xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้สึกของชาติลูกหนี้ต่อการที่บิ๊กบอสIMFถูกจับ (ตอนต้น)

เผยแพร่:   โดย: เดซี ซินเดลาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The meddling father
By Daisy Sindelar
18/05/2011

การที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถูกจับกุมในคดีความผิดอาญาอันอื้อฉาว กำลังกลายเป็นชนวนปลุกให้ความโกรธกริ้วของพวกประเทศลูกหนี้ที่มีต่อองค์การระดับโลกแห่งนี้ ปะทุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง พวกนักวิจารณ์ในชาติเหล่านี้ ตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงปากีสถาน ต่างชี้ว่าไอเอ็มเอฟนั้นชอบแสดงบทบาทเป็นเสมือนคุณพ่อจอมจุ้นที่เอาแต่แทรกเข้ามาบีบคั้นบังคับรัฐบาลผู้ยื่นขอความช่วยเหลือ โดยที่แทบไม่ได้กังวลห่วงใยต่อความลำบากที่ประชาชนคนสามัญในชาตินั้นๆ จะต้องแบกรับ

*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

มืย์ไฮโล ลิเนตสกีอี (Mykhaylo Linetskyy) เป็นหนึ่งในชาวยูเครนจำนวนมากที่บอกว่า รู้สึกเอือมระอาเต็มทีแล้วกับเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ลีเนตสกีอี ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาใช้ชีวิตในฐานะคนกินบำนาญอยู่ในเมืองหลวงเคียฟ หลังจากที่ได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสือมาตลอดทั้งชีวิต และมุ่งมาตรปรารถนาที่จะได้เกษียณอายุพร้อมรายได้จำนวนหนึ่งที่แม้จะไม่มากแต่ก็ควรจะมั่นคงสม่ำเสมอ

ทว่าหลังจากที่ทางการขึ้นค่าธรรมเนียมบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ปีแล้วปีเล่า ตั้งแต่ไฟฟ้าไปจนถึงค่าโดยสารรถไฟ เงินบำนาญของลิเนตสกีอี ซึ่งอยู่ในระดับเท่ากับเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็กำลังทำให้เขารู้สึกลำบากลำบนในการดิ้นรนเอาตัวให้รอด

“ผมได้บำนาญน้อยนิดเหลือเกิน แค่ราวๆ 800 ฮนิฟเนีย เท่านั้น” เขากล่าว “ค่าอะไรต่ออะไรที่ขึ้นไปจนสูงลิ่วพวกนี้ สร้างความกระทบกระเทือนอย่างเลวร้ายต่อตัวผม บำนาญของผมจำนวนมากทีเดียวต้องหมดไปกับการจ่ายพวกค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภคพวกนี้แหละ ผมคิดว่าในช่วงเร็วๆ นี้เอง ทุกๆ อย่างเลยมีราคาแพงขึ้นไปอย่างน้อยตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ ”

ลีเนตสกีอี บอกว่า ถ้าจะให้เขาสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ทุกอย่างได้ต่อไปตามเดิมแล้ว เงินบำนาญของเขาจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ทว่าตรงกันข้าม รัฐบาลในกรุงเคียฟกลับกำลังพิจารณาที่จะตัดลดงบประมาณด้านค่าใช้จ่ายเงินบำนาญลงให้ได้ราวครึ่งหนึ่ง –โดยเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่จะต้องกระทำ ถ้าหากยูเครนต้องการจะรับเงินกู้อันจำเป็นเหลือเกินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF)

ไอเอ็มเอฟก้าวเข้ามาในขณะที่เศรษฐกิจยูเครนกำลังย่ำแย่เต็มที สืบเนื่องจากภาวะวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก โดยที่องค์การโลกบาลทางการเงินแห่งนี้เสนอให้เงินกู้เป็นจำนวน 14,900 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2010 แต่พวกเขาก็ตั้งเงื่อนไขในรูปของมาตรการอันเข้มงวดแสนโหดจำนวนหนึ่งที่ยูเครนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งก็รวมถึงเรื่องการปฏิรูประบบเงินบำนาญ --เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ เนื่องจากพลเมืองร่วมๆ 1 ใน 3 ทีเดียว มีอายุสูงกว่า 50 ปี

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กระตุ้นให้เกิดความโกรธกริ้วเป็นอย่างมากขึ้นในยูเครน ในประเด็นที่ว่าไอเอ็มเอฟ ตลอดจนพวกสถาบันปล่อยเงินกู้ระหว่างประเทศรายอื่นๆ แสดงบทบาทด้วยการทำตัวเป็นคุณพ่อจอมจุ้น ซึ่งถูกพวกนักวิจารณ์โจมตีว่า คอยแต่จะจ่ายยารักษาอาการป่วยไข้ ในรูปของวิธีปฏิบัติอันแสนโหดทั้งหลาย โดยแทบจะไม่สนใจหรือกระทั่งไม่มีความใยดีอะไรเลย เกี่ยวกับความลำบากทุกข์ยากที่ประชาชนคนสามัญต้องแบกรับ

ด้วยเหตุนี้ การที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น (Dominique Strauss-Kahn) กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ถูกจับกุมในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยข้อหาอันเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศหลายๆ กระทง จึงน่าที่จะสามารถเรียกรอยยิ้มกริ่มน้อยๆ ขึ้นในยูเครน เพราะนานๆ จึงจะมีสักครั้งที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับความประพฤติเลวๆ ปรากฏออกมาจากตัวไอเอ็มเอฟเอง ไม่ใช่จากประเทศทั้งหลายที่องค์การนี้เข้าไปช่วยเหลือ

แต่สำหรับ มืย์โรสลาฟ ยาคืย์บชุค (Myroslav Yakybchuk) ประธานชมรมสหภาพแรงงานแห่งชาติของยูเครน (Ukraine's National Forum of Trade Unions) เขาพูดแบบยอมรับสภาพว่า กรณีฉาวโฉ่เกี่ยวกับสเตราส์-คาห์น คงจะไม่ทำให้วิธีการทำงานของไอเอ็มเอฟเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

“ข้อเท็จจริงที่ว่าบิ๊กบอสขององค์การนี้ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าถึงยังไงยูเครนก็จะต้องให้ความร่วมมือกับไอเอ็มเอฟ คำถามจึงอยู่ที่ว่า ยูเครนจะต้องให้ความร่วมมือกับพวกเขาด้วยเงื่อนไขอะไรบ้างมากกว่า” เขาบอก “ในยูเครน ดูแล้วเหมือนไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกเลยนอกเหนือจากไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟป็นแหล่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ที่จะสามารถช่วยเหลือฐานะการเงินของรัฐแห่งนี้ได้”

**ใช้เงินของเราทั้งนั้น**

ตลอดทั้งทั้งโลกกำลังพัฒนา ข่าวคราวการที่สเตราส์-คาห์นถูกจับ (ซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดที่ว่าเขาพักอยู่ในห้องชุดหรูของโรงแรมที่มีราคาคืนละ 3,000 ดอลลาร์ ตลอดจนการที่เขามีอภิสิทธิ์ได้ที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินแอร์ฟรานซ์แบบอัตโนมัติ โดยเพียงแค่ไปปรากฏตัวให้เห็นเท่านั้น) กลายเป็นการโหมฮือความร้อนแรงใหม่ๆ ให้แก่ข้อถกเถียงโต้แย้งเก่าๆ เกี่ยวกับบทบาทของไอเอ็มเอฟในบรรดาประเทศที่กำลังดิ้นรนเอาตัวรอดทั้งหลาย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้นก่อตั้งขึ้นมาในปี 1944 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการเงินระหว่างประเทศจะอยู่ในภาวะมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังมุ่งที่จะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่, และต่อสู้เอาชนะความยากจน

ไอเอ็มเอฟพบว่าความสำคัญของตนกำลังลดด้อยถอยลงไปทุกทีตั้งแต่ช่วงสิ้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะแห่งการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับบรรดามหาอำนาจที่กำลังเบ่งบานเติบใหญ่ขึ้นมาทั้งในเอเชียและละตินอเมริกา

แต่แล้ววิกฤตภาคการเงินทั่วโลกก็ได้ผลักดันให้องค์การนี้ได้กลับคืนมายืนอยู่ตรงกลางเวทีอีกคำรบหนึ่ง โดยที่ทั้งไอเอ็มเอฟและสเตราส์-คาห์น ต่างได้รับเครดิตเป็นอย่างมากสำหรับการช่วยเหลือเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจโลกยังคงสามารถเดินหน้าฝ่าข้ามอันตรายทางเศรษฐกิจต่างๆ อันสุดเลวร้าย

งานดังกล่าวนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ในขณะที่บิ๊กบอสไอเอ็มเอฟกำลังนั่งจับเจ่าอยู่ในเรือนจำที่นิวยอร์กก็ตามที โดยที่ในปัจจุบันทางกองทุนกำลังแสดงบทบาทสำคัญอยู่ในการเจรจาหารือกับสหภาพยุโรป เพื่อให้ความช่วยเหลือกอบกู้ไม่ให้ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรอย่าง โปรตุเกส และกรีซ ต้องถึงกับตกอยู่ในภาวะล้มละลายไม่สามารถชำระหนี้สินได้

ภารกิจนี้ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือประเทศจำนวนหนึ่งที่เคยเป็นสาธารณรัฐอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียต เป็นต้นว่า อาร์เมเนีย ประเทศในแถบเอเชียกลางรายนี้เข้าเป๋นสมาชิกของไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 1992 และปัจจุบันทางกองทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 2

ในปี 2009 ไอเอ็มเอฟอนุมัติให้เงินกู้จำนวน 540 ล้านดอลลาร์เป็นระยะเวลา 28 เดือน เพื่อช่วยอาร์เมเนียในการรับมือกับภาวะไร้เสถียรภาพในการชำระเงินสืบเนื่องจากวิกฤตภาคการเงินระดับโลก แต่ในเวลานี้ พวกนักวิจารณ์ในอาร์มาเนียออกมาโอดโอยว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ ที่กลายเป็นการตอกตรึงไม่ให้รัฐบาลสามารถดำเนินแผนการของตนเองในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้รวมถึงการใช้มาตรการการลดภาษีแก่พวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต ตามที่ประธานาธิบดี เซอร์ซ ซาร์คีเซียน (Serzh Sarkisian) ได้ให้สัญญาเอาไว้

บรรดาผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นยังวิพากษ์พวกองค์การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รวมทั้งไอเอ็มเอฟด้วย ว่ากำลังเที่ยวส่งเสริมให้ประเทศนี้เพิ่มภาระหนี้สินต่างประเทศของตน จนกระทั่งในเวลานี้อยู่ในระดับสูงกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์ นักเศรษฐศาสตร์ บักรัต อาซาเตรียน (Bagrat Asatrian) ระบุว่า ไอเอ็มเอฟเป็นผู้ที่ส่งเสริมกระตุ้นให้รัฐบาลอาร์เมเนียดำเนินการในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัยทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง

“ไอเอ็มเอฟบอกว่าหนี้สิน 4,000 – 5,000 ล้านดอลลาร์ ไม่ใช่จำนวนที่มากมายอะไร แต่สำหรับเศรษฐกิจของเราแล้ว ขนาดนี้ก็ถือว่าจำนวนที่ใหญ่โตน่ากลัวมากแล้ว” เขากล่าว “ไอเอ็มเอฟมีวิธีการที่เป็นแบบขุนนางเอามากๆ ทีเดียว พวกเขาทำตัวราวกับว่าเดินทางมาที่นี่ก็เพียงเพื่อที่จะเซ็นชื่อในเอกสารต่างๆ จากนั้นก็เปิดอ้าวกลับไป ผมเห็นพวกเขามีแต่ไปร่วมงานปาร์ตี้พักผ่อนหย่อนใจ, ดื่มกาแฟ, กินอาหารกลางวัน, แล้วก็พูดๆๆ –ทั้งหมดนี้ทำกันในประเทศของเรา และทั้งหมดนี้ใช้เงินของเราทั้งนั้น”

พวกผู้ประกอบการชาวอาร์เมเนียจำนวนมาก ก็วิพากษ์วิจารณ์มาตรการควบคุมอันเข้มงวดสุดโหดของไอเอ็มเอฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามไม่ให้มีการลดภาษี หอการค้าอาร์เมีย (Armenian Chamber of Commerce), สหภาพนักอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต (Union of Industrialists and Manufactures) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ประกอบการที่ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกส่งถึง กุยเยร์โม โตโลซา (Guillermo Tolosa) ผู้แทนไอเอ็มเอฟประจำอาร์เมเนีย จดหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่าการห้ามปรามไม่ยอมให้มีการลดหย่อนภาษี จะส่งผลเสียหายต่อการผลิตและการสร้างนวัตกรรม (โตโลซาดูเหมือนจะไม่ยอมรับข้อโต้แย้งเช่นนี้ โดยเขาตั้งข้อสังเกตอย่างเผ็ดร้อนว่า ปัจจุบันอาร์เมเนียคือชาติที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่ำที่สุดถัดขึ้นมาจากทาจิกิสถานเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศที่เคยสังกัดอยู่ในสหภาพโซเวียตด้วยกัน)

กุร์เกน อาร์เซเนียน (Gurgen Arsenian) นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา และในปัจจุบันนั่งเป็นประธานอยู่ในบริษัทบุหรี่ที่เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างอาร์เมเนียกับไซปรัสรายหนึ่ง เขาให้ความเห็นว่าธุรกิจของตัวเขาตลอดจนของคนอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพคล้ายคลึงกัน ต่างไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการเข้ามาแทรกแซงของไอเอ็มเอฟ ทั้งๆ ที่กองทุนให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ว่าจะส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่น

“ผมแน่ใจมากว่ามาตรการเหล่านี้รังแต่จะทำให้ทรัพยากรที่กู้มาหมดเปลืองไปเปล่าๆ เท่านั้น” เขาบอก “มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรจริงๆ ขึ้นในอาร์เมเนียเลย มาตรการพวกเนี้ไม่ได้ส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอาร์เมเนีย, ไม่ได้สนับสนุนเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจอาร์เมเนีย, รวมทั้งไม่ได้ทำให้ระบบภายในต่างๆ ของเรามีเสถียรภาพ”

รายงานข่าวชิ้นนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี (Radio Free Europe/Radio Liberty) เขียนขึ้นโดยได้รับรายงานสมทบเพิ่มเติมมาจาก โอเลนา เรมอฟสกา (Olena Removska) และ มืย์โคลา ซาคาลิวจนี (Mykola Zakalyuzhny) ในกรุงเคียฟ, ริอัซ มูซาเคล (Riaz Musakhel) ในกรุงอิสลามาบัด, รูเบน เมโลยัน (Ruben Meloyan) และ ซูเรน มูซาเยลยัน (Suren Musayelyan) ในกรุงเยเรวาน, และ ฮีเธอร์ มาเฮอร์ (Heather Maher) ในกรุงวอชิงตัน

เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น