เอเอฟพี / เอเจนซี - สิงคโปร์ซึ่งปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่แยกตัวออกจากสหพันธ์รัฐมาเลเซียเมื่อปี 1965 ส่งสัญญาณปฏิรูปการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรัฐบุรุษผู้ลีกวนยู และอดีตนายกรัฐมนตรีโก๊ะจ๊กตง ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเมื่อวันเสาร์ (14) หลังดำรงบทบาทสำคัญทางการเมืองอยู่เบื้องหลังโดยตลอด ความเคลื่อนไหวสำคัญดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงเอยด้วยการที่พรรคฝ่ายค้านสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซ้ำร้ายพรรคฝ่ายรัฐบาลเองยังได้คะแนนนิยมตกต่ำสุดอีกด้วย
หลังจากนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ลีกวนยู วัย 87 ปี และทายาททางการเมืองต่อจากเขา นายโก๊ะจ๊กตง ซึ่งอายุจะครบ 70 ปีในสัปดาห์หน้า ประกาศเมื่อวันเสาร์ (14) ที่ผ่านมาว่า จะลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของลีเซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายของลีกวนยูเองนั้น ก็ทำให้เหล่านักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลสิงคโปร์กำลังจะปฏิรูปการเมืองภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยเหตุผลหนึ่งก็เพื่อลดโทสะของประชาชนลง หลังพวกเขาไม่พอใจที่รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาสังคมหลายๆ ด้านได้
ในคำแถลงร่วมของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองนั้น ให้เหตุผลว่า การลาออกจากคณะรัฐมนตรีของพวกตน จะทำให้นายกฯ คนปัจจุบันสามารถฉีกแนวกฎเกณฑ์เดิมๆ จากอดีต และยังเป็นการเปิดทางแก่คนรุ่นหนุ่มสาวให้สามารถเข้ามาบริหารนำพาประเทศให้เจริญรุดหน้าต่อไปได้ภายใต้สภาวการณ์ที่ยากลำบากและซับซ้อนมากขึ้นนี้ ทั้งนี้เป็นที่คาดกันว่า ลีเซียนลุง จะฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสร็จสิ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า
แต่กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า เหตุการณ์สำคัญอันเป็นตัวเร่งให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ก็คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้พรรคพีเพิล แอ็กชัน ปาร์ตี้ (พีเอพี) ที่บริหารประเทศมายาวนานกว่า 50 ปี จะยังคงกำชัยชนะเด็ดขาดด้วยการกวาดที่นั่งในรัฐสภาได้ 81 จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง ทว่าก็สูญเสียที่นั่งแก่พรรคฝ่ายค้านถึง 6 ที่นั่ง ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มาพรรคฝ่ายค้านไม่เคยได้ที่นั่งในสภามากเกิน 4 ที่นั่งเลย นอกจากนี้ พรรคพีเอพียังได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพียง 60 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
“การตัดสินใจคราวนี้สะท้อนให้เห็นย่างก้าวสำคัญก้าวแรกที่พรรคพีเอพีจะปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง นั่นก็คือ การถ่ายเลือดสู่เจเรอเนชั่นใหม่” บริดเจต เวลช์ ศาสตราจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ แมเนจเมนต์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี
“ลีกวนยูเลยวัยเกษียณมานมนานแล้ว เมื่อเขาถูกมองว่าไม่ได้พูดจาภาษาเดียวกันกับชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่นี้” เวลช์ แสดงทัศนะ
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยูจีน ทัน จากสถาบันเดียวกัน ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า “การ (ที่รัฐบาล) ทำสิ่งต่างๆ ตามวิถีแบบเก่าๆ กำลังถูกมองว่าล้าสมัยขึ้นเรื่อยๆ แล้ว รวมถึงเป็นอะไรที่เอื้อมไม่ถึง หรือแม้แต่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการอีกด้วย”
ทั้งนี้ ลีกวนยู ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแดนลอดช่องมายาวนานตั้งแต่ปี 1959 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษมอบอำนาจให้สิงคโปร์ปกครองตนเอง เขาอยู่ในเก้าอี้จนกระทั่งถึงปี 1990 จากนั้นก็หลีกทางให้แก่โก๊ะจ๊กตง มารับช่วงต่อ ก่อนที่โก๊ะจะส่งผ่านอำนาจให้แก่บุตรชายของลีกวนยู คือ ลีเซียนลุง เมื่อปี 2004 โดยที่การเมืองสิงคโปร์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาล้วนมีเสถียรภาพ และแทบจะไม่มีเรื่องที่สร้างความหนักใจแก่พรรคพีเอพีเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ว่า ผลการเลือกตั้งที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ นี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเริ่มไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ อาทิ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, การแย่งงานจากชาวต่างชาติ, การกระจายรายได้ และการขาดนโยบายสนับสนุนพวกคนยากจนกับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ขณะที่ เซียะ เฉี่ยง นี้ (เสอ ฉาง เหนียน) ผู้ดำเนินงานเว็บไซต์วิพากษ์การเมืองและสังคมอิสระของสิงคโปร์ www.littlespeck.com ก็ให้ความเห็นว่า “ปฏิกิริยาของประชาชนสิงคโปร์ต่อปัญหาเหล่านี้ก็คือ พวกเขาโกรธพรรคพีเอพีเอามากๆ”
“จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นแน่ หนึ่งก็คือ ผู้คนจะได้ไม่ต้องเกรงกลัวกับการที่มีใครบางคนคอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลา หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี” เขากล่าว โดยที่หมายถึงคดีหมิ่นประมาทหลายๆ คดีที่มักมีขึ้นตามมาภายหลังการเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มา
ทว่า “สิ่งที่ผมอยากเห็นไม่ใช่เพียงแค่คำพูด แต่ต้องเป็นการกระทำจริง แล้วสิ่งที่นายกรัฐมนตรีลี (เซียนลุง) จะทำกับอำนาจใหม่ของเขานี้ คืออะไร” เขากล่าวทิ้งให้ขบคิด
ด้าน เคนเนธ เจยาเรตนัม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน รีฟอร์ม ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ.บี.เจยาเรตนัม นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยผู้ล่วงลับ แสดงความเห็นแกมเหน็บแนมเกี่ยวกับการที่อดีตผู้นำทั้งสองลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี แต่จะยังคงนั่งอยู่ในรัฐสภา ระบุว่า “นี่เป็นเพียงความเคลื่อนไหวเชิงประชาสัมพันธ์เพื่อแสดงให้เห็นการริเริ่มอะไรใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับผู้ใช้สิทธิออกเสียงที่จะบอกว่า พวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้”