(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
China ponders this royal business
By Antoaneta Becker
18/05/2011
ความสำเร็จของพระราชพิธีเสกสมรสในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สร้างความสนใจใคร่เรียนรู้ขึ้นในประเทศจีน ในขณะที่แดนมังกรเองก็กำลังดิ้นรนมองหาวิธีการที่จะสามารถผสมผสานภาพลักษณ์ในอดีตและในปัจจุบันของตนเข้าด้วยกันเพื่อการแผ่ขยายอิทธิพลบารมีในเชิงวัฒนธรรม อย่างที่เรียกกันว่า “อำนาจละมุน” (soft power) ทั้งนี้ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในความพยายามทางด้านการประชาสัมพันธ์ของจีนในช่วงระยะไม่นานที่ผ่านมา เป็นต้นว่า การที่ปักกิ่งต้องรีบนำรูปปั้นขนาดมหึมาของขงจื้อออกมาจากมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินทั้งที่เพิ่งนำออกมาโชว์ได้ไม่กี่เดือน ตลอดจนแผนโฆษณาประเทศครั้งใหญ่ด้วยการฉายภาพเหล่าคนดังชาวจีนยุคปัจจุบันบนจอภาพยักษ์ขนาดแผ่นป้ายบิลบอร์ดรวม 6 จอในนครนิวยอร์กเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นที่ฮือฮาอะไรเอาเลย เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าแดนมังกรยังประสบความยากลำบากอยู่มาก ไม่ว่าในการโอ่อวดอดีตหรือการนำเสนอปัจจุบันของตน
ปักกิ่ง - เสน่ห์ประทับใจของพระราชพิธีเสกสมรสในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังค่อยๆ ลบเลือนลับหายไปในประเทศจีน แต่ดูเหมือนว่ามันจะได้เปิดประตูให้แก่การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับพลังดึงดูดของ “อำนาจละมุน” (soft power) ของอังกฤษแห่งอดีต และส่วนที่ยังขาดหายไปซึ่งทำให้จีนยังไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้
ชุดเจ้าสาวผ้าลูกไม้สีขาว และชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศของราชวงศ์อังกฤษ ดูไม่น่าที่จะถึงกับกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเสาะแสวงค้นหาจิตวิญญาณ สำหรับแดนมังกรที่สามารถเติบโตขยายตัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว และกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือ ในฐานะของอภิมหาอำนาจรายหนึ่งในยุคอินเทอร์เน็ต
แต่กระนั้น ตามบล็อกและบทความต่างๆ คนจีนจำนวนมากก็เขียนด้วยความรู้สึกชื่นชมยกย่อง ในเรื่องจำนวนผู้เฝ้าชมทางโทรทัศน์ที่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม กับ เคต มิดเดิลตัน สามารถเปล่งมนตร์ดึงดูดเรียกออกมาได้ (มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,400 ล้านคน โดยที่มีรายงานด้วยว่าผู้ชมเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวก็คือคนจีนนี่เอง) พวกเขายังเขียนเกี่ยวกับความสามารถของธุรกิจต่างๆ ในอังกฤษ ในการเปลี่ยนแปรความซาบซึ้งตรึงใจต่อการเสกสมรสของเจ้าชายหนุ่มสมาร์ทกับสามัญชนสาวสวยสง่า ให้กลายเป็นสินค้าสะสมร้อยแปดพันเก้า ตลอดจนของที่ระลึก, รายได้จากนักท่องเที่ยว, และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้เป็นจุดสนใจอย่างยาวนานของผู้คนทั่วโลก
“ตัวฉันเหมือนทากาวติดแน่นเอาไว้กับทีวีและกับคอมพิวเตอร์ของฉันตลอดวันนั้น” แม็กกี อู๋ (Maggie Wu) นายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ผู้ชอบวาดฝันอยู่เป็นประจำว่าจะได้ไปศึกษาต่อในอังกฤษ บอกเล่าความรู้สึก “มันก็เป็นแบบเดียวกับพวกละครซีรีส์ทางทีวีของไต้หวันพวกนั้น ที่พวกเราเคยเฝ้าดูกันในมหาวิทยาลัยคืนแล้วคืนเล่า เพื่อติดตามเรื่องราวของหญิงสาวสามัญธรรมดาที่สามารถคว้าลูกชายนายทุนทรงอิทธิพลมาเป็นคู่ครอง เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง” แม็กกีบอกด้วยว่า เธอจะใช้เงินค่าคอมมิชชั่นที่เก็บหอมรอมริบมาได้ไปในการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกของเธอ ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ประเทศที่เธอตั้งใจจะไปก็คืออังกฤษ
ไชน่า ไทมส์ (China Times) เขียนเอาไว้ยาวเหยียดทีเดียวในประเด็นเรื่อง “เศรษฐกิจว่าด้วยพิธีเสกสมรส” ขณะที่ ไชน่า บิสซิเนส เจอร์นัล (China Business Journal) เชื้อเชิญพวกผู้เชี่ยวชาญมาประเมินผลที่เกิดขึ้นมาจากพิธีเสกสมรส โดยมองพิธีนี้ในฐานะที่เป็น “พลังขับดันเชิงพาณิชย์เพื่อยุคดิจิตอล”
“นอกเหนือจากการเป็นวาระอันดีสำหรับพระราชวงศ์อังกฤษที่จะโปรโมตชื่อเสียงของตนในต่างแดนแล้ว มันยังเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่หาได้ยากสำหรับประเทศอังกฤษที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นประจักษ์ว่า ตนเองยังมีอะไรอื่นๆ อีกนอกเหนือจาก แฮรี พอตเตอร์” เฟมินา (Femina) นิตยสารสำหรับผู้หญิง หยอดแกมหยิกเอาไว้เช่นนี้
ยังมีสื่อมวลชนใจกล้ากว่านี้ที่ทำการสืบสาวเจาะประเด็นลึกลงไปอีก นิตยสาร เดอะ ไลฟ์ (The Life) รายสัปดาห์ อุทิศหน้ากระดาษ 10 หน้าเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับอำนาจละมุนอันยั่งยืนมั่นคงยิ่งของ “จักรวรรดิเก่า” รายนี้ โดยขุดค้นย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ และพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ราชวงศ์นี้ยังคงมีมนตร์เรียกร้องความสนใจได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
ไข่ซิน เน็ต (Kaixin net) ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตของจีน ที่เปิดเพจเกี่ยวกับพระราชพิธีเสกสมรสขึ้นมาโดยเฉพาะ ปรากฏว่าในวันพระราชพิธีมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมมากกว่า 1.6 ล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นจำนวน 110,000 ความเห็น
“ผมคิดว่าการที่พิธีนี้สร้างความประทับใจให้คนจีนได้อย่างมากมายถึงขนาดนี้ เป็นเพราะพิธีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า อังกฤษสามารถที่จะโอบอุ้มรับเอาทั้งอดีตและอนาคตเข้ามา และมีความรู้สึกภาคภูมิใจต่อทั้งสองอย่างนี้เท่าเทียมกัน” เป็นความเห็นของ หลี่ กวงเต้า (Li Guangdou) ผู้ชอบแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประดาเซเลบคนดังของจีน รวมทั้งสิ่งที่เขาประดิษฐ์คิดคำขึ้นมาเรียกขานว่า “แบรนด์แห่งชาติของจีน” (China national brand)
พระราชพิธีเสกสมรสของอังกฤษคราวนี้ จัดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่จีนก็กำลังพยายามที่จะแพร่ขยายอำนาจละมุนของตนเองอยู่เช่นกัน ทว่ายังดูไม่มีความแน่นอนชัดเจนเอาเสียเลยว่าแดนมังกรต้องการที่จะแสดงภาพลักษณ์เช่นไรต่อโลกภายนอก ก่อนหน้านี้ในปีนี้ จีนได้เปิดการรณรงค์ทางด้านประชาสัมพันธ์อย่างใหญ่โตโอฬาร โดยฉายวิดีโอโปรโมชั่นบนจอภาพใหญ่ยักษ์ขนาดป้ายโฆษณาบิลบอร์ดถึง 6 จอ ในบริเวณจัตุรัสไทมส์สแควร์ ของมหานครนิวยอร์ก
ภาพอันสดใสบนจอเหล่านี้มุ่งเสนอให้เห็นรูปลักษณ์ของชาติที่มีความเก่าแก่ยิ่งอย่างจีน โดยผ่านทางภาพพอตเตรทของบรรดาคนดังในยุคใหม่ของจีนรวม 50 คน ตั้งแต่พวกนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวด ไปจนถึงพรีเซนเตอร์ทางทีวี ทว่าส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก บุคคลที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนจากบรรดาภาพคนดังเหล่านี้ ก็คือใบหน้าของพวกอาร์ตติสต์จีนอย่างเช่น อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ซึ่งความรู้ความสามารถของพวกเขาเป็นที่ยกย่องนับถือกันในโลกตะวันตก ทว่ากลับสร้างความระคายเคืองให้แก่พวกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการประกาศเพรียกหาสิทธิมนุษยชนบนผืนแผ่นดินใหญ่แดนมังกร
นอกจากนั้น ปักกิ่งยังอยู่ในอาการสองจิตสองใจในเรื่องที่ว่า ประวัติศาสตร์ควรมีบทบาทแค่ไหนและควรมีบทบาทอย่างไร ในการรณรงค์รุกคืบด้วยการโปรยปรายมนตร์เสน่ห์เพื่อเอาชนะใจโลกภายนอกเช่นนี้
ความพยายามเมื่อไม่นานมานี้ที่จะให้ ขงจื๊อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตกาลของจีน ได้มีที่มีทางอยู่เคียงข้างบรรดาชาวคอมมิวนิสต์ผู้เป็นบิดาสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้นมา มีอันต้องถูกเก็บพับกลับเข้าตู้ไปอย่างรวดเร็วยิ่ง ทั้งนี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเอารูปปั้นขนาดมหึมาของขงจื๊อ ออกมาติดตั้ง ณ บริเวณมหาจัตรุรัสเทียนอันเหมิน อันถือเป็นพื้นที่หัวใจทางด้านการเมืองของปักกิ่ง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งศพที่ได้รับการรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีของประธานเหมาเจ๋อตง แต่พอถึงเดือนเมษายน รูปปั้นดังกล่าวก็ได้อันตรธานหายไป
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า รูปปั้นนี้ถูกเคลื่อนย้ายออกไป เนื่องจากปฏิกิริยาคัดค้านหนักของสาธารณชนต่อแนวความคิดที่จะให้ถือว่าจีนเป็นรัฐของผู้นับถือลัทธิขงจื๊อ หรือว่ามันเป็นผลพวงของการอภิปรายโต้เถียงกันภายในแวดวงชาวพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากที่พบเห็นกันว่าในแต่ละวันมีผู้คนหลายๆ สิบคนทีเดียว ไปคุกเข่าคำนับรูปปั้นนี้ด้วยความเคารพนับถือ
ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ (Global Times) ในจำนวนผู้คน 220,000 รายที่ตอบแบบสอบถามทางสื่อออนไลน์ที่จัดทำโดยเว็บไซต์ people.com.cn มีถึง 70% ทีเดียวที่ประกาศตัวคัดค้านการตั้งรูปปั้นขงจื๊อที่เทียนอันเหมิน
เมื่อถูกสอบถามว่าควรนำเอารูปปั้นนี้กลับมาไว้ในมหาจัตุรัสอีกหรือไม่ อี้ ตง (Yi Dong) นักออกแบบเว็บไซต์ ผู้กำลังอยู่ในเทียนอันหมินพร้อมกับครอบครัวของเขา เพื่อเที่ยวชมงานเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม ก็รีบตอบทันทีว่าไม่ควร “ขงจื๊อควรที่จะอยู่ในวัดของเขา เขาเป็นนักปราชญ์ และผู้คนควรที่จะพินิจพิจารณาคำสอนของเขาในบรรยากาศแห่งความสงบสันติ ผมไม่คิดว่ารูปปั้นของเขาสามารถที่จะเป็นตัวแทนของสิ่งที่จีนแห่งยุคใหม่กำลังเป็นอยู่ได้หรอก” อี้บอก
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศเวลานี้ การแผ่ขยายอำนาจละมุนในรูปแบบใหม่ๆ ของจีน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาอย่างจริงจังแรงกล้าตั้งแต่ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 กำลังมีอัตราความเร็วเพิ่มขึ้นทุกทีๆ รายการศิลปะการแสดงและละครของจีน กำลังกลายเป็นรายการที่ได้รับความสำคัญอย่างสูง ณ งานเทศกาลศิลปะอันมีชื่อเสียงเกียรติภูมิยิ่งของอังกฤษในปีนี้ทั้ง 2 งาน นั่นคือ ทั้งที่เทศกาลเมืองเอดินบะระ และเทศกาลในซัลส์เบอรี นอกจากนั้นจีนยังกลายเป็นธีมหลักของงานนิทรรศการหนังสือแห่งลอนดอน (London Book Fair) ในปีหน้าอีกด้วย
ระหว่างไปกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมจีน (China Association) ในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนที่แล้ว มาร์ติน เดวิดสัน (Martin Davidson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริติช เคาน์ซิล (British Council) ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อดูกันในด้านงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ความพยายามของจีนในการแพร่ขยายอำนาจละมุน อยู่ในระดับที่ทัดเทียมและกระทั่งแซงหน้าความพยายามในเรื่องนี้ของอังกฤษไปแล้ว
บริติช เคาน์ซิล ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษ และการทำให้ประเพณีวัฒนธรรมอันเลอเลิศของอังกฤษกลายเป็นที่แพร่หลายยอมรับของประชาชนวงกว้าง มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930 แล้ว และเวลานี้สามารถจัดตั้งศูนย์สอนภาษาขึ้นในประเทศต่างๆ ประมาณ 42 ประเทศ แต่ทว่า สถาบันขงจื๊อ ซึ่งเป็นองค์กรของจีนที่มีภารกิจทำนองเดียวกัน แม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 7 ปี แต่เวลานี้ได้เปิดสาขาและมีห้องสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆ มากกว่า 80 ประเทศแล้ว
สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
China ponders this royal business
By Antoaneta Becker
18/05/2011
ความสำเร็จของพระราชพิธีเสกสมรสในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สร้างความสนใจใคร่เรียนรู้ขึ้นในประเทศจีน ในขณะที่แดนมังกรเองก็กำลังดิ้นรนมองหาวิธีการที่จะสามารถผสมผสานภาพลักษณ์ในอดีตและในปัจจุบันของตนเข้าด้วยกันเพื่อการแผ่ขยายอิทธิพลบารมีในเชิงวัฒนธรรม อย่างที่เรียกกันว่า “อำนาจละมุน” (soft power) ทั้งนี้ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในความพยายามทางด้านการประชาสัมพันธ์ของจีนในช่วงระยะไม่นานที่ผ่านมา เป็นต้นว่า การที่ปักกิ่งต้องรีบนำรูปปั้นขนาดมหึมาของขงจื้อออกมาจากมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินทั้งที่เพิ่งนำออกมาโชว์ได้ไม่กี่เดือน ตลอดจนแผนโฆษณาประเทศครั้งใหญ่ด้วยการฉายภาพเหล่าคนดังชาวจีนยุคปัจจุบันบนจอภาพยักษ์ขนาดแผ่นป้ายบิลบอร์ดรวม 6 จอในนครนิวยอร์กเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นที่ฮือฮาอะไรเอาเลย เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าแดนมังกรยังประสบความยากลำบากอยู่มาก ไม่ว่าในการโอ่อวดอดีตหรือการนำเสนอปัจจุบันของตน
ปักกิ่ง - เสน่ห์ประทับใจของพระราชพิธีเสกสมรสในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังค่อยๆ ลบเลือนลับหายไปในประเทศจีน แต่ดูเหมือนว่ามันจะได้เปิดประตูให้แก่การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับพลังดึงดูดของ “อำนาจละมุน” (soft power) ของอังกฤษแห่งอดีต และส่วนที่ยังขาดหายไปซึ่งทำให้จีนยังไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้
ชุดเจ้าสาวผ้าลูกไม้สีขาว และชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศของราชวงศ์อังกฤษ ดูไม่น่าที่จะถึงกับกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเสาะแสวงค้นหาจิตวิญญาณ สำหรับแดนมังกรที่สามารถเติบโตขยายตัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว และกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือ ในฐานะของอภิมหาอำนาจรายหนึ่งในยุคอินเทอร์เน็ต
แต่กระนั้น ตามบล็อกและบทความต่างๆ คนจีนจำนวนมากก็เขียนด้วยความรู้สึกชื่นชมยกย่อง ในเรื่องจำนวนผู้เฝ้าชมทางโทรทัศน์ที่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม กับ เคต มิดเดิลตัน สามารถเปล่งมนตร์ดึงดูดเรียกออกมาได้ (มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,400 ล้านคน โดยที่มีรายงานด้วยว่าผู้ชมเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวก็คือคนจีนนี่เอง) พวกเขายังเขียนเกี่ยวกับความสามารถของธุรกิจต่างๆ ในอังกฤษ ในการเปลี่ยนแปรความซาบซึ้งตรึงใจต่อการเสกสมรสของเจ้าชายหนุ่มสมาร์ทกับสามัญชนสาวสวยสง่า ให้กลายเป็นสินค้าสะสมร้อยแปดพันเก้า ตลอดจนของที่ระลึก, รายได้จากนักท่องเที่ยว, และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้เป็นจุดสนใจอย่างยาวนานของผู้คนทั่วโลก
“ตัวฉันเหมือนทากาวติดแน่นเอาไว้กับทีวีและกับคอมพิวเตอร์ของฉันตลอดวันนั้น” แม็กกี อู๋ (Maggie Wu) นายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ผู้ชอบวาดฝันอยู่เป็นประจำว่าจะได้ไปศึกษาต่อในอังกฤษ บอกเล่าความรู้สึก “มันก็เป็นแบบเดียวกับพวกละครซีรีส์ทางทีวีของไต้หวันพวกนั้น ที่พวกเราเคยเฝ้าดูกันในมหาวิทยาลัยคืนแล้วคืนเล่า เพื่อติดตามเรื่องราวของหญิงสาวสามัญธรรมดาที่สามารถคว้าลูกชายนายทุนทรงอิทธิพลมาเป็นคู่ครอง เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง” แม็กกีบอกด้วยว่า เธอจะใช้เงินค่าคอมมิชชั่นที่เก็บหอมรอมริบมาได้ไปในการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกของเธอ ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ประเทศที่เธอตั้งใจจะไปก็คืออังกฤษ
ไชน่า ไทมส์ (China Times) เขียนเอาไว้ยาวเหยียดทีเดียวในประเด็นเรื่อง “เศรษฐกิจว่าด้วยพิธีเสกสมรส” ขณะที่ ไชน่า บิสซิเนส เจอร์นัล (China Business Journal) เชื้อเชิญพวกผู้เชี่ยวชาญมาประเมินผลที่เกิดขึ้นมาจากพิธีเสกสมรส โดยมองพิธีนี้ในฐานะที่เป็น “พลังขับดันเชิงพาณิชย์เพื่อยุคดิจิตอล”
“นอกเหนือจากการเป็นวาระอันดีสำหรับพระราชวงศ์อังกฤษที่จะโปรโมตชื่อเสียงของตนในต่างแดนแล้ว มันยังเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่หาได้ยากสำหรับประเทศอังกฤษที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นประจักษ์ว่า ตนเองยังมีอะไรอื่นๆ อีกนอกเหนือจาก แฮรี พอตเตอร์” เฟมินา (Femina) นิตยสารสำหรับผู้หญิง หยอดแกมหยิกเอาไว้เช่นนี้
ยังมีสื่อมวลชนใจกล้ากว่านี้ที่ทำการสืบสาวเจาะประเด็นลึกลงไปอีก นิตยสาร เดอะ ไลฟ์ (The Life) รายสัปดาห์ อุทิศหน้ากระดาษ 10 หน้าเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับอำนาจละมุนอันยั่งยืนมั่นคงยิ่งของ “จักรวรรดิเก่า” รายนี้ โดยขุดค้นย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ และพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ราชวงศ์นี้ยังคงมีมนตร์เรียกร้องความสนใจได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
ไข่ซิน เน็ต (Kaixin net) ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตของจีน ที่เปิดเพจเกี่ยวกับพระราชพิธีเสกสมรสขึ้นมาโดยเฉพาะ ปรากฏว่าในวันพระราชพิธีมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมมากกว่า 1.6 ล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นจำนวน 110,000 ความเห็น
“ผมคิดว่าการที่พิธีนี้สร้างความประทับใจให้คนจีนได้อย่างมากมายถึงขนาดนี้ เป็นเพราะพิธีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า อังกฤษสามารถที่จะโอบอุ้มรับเอาทั้งอดีตและอนาคตเข้ามา และมีความรู้สึกภาคภูมิใจต่อทั้งสองอย่างนี้เท่าเทียมกัน” เป็นความเห็นของ หลี่ กวงเต้า (Li Guangdou) ผู้ชอบแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประดาเซเลบคนดังของจีน รวมทั้งสิ่งที่เขาประดิษฐ์คิดคำขึ้นมาเรียกขานว่า “แบรนด์แห่งชาติของจีน” (China national brand)
พระราชพิธีเสกสมรสของอังกฤษคราวนี้ จัดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่จีนก็กำลังพยายามที่จะแพร่ขยายอำนาจละมุนของตนเองอยู่เช่นกัน ทว่ายังดูไม่มีความแน่นอนชัดเจนเอาเสียเลยว่าแดนมังกรต้องการที่จะแสดงภาพลักษณ์เช่นไรต่อโลกภายนอก ก่อนหน้านี้ในปีนี้ จีนได้เปิดการรณรงค์ทางด้านประชาสัมพันธ์อย่างใหญ่โตโอฬาร โดยฉายวิดีโอโปรโมชั่นบนจอภาพใหญ่ยักษ์ขนาดป้ายโฆษณาบิลบอร์ดถึง 6 จอ ในบริเวณจัตุรัสไทมส์สแควร์ ของมหานครนิวยอร์ก
ภาพอันสดใสบนจอเหล่านี้มุ่งเสนอให้เห็นรูปลักษณ์ของชาติที่มีความเก่าแก่ยิ่งอย่างจีน โดยผ่านทางภาพพอตเตรทของบรรดาคนดังในยุคใหม่ของจีนรวม 50 คน ตั้งแต่พวกนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวด ไปจนถึงพรีเซนเตอร์ทางทีวี ทว่าส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก บุคคลที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนจากบรรดาภาพคนดังเหล่านี้ ก็คือใบหน้าของพวกอาร์ตติสต์จีนอย่างเช่น อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ซึ่งความรู้ความสามารถของพวกเขาเป็นที่ยกย่องนับถือกันในโลกตะวันตก ทว่ากลับสร้างความระคายเคืองให้แก่พวกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการประกาศเพรียกหาสิทธิมนุษยชนบนผืนแผ่นดินใหญ่แดนมังกร
นอกจากนั้น ปักกิ่งยังอยู่ในอาการสองจิตสองใจในเรื่องที่ว่า ประวัติศาสตร์ควรมีบทบาทแค่ไหนและควรมีบทบาทอย่างไร ในการรณรงค์รุกคืบด้วยการโปรยปรายมนตร์เสน่ห์เพื่อเอาชนะใจโลกภายนอกเช่นนี้
ความพยายามเมื่อไม่นานมานี้ที่จะให้ ขงจื๊อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตกาลของจีน ได้มีที่มีทางอยู่เคียงข้างบรรดาชาวคอมมิวนิสต์ผู้เป็นบิดาสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้นมา มีอันต้องถูกเก็บพับกลับเข้าตู้ไปอย่างรวดเร็วยิ่ง ทั้งนี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเอารูปปั้นขนาดมหึมาของขงจื๊อ ออกมาติดตั้ง ณ บริเวณมหาจัตรุรัสเทียนอันเหมิน อันถือเป็นพื้นที่หัวใจทางด้านการเมืองของปักกิ่ง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งศพที่ได้รับการรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีของประธานเหมาเจ๋อตง แต่พอถึงเดือนเมษายน รูปปั้นดังกล่าวก็ได้อันตรธานหายไป
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า รูปปั้นนี้ถูกเคลื่อนย้ายออกไป เนื่องจากปฏิกิริยาคัดค้านหนักของสาธารณชนต่อแนวความคิดที่จะให้ถือว่าจีนเป็นรัฐของผู้นับถือลัทธิขงจื๊อ หรือว่ามันเป็นผลพวงของการอภิปรายโต้เถียงกันภายในแวดวงชาวพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากที่พบเห็นกันว่าในแต่ละวันมีผู้คนหลายๆ สิบคนทีเดียว ไปคุกเข่าคำนับรูปปั้นนี้ด้วยความเคารพนับถือ
ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ (Global Times) ในจำนวนผู้คน 220,000 รายที่ตอบแบบสอบถามทางสื่อออนไลน์ที่จัดทำโดยเว็บไซต์ people.com.cn มีถึง 70% ทีเดียวที่ประกาศตัวคัดค้านการตั้งรูปปั้นขงจื๊อที่เทียนอันเหมิน
เมื่อถูกสอบถามว่าควรนำเอารูปปั้นนี้กลับมาไว้ในมหาจัตุรัสอีกหรือไม่ อี้ ตง (Yi Dong) นักออกแบบเว็บไซต์ ผู้กำลังอยู่ในเทียนอันหมินพร้อมกับครอบครัวของเขา เพื่อเที่ยวชมงานเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม ก็รีบตอบทันทีว่าไม่ควร “ขงจื๊อควรที่จะอยู่ในวัดของเขา เขาเป็นนักปราชญ์ และผู้คนควรที่จะพินิจพิจารณาคำสอนของเขาในบรรยากาศแห่งความสงบสันติ ผมไม่คิดว่ารูปปั้นของเขาสามารถที่จะเป็นตัวแทนของสิ่งที่จีนแห่งยุคใหม่กำลังเป็นอยู่ได้หรอก” อี้บอก
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศเวลานี้ การแผ่ขยายอำนาจละมุนในรูปแบบใหม่ๆ ของจีน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาอย่างจริงจังแรงกล้าตั้งแต่ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 กำลังมีอัตราความเร็วเพิ่มขึ้นทุกทีๆ รายการศิลปะการแสดงและละครของจีน กำลังกลายเป็นรายการที่ได้รับความสำคัญอย่างสูง ณ งานเทศกาลศิลปะอันมีชื่อเสียงเกียรติภูมิยิ่งของอังกฤษในปีนี้ทั้ง 2 งาน นั่นคือ ทั้งที่เทศกาลเมืองเอดินบะระ และเทศกาลในซัลส์เบอรี นอกจากนั้นจีนยังกลายเป็นธีมหลักของงานนิทรรศการหนังสือแห่งลอนดอน (London Book Fair) ในปีหน้าอีกด้วย
ระหว่างไปกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมจีน (China Association) ในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนที่แล้ว มาร์ติน เดวิดสัน (Martin Davidson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริติช เคาน์ซิล (British Council) ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อดูกันในด้านงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ความพยายามของจีนในการแพร่ขยายอำนาจละมุน อยู่ในระดับที่ทัดเทียมและกระทั่งแซงหน้าความพยายามในเรื่องนี้ของอังกฤษไปแล้ว
บริติช เคาน์ซิล ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษ และการทำให้ประเพณีวัฒนธรรมอันเลอเลิศของอังกฤษกลายเป็นที่แพร่หลายยอมรับของประชาชนวงกว้าง มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930 แล้ว และเวลานี้สามารถจัดตั้งศูนย์สอนภาษาขึ้นในประเทศต่างๆ ประมาณ 42 ประเทศ แต่ทว่า สถาบันขงจื๊อ ซึ่งเป็นองค์กรของจีนที่มีภารกิจทำนองเดียวกัน แม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 7 ปี แต่เวลานี้ได้เปิดสาขาและมีห้องสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆ มากกว่า 80 ประเทศแล้ว
สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส