น จีน, บราซิล, และอินเดีย ต่างกำลังล็อบบี้กันอย่างหนักเพื่อให้ตำแหน่งสูงสุดของไอเอ็มเอฟออกมาอยู่นอกวงโคจรของยุโรปเสียที ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปยังคงได้รับการจัดสรรให้เป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากในกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมด 340,000 ล้านดอลลาร์ของไอเอ็มเอฟ และดังนั้นจึงมีสิทธิมีเสียงตัดสินชี้ขาดยิ่งกว่าใครๆ ในหมู่รัฐสมาชิกทั้ง 187 รายของไอเอ็มเอฟ
มอร์ริส โกลด์สไตน์ (Morris Goldstein) นักวิจัยอาวุโสแห่ง สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอาวุโสในไอเอ็มเอฟมาหลายๆ ตำแหน่งในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 แสดงความคิดเห็นว่า เวลานี้พวกชาติกำลังพัฒนาไม่เพียงกำลังส่งเสียงดังกึกก้องเท่านั้น พวกเขายังมีขนาดใหญ่ และกำลังใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการคาดการณ์ที่ว่าพวกเขาจะยังคงมีอัตราเติบโตอันสูงล้ำในช่วงทศวรรษหน้า เขาบอกว่ามีโอกาสอยู่ประมาณ 60 ต่อ 40 ทีเดียวที่ตำแหน่งบิ๊กบอสไอเอ็มเอฟคนต่อไปจะตกเป็นของผู้เข้าแข่งขันที่มาจากชาติกำลังพัฒนา
“ผมคิดว่าทางพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะต้องโต้แย้งว่า พวกเขามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมามากแล้วในเศรษฐกิจโลกเวลานี้ และพวกเขาไม่เคยได้โอกาสในเรื่องการนำเลย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่มากเกินกว่าเพียงแค่เรื่องการสร้างความหลากหลาย แต่มันเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในเศรษฐกิจโลก” เขากล่าว “ปัญหาที่พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เคยมีอยู่ในอดีตเมื่อเผชิญกับเรื่องประเภทนี้ก็คือ พวกเขายังต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะตกลงเห็นพ้องกันได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้สมัครของพวกเขา ขณะที่ทางฝ่ายยุโรปสามารถตกลงกันในเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็วมาก”
**เสียงเรียกร้องให้ยืดหยุ่นและแสดงความรับผิดชอบ**
อย่างไรก็ดี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ในระดับบนสุด มันก็อาจจะไม่ได้ส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญในระดับล่าง อันที่จริงแล้ว เท่าที่ผ่านมามีผู้เฝ้าจับตามองไอเอ็มเอฟจำนวนมากทีเดียว แสดงการยกย่องชมเชย สเตราส์-คาห์น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการคนแรกๆ ที่มีการผ่อนคลายวิธีปฏิบัติของไอเอ็มเอฟให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในเวลาเข้าไปแก้ปัญหาให้พวกประเทศยากจน
นูเรีย โมลินา (Nuria Molina) ผู้อำนวยการของ ยูโรแดด (Eurodad) กลุ่มที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งคอยทำหน้าที่เฝ้าติดตามผลงานของไอเอ็มเอฟ เธอให้คะแนน สเตราส์-คาห์น อย่างสูงทีเดียว สำหรับเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางกองทุนกำหนดเรียกร้อง ในเวลาปล่อยเงินกู้ให้แก่พวกประเทศรายได้ต่ำอย่างเช่น ยูเครน, ปากีสถาน, และเหล่าชาติในเอเชียกลางอย่าง คีร์กิซสถาน แต่เธอก็ชี้ว่า การที่ความไม่สงบทางสังคมอย่างใหญ่โตในประเทศเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่โดยไม่ได้สิ้นสุดลง เป็นอะไรบางอย่างที่ไอเอ็มเอฟสมควรจะต้องยอมรับรู้ และแสดงความรับผิดชอบบางประการด้วย
“ถึงแม้จะมีกระบวนการแห่งการใช้ความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีเงื่อนไขและการปฏิรูปเชิงนโยบายบางอย่างที่ไอเอ็มเอฟกำลังผลักดันให้พวกประเทศรายได้ต่ำและพวกประเทศกำลังพัฒนาต้องดำเนินการ ซึ่งเรายังคงรู้สึกว่าต้องตำหนิติเตียนเป็นอย่างยิ่ง” เธอกล่าว “แน่นอนทีเดียวว่า ไอเอ็มเอฟไม่ใช่เป็นผู้เล่นเกมอยู่คนเดียว และบ่อยครั้งที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้เอง ตลอดจนกลุ่มล็อบบี้อื่นๆ รวมไปถึงกลุ่มล็อบบี้ของภาคเอกชนด้วย คือผู้รับผิดชอบในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเภทเหล่านี้ขึ้นมา แต่ดิฉันก็ต้องขอพูดด้วยว่า ใช่เลย ไอเอ็มเอฟยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบเป็นบางส่วนด้วย”
กระนั้น ก็มีนักการเมืองบางคนยอมรับว่า เมื่อมองจากระดับท้องถิ่นแล้ว ถ้าหากจะต้องผลักดันให้มีการดำเนินนโยบายหรือมาตรการโหดๆ อะไรขึ้นมา การใช้ไอเอ็มเอฟตลอดจนพวกผู้ให้ความช่วยเหลือระดับระหว่างประเทศรายอื่นๆ เป็นแพะรับบาป ย่อมเป็นความสะดวกอย่างมากทีเดียว ในยูเครน สมาชิกรัฐสภา โวโลดืย์มืย์ร วยาซิฟสกีอี (Volodymyr Vyazivskyy) ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการนโยบายสังคมและแรงงานด้วย ให้ความเห็นว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลต่างหาก ไม่ใช่ของไอเอ็มเอฟเลย ในการทำให้เกิดความมั่นใจว่าการปฏิรูปทั้งหลายที่ดำเนินการกันจะเป็นไปอย่างมีเมตตาเห็นอกเห็นใจสมาชิกผู้อ่อนแอที่สุดของสังคม
“ไอเอ็มเอฟมองเห็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา ไอเอ็มเอฟกำลังทดสอบกลไกในการลดหนี้สินด้วยวิธีเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ ของรัฐ” เขาชี้ “แต่ว่ารัฐบาลต่างหากคือผู้ที่ควรต้องมีความคิดอ่านเกี่ยวกับวิธีการที่จะให้การปกป้องคุ้มครองชาวยูเครนผู้ยากไร้ แท้ที่จริงแล้วรัฐกำลังเอาปัญหาโยนใส่พวกสถาบันต่างชาติ ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ ทว่าไม่ได้มองเห็นว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่คอยปลอบประโลมผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากจนที่สุดในยูเครน ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ”
มันเป็นปัญหา ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว คงจะไม่ได้รับการแก้ไขโดยไอเอ็มเอฟ ไม่ว่าจะเป็นไอเอ็มเอฟที่อยู่ภายใต้ สเตราส์-คาห์น หรือใครคนอื่นที่อาจจะมาแทนที่เขา การแยกห่างออกจากกันในระดับพื้นฐาน ระหว่างพวกองค์การให้ความช่วยเหลือระดับโลก กับบรรดาผู้คนผู้รับความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับติดดิน คงจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น แม้กระทั่งหลังจากที่ความรู้สึกช็อกเกี่ยวกับเรื่อง สเตราส์-คาห์น ถูกจับกุม ตลอดจนเรื่องห้องพักที่เป็นห้องชุดระดับคืนละ 3,000 ดอลลาร์ของเขา ได้ถูกลืมเลือนไปตั้งนมนานแล้ว
“พูดกันในขั้นพื้นฐานเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับ สเตราส์-คาห์น ถือเป็นการถอยหลังของไอเอ็มเอฟ และการถอยหลังของอำนาจบารมีขององค์การนี้” เป็นความเห็นของ มิโรสลาฟ โปรโคปิเชวิช (Miroslav Prokopijevic) ศาสตราจารย์ในกรุงเบลเกรด ซึ่งสอนวิชาเศรษฐศาสตร์และยุโรปศึกษา “แต่ปัญหาหลักของไอเอ็มเอฟนั้นไม่ใช่ตัว สเตราส์-คาห์น ผมขอบอกว่ามันอยู่ที่พวกหลักการชี้นำการปฏิบัติงานของไอเอ็มเอฟต่างหาก มันอยู่ที่ว่าจริงๆ แล้วไอเอ็มเอฟไม่มีต้นทุนอะไรจากการเข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินงานเรื่องต่างๆ ถ้าหากเป็นบุคคลภาคเอกชนแล้ว คุณต้องมีความเสี่ยง 100% เต็ม แต่ถ้าคุณเป็นไอเอ็มเอฟ คุณก็มีความเสี่ยงต่ำเหลือเกิน”
รายงานข่าวชิ้นนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี (Radio Free Europe/Radio Liberty) เขียนขึ้นโดยได้รับรายงานสมทบเพิ่มเติมมาจาก โอเลนา เรมอฟสกา (Olena Removska) และ มืย์โคลา ซาคาลิวจนี (Mykola Zakalyuzhny) ในกรุงเคียฟ, ริอัซ มูซาเคล (Riaz Musakhel) ในกรุงอิสลามาบัด, รูเบน เมโลยัน (Ruben Meloyan) และ ซูเรน มูซาเยลยัน (Suren Musayelyan) ในกรุงเยเรวาน, และ ฮีเธอร์ มาเฮอร์ (Heather Maher) ในกรุงวอชิงตัน
เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง