xs
xsm
sm
md
lg

มาตามนัด! พรรครัฐบาล “สิงคโปร์” กำชัยเลือกตั้ง-แม้ฝ่ายค้านได้เสียงสูงสุดเป็นประวัติกาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนลุง (กลาง) พร้อมกับบรรดาสมาชิกพรรคพีเพิลส์ แอคชัน ปาร์ตี (พีเอพี) แถลงข่าวเมื่อช่วงวันนี้ (8) หลังทราบผลการเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลกวาดไปทั้งหมด 81 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายค้านมีเสียงเพียง 6 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม 6 เสียงดังกล่าวเป็นจำนวน ส.ส.มากที่สุดที่ฝ่ายค้านสิงคโปร์เคยได้รับเลือก
เอเอฟพี - พรรครัฐบาลสิงคโปร์กลับสู่อำนาจอีกหนึ่งคำรบ วันนี้ (8) ด้วยมติส่วนใหญ่ของประชาชนตามความคาดหมาย จากการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ (7) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ยอมรับออกมาว่า เสียงที่เพิ่มขึ้นของพรรคฝ่ายค้านนับเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” สำหรับการเมืองสิงคโปร์

พรรคพีเพิลส์ แอคชัน ปาร์ตี (พีเอพี) ทำหน้าที่บริหารประเทศมาตั้งแต่สมัยอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้ได้ปกครองตัวเองเมื่อปี 1959 ทว่าแม้จะได้ครองเสียงข้างมากในสภา แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพีเอพีได้รับคะแนนนิยมต่ำสุดเป็นประวัติกาล และยังสูญเสียที่นั่งในเขตสำคัญให้กับฝ่ายค้านที่กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกหน

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันเสาร์ (7) ที่ผ่านมา พรรคพีเอพีคว้ามาได้ 81 จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง ลดลงจากเดิมเล็กน้อย โดยการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2006 พรรครัฐบาลคว้ามาได้ 82 จากทั้งหมด 84 ที่นั่ง อนึ่ง ผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับการสำรวจความเห็นประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีคะแนนนิยมเพียง 60 เปอร์เซนต์ นับว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสิงคโปร์ โดยเมื่อปี 2006 พรรคพีเอพีมีคะแนนนิยม 67 เปอร์เซนต์ และปี 2001 มีคะแนนสูงถึง 75 เปอร์เซนต์

แม้ 6 เสียงในสภาของฝ่ายค้านอาจดูน้อยนิด แต่นี่คือจำนวน ส.ส.ที่มากที่สุด ตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศแยกตัวจากสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อปี 1965

ทั้งนี้ 4 วันก่อนการเลือกตั้ง ลีเซียนลุงได้ออกมาขอโทษขอโพยประชาชนในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ซึ่งถูกฝ่ายค้านและผู้มีสิทธิ์มีเสียงโจมตี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น การแข่งขันจากแรงงานและผู้อพยพต่างชาติ เงินเดือนที่สูงลิบของคณะรัฐมนตรี อีกทั้งความคับข้องใจเรื่องอื่นๆ

ด้านฝ่ายค้านจำเป็นต้องอาศัยสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นกำลังหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทิวบ์ เนื่องจากสื่อท้องถิ่นกระแสหลักถูกมองว่า เป็นกระบอกเสียงของพรรครัฐบาล

พรรคฝ่ายค้านจำนวน 6 พรรคต่างกระโดดลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีความหวังเลือนลางในการแบ่งเก้าอี้ ส.ส.มาจากพรรครัฐบาล บรรดาพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ให้ซ้ำกัน ป้องกันการตัดคะแนนกันเอง บังคับให้รัฐบาลต้องเผชิญศึกหลายด้าน

ทั้งนี้ ลีกวนยู ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพีเพิลส์ แอคชัน ปาร์ตี (พีเอพี) บิดาของ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน เคยปกครองสิงคโปร์มายาวนานถึง 31 ปี และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาได้รับเลือกกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง จากการลงเลือกตั้งในเขตตันจงปาการ์ ซึ่งไม่มีผู้สมัครจากพรรคใดลงแข่งขัน จึงชนะการเลือกตั้งไปโดยปริยาย

พรรคพีเอพีหาเสียงด้วยนโยบายและตัวเลขทางเศรษฐกิจ จูงใจให้ประชาชนชาวสิงคโปร์เลือกกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการควบคุมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ยกเว้นระหว่างช่วงเลือกตั้งเท่านั้น







คลิปหาเสียงของพรรคสิงคโปร์ เดโมเครติก ปาร์ตี (เอสดีพี) หนึ่งในพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ที่เผยแพร่อยู่ในยูทิวบ์ อีกหนึ่งวิธีหาเสียงเพื่อต่อกรกับรัฐบาล ทั้งนี้สื่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของบรรดาฝ่ายค้าน เนื่องจากสื่อท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของพรรคพีเพิลส์ แอคชัน ปาร์ตี (พีเอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น