xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นทำท่าแผ่ลามไปทั่วโลก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วิกเตอร์ คอตเซฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan nuclear crisis goes global
By Victor Kotsev
15/04/2011

รัฐบาลในหลายๆ ประเทศยืนยันเรื่อยมาว่า ไม่มีความเสี่ยงอะไรจากกัมมันตภาพรังสีที่กำลังแพร่กระจายออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น แต่แล้วกลับกำลังมีรายงานซึ่งชี้ไปในทางตรงกันข้ามปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มที่ญี่ปุ่นทำท่าจะหันไปสาละวนอยู่แต่ภายในประเทศของตนเองมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า ย่อมต้องส่งผลสะท้อนในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรุนแรงทีเดียวทั้งต่อเอเชียและต่อภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติคราวนี้ยังกำลังเป็นภัยคุกคามต่อส่วนรากฐานของระบบระหว่างประเทศปัจจุบันอีกด้วย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นยังกำลังพิจารณาที่จะขยายเขตพื้นที่อพยพซึ่งปัจจุบันคือเขตรัศมี 20 กิโลเมตรรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ โดยให้เลยออกไปอีกสักสองสามกิโลเมตร ถ้าหากมีการขยายพื้นที่กันตามนี้จริงๆ มันก็จะยังคงห่างไกลนักจากสิ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเสนอแนะกันไว้ (เป็นต้นว่า สหรัฐฯได้แนะนำให้พลเมืองของตนอย่าได้เข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ภายในรัศมี 80 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าด้วยซ้ำ) ทว่าในญี่ปุ่นเองนั้น กระทั่งเพิ่มขึ้นมาเพียงไม่กี่กิโลเมตรดังกล่าว มันก็ก่อให้เกิดการถกเถียงขัดแย้งกันอย่างมากมายเสียแล้ว

เวลานี้หลายๆ ฝ่ายในญี่ปุ่นเกิดความวิตกกังวลกันมากว่า พื้นที่แถบนี้กำลังจะกลายเป็น “ดินแดนไร้มนุษย์พำนักอาศัย” อย่างยาวนาน และผู้เฒ่าวัย 102 ปีที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ แห่งหนึ่ง ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในวันอังคาร (12) เนื่องจากหวั่นหวาดว่าเขาจะต้องพรากจากบ้านเกิดของตัวเอง

พวกผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดเก็งกันว่า ในที่สุดแล้ว “ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากการใช้คอนกรีตเทถมทับเตาปฏิกรณ์เหล่านี้” อันเป็นวิธีการซึ่งนำมาใช้ ณ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อน ทว่าตามรายงานชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวรอยเตอร์ แม้กระทั่งเมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกใช้วิธีนี้ มันก็จะดำเนินการได้อย่างลำบากลำบนยิ่งกว่าที่เชอร์โนบิลนักหนา [4] นอกจากนั้นการดำเนินการในลักษณะนี้ก็ยังไม่น่าที่จะป้องกันไม่ให้บังเกิด ดินแดนใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อย่างยาวนานเนื่องจากพิษนิวเคลียร์ ขึ้นมาใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ดี เนื่องจากพวกขยะนิวเคลียร์ที่ยังคงมีกัมมันตภาพรังสีระดับสูงๆ ปริมาณนับพันนับหมื่นตัน จะยังคงอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต่อไป โดยที่การปนเปื้อนรังสีก็จะยังคงแพร่กระจายออกไปสู่พื้นที่ภายนอกอย่างยาวนาน “พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการสะสางทำความสะอาดให้เสร็จสิ้นคงจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษทีเดียว” รายงานอีกชิ้นหนึ่งของรอยเตอร์ระบุ

ในรอบระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ ในอีกด้านหนึ่งเพิ่มเติมเข้ามาด้วย กล่าวคือ การที่ระดับกัมมันตภาพรังสีกำลังเพิ่มสูงขึ้นในตลอดทั่วโลก หรืออย่างน้อยที่สุดจนถึงเวลานี้สามารถพูดได้ว่า ระดับรังสีกำลังเพิ่มสูงขึ้นในแถบซีกโลกเหนือ องค์การคณะกรรมการเพื่อการวิจัยและข้อมูลข่าวสารอิสระว่าด้วยกัมมันตภาพรังสี หรือ CRIIRAD ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐบาล (non-governmental organization หรือ เอ็นจีโอ) สัญชาติฝรั่งเศสที่ทำงานเฝ้าติดตามการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ได้ระบุเตือนเอาไว้ในรายงานฉบับลงวันที่ 7 เมษายนของตนว่า มลพิษกัมมันตภาพรังสีจากฟูกูชิมะที่แพร่กระจายมาถึงยุโรปนั้น “ไม่ได้อยู่ในระดับเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไปแล้ว” องค์กรนี้แนะนำว่าสตรีมีครรภ์และเด็กๆ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์อย่างเช่น นม และผักที่มีใบใหญ่ รวมทั้งควรระมัดระวังในการดื่มน้ำซึ่งมาจากอ่างเก็บน้ำที่ได้น้ำมาด้วยการเก็บกักน้ำฝน [5]

“เนเชอรัล นิวส์” (Natural News) สื่อเอ็นจีโออเมริกันที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพแบบทางเลือก ก็ออกมาป่าวร้องว่า ในสหรัฐฯซึ่งเป็นจุดที่รังสีจากญี่ปุ่นจะตกลงใส่ก่อนยุโรปเสียอีกนั้น ปรากฏว่าตัวอย่างนมที่นำมาตรวจสอบเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ได้พบไอโอดีนกัมมันตรังสีในระดับสูงกว่าขั้นสูงสุดที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (US Environmental Protection Agency หรือ EPA) อนุญาตให้มีได้ถึงกว่า 300% ทีเดียว[6]

สื่อเอ็นจีโอรายนี้ยังเตือนด้วยว่า อีพีเออาจจะกำลังเร่งรีบขยับเพิ่มขีดอนุญาตสูงสุดของตนอยู่ เพื่อช่วยปกปิดอำพรางวิกฤต ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดก็มีหลักฐานแวดล้อมซึ่งสนับสนุนข้ออ้างข้อกล่าวหาเหล่านี้ เป็นต้นว่า เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มพันธมิตร “ลูกจ้างพนักงานภาครัฐเพื่อความรับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อม” (Public Employees for Environmental Responsibility ใช้อักษรย่อว่า PEER) ได้เป่านกหวีดเตือนภัยเนื่องจาก อีพีเอมีแผนการที่จะ “เพิ่มระดับรังสีที่อนุญาตให้มีอยู่ในน้ำดื่ม, อาหาร, และพื้นดิน ภายหลังเกิด ‘เหตุการณ์ทางรังสีวิทยา’ (radiological incidents) ขึ้นมา โดยจะเป็นการขยับเพิ่มตัวเลขขึ้นอย่างมากมายด้วย”[7]

ดังนั้น เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ต่างยังคงยืนยันว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ จากกัมมันตภาพรังสีที่กำลังแพร่กระจายออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น แต่กลับกำลังมีรายงานซึ่งชี้ไปในทางตรงกันข้ามปรากฏออกมาจากแหล่งต่างๆ หลายหลากมากขึ้นเรื่อยๆ พวกออกมาเตือนภัยซึ่งอยู่ในระดับมีความน่าเชื่อถือน่าไว้วางใจ จะพากันย้ำเตือนด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่แตกตื่นจนเกินเหตุ ทว่ามันก็สำคัญเช่นกันที่จะต้องใช้มาตรการแบบปลอดภัยเอาไว้ก่อน เป็นต้นว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลผลิตบางชนิด และหันไปหาอาหารซึ่งมีส่วนประกอบส่วนใหญ่มาจากปลายด้านล่างๆ ของห่วงโซ่อาหาร ทั้งนี้ สารพิษทั้งหลาย รวมทั้งสารเคมีที่มีกัมมันตภาพรังสีด้วย มักจะรวมศูนย์อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ ซึ่งจัดอยู่ในปลายด้านบนๆ ของห่วงโซ่อาหาร

ยังมีมิติอื่นๆ ของวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ซึ่งควรกล่าวถึง ได้แก่มิติทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดังที่ผมได้เคยรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว มีการประมาณการกันว่าความเสียหายในคราวนี้สูงสุดอาจจะไปถึงระดับ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว โดยที่ผลต่อเนื่องอันเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น น่าจะปรากฏขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้ เนื่องจากตามปกติแล้วฤดูร้อนคือระยะเวลาที่มีการบริโภคกระแสไฟฟ้ากันสูงขึ้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ “ยังคงมีปัจจัยความไม่แน่นอนมากมายเหลือเกิน เมื่อพูดถึงทิศทางอนาคตของญี่ปุ่น ... (แต่เราสามารถพูดได้ว่า) มีความเสี่ยงอย่างชัดเจนหนักแน่นไปในทิศทางขาลง” เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์

หากพิจารณาในแง่การเมืองภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานี้ดูเหมือนกับว่ามีเสถียรภาพ ทว่าอนาคตของรัฐบาลชุดนี้นั้นแม้กระทั่งพูดให้ดูดีที่สุดก็ยังบอกได้เพียงแค่ว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยที่ฝ่ายค้านได้ออกมาปฏิเสธคำขอร้องของพรรครัฐบาลที่ให้ร่วมกันจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมที่มีพื้นฐานกว้างขวางมั่นคงมากขึ้น ทั้งนี้ฝ่ายค้านยืนกรานว่านายกรัฐมนตรีควรจะต้องลาออกไปมากกว่า [8]

เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ยังไม่มีรายงานใดๆ ว่าวิกฤตนิวเคลียร์ในแดนอาทิตย์อุทัยไปสร้างผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญทางเศรษฐกิจนอกประเทศญี่ปุ่น แต่ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการไปว่า วิกฤตเช่นนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอื่นๆ ติดตามมาเอาเสียเลย ภาพสมมุติสถานการณ์แบบเลวร้ายที่สุดก็คือ ถ้าสถานการณ์เรื่องนี้เกิดปั่นป่วนผันผวนและกระจายแผ่ลามจนกระทั่งควบคุมกันไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายในเรื่องการสะสางทำความสะอาดก็จะต้องพุ่งทะยานสูงลิ่วตลอดทั่วทั้งโลก และการทรุดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นย่อมสามารถส่งผลคุกคามเสถียรภาพทางการเงินในระดับโลก

เฉพาะตัวอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เอง แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่การถดถอยลงแม้เพียงเล็กน้อยของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ซึ่งในทางปฏิบัติย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อยู่แล้ว) ก็มีหวังจะนำไปสู่การสับเปลี่ยน เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นต้องสูญเสียฐานะการเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกให้แก่จีน มาถึงตอนนี้แดนอาทิตย์อุทัยก็มีหวังจะต้องตกต่ำถอยลงไปอีก

ในด้านการเมือง เราก็สามารถคาดหมายได้ว่าจะต้องมีการสับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าญี่ปุ่นกำลังจะกลายเป็นชาติที่หันไปสาละวนอยู่แต่ภายในประเทศของตนเองมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า[9] และนี่ย่อมต้องส่งผลสะท้อนต่อการเมืองทั้งในเอเชียและในภูมิภาคอื่นๆ นักวิเคราะห์บางรายคาดเดาว่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นบททดสอบว่าโลกมีความพรักพร้อมเพียงใดที่จะเอาชนะความแตกต่างกันทางการเมืองและทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แล้วรวมตัวร่วมมือกันเป็นกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของมนุษยชาติ ถึงแม้ว่าในขั้นตอนขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่น่าไหลรูดเลวร้ายลงไปถึงเพียงนั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ส่วนฐานรากต่างๆ ของระบบระหว่างประเทศในปัจจุบัน จะถูกโยกคลอนและถูกปรับเปลี่ยน

หากเราจะหวนกลับมาพิจารณาถึงผลลัพธ์ต่างๆ ของวิกฤตคราวนี้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่มีหวังจะเกิดขึ้นมากกว่าการคาดเดาอย่างเลวร้ายสุดๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็มีอยู่ประการหนึ่งซึ่งพูดได้อย่างชัดๆ เลย นั่นคือ น้ำหนักอิทธิพลของยุโรปจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่น้ำหนักอิทธิพลของเยอรมนีภายในยุโรปก็จะสูงขึ้นเช่นกัน “เรื่องที่ชัดเจนมากก็คือ ถัดจากสหรัฐฯและจีนแล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นต้องถอยออกไปยืนข้างๆ เพราะประสบกับวิกฤตหลายซับหลายซ้อนของตนเองเช่นนี้ เยอรมนีย่อมต้องกลายเป็นมหาอำนาจที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก” เดวิด รอธคอปฟ์ (David Rothkopf) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy)

สภาพเช่นนี้จะต้องส่งผลกระทบต่อความสมดุลภายในยุโรปอย่างแน่นอน โดยเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในระหว่างพวกมหาอำนาจของยุโรปนั้นมีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี การแข่งขันชิงดีชิงเด่นดังกล่าวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากที่จะพยากรณ์คาดการณ์

กล่าวโดยสรุปแล้ว ขณะที่ในวิกฤตนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ มีปัจจัยซึ่งยังไม่ทราบอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งอันตรายอันใหญ่หลวงต่างๆ ก็ยังดำรงอยู่ แต่สิ่งซึ่งน่าจะเป็นที่กระจ่างชัดเจนที่สุดจากกรณีนี้ ก็คือ โลกของเราในปัจจุบันนั้นมีการต่อเชื่อมโยงใยระหว่างกันอย่างมากมายขนาดไหน และวิกฤตที่ไม่อาจทำนายได้ล่วงหน้านั้นสามารถก่อให้เกิดผลต่อเนื่องแผ่ลามออกไปได้กว้างไกลเพียงใด ถ้าหากจะถอดความสรุปเนื้อหาจากบทกวีของ จอห์น ดันน์ (John Donne) ก็คงพูดได้ว่า ไม่มีเกาะแห่งใดเลยที่เป็นเกาะอันโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง (no island is an island)

แน่นอนที่สุดว่า ยิ่งในยุคนิวเคลียร์ด้วยแล้ว มันจะไม่มีทางเป็นเช่นนั้นไปได้เลย

หมายเหตุ

4. Burial of Japan reactors trickier than Chernobyl: pump firm, Reuters, April 14, 2011.
5. Radiation risks from Fukushima 'no longer negligible', Euractiv, April 11, 2011.
6. Fukushima radiation taints US milk supplies at levels 300% higher than EPA maximums Natural News, April 11, 2011.
7. Radiation exposure debate rages inside EPA, , PEER, 5 April 2010.
8. Calls grow for Japan PM to quit in wake of quake Reuters, April 14, 2011.
9. The Island Nation Foreign Policy, March 24, 2011.

วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล

กำลังโหลดความคิดเห็น