xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต‘ฟูกูชิมะ’คือจุดเริ่ม‘ยุคน้ำแข็งแห่งพลังงานนิวเคลียร์’

เผยแพร่:   โดย: โคสุเกะ ทากาฮาชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Fukushima marks a ‘nuclear ice age’
By Kosuke Takahashi
04/04/2011

ในขณะที่วิกฤต ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่นไม่มีทีท่าจะยุติลงได้เมื่อใด มันก็ดูจะสายเกินไปเสียแล้วที่จะทำให้โลกยังคงมีความเชื่อมั่นในพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปอีก โดยที่มีรายงานข่าวการพิจารณาทบทวนด้านความปลอดภัย, การระงับโครงการ, ตลอดจนการปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูปรากฏขึ้นตลอดทั่วโลก ข่าวที่จัดได้ว่าเป็นข่าวดีอยู่บ้างเห็นจะเป็นเรื่องที่โรงงานแปรรูปนิวเคลียร์ที่โรกกาโชยังไม่ได้รับความเสียหายอะไร เพราะถ้าที่นั่นเกิดปัญหารั่วไหลอะไรขึ้นมาแล้ว มันก็ใหญ่โตมหึมาขนาดที่จะทำให้มีกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงถึงตายแพร่กระจายไปตลอดทั่วโลกได้ทีเดียว

โตเกียว - ยุคแห่งความเฟื่องฟูขึ้นมาใหม่ของพลังงานนิวเคลียร์ได้ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว ความตื่นตระหนกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เป็นเครื่องหมายการเริ่มต้นของ “ยุคน้ำแข็งแห่งพลังงานนิวเคลียร์”

วิกฤตนิวเคลียร์ที่ยังไม่อาจยุติลงได้ ณ โรงไฟฟ้าปรมาณูแห่งนี้ภายหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ กำลังสร้างผลกระทบกระเทือนต่อนโยบายพลังงานของแทบทุกประเทศที่กำลังใช้หรือมีดำริที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์

ในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าปรมาณู 432 โรงเปิดดำเนินการอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยที่มีเตาปฏิกรณ์ 66 หน่วยกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ออกมาแถลงเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า เขาจะพิจารณาทบทวนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว ในเรื่องแผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีกอย่างน้อย 14 หน่วยภายในปี 2030

ส่วนในสหรัฐฯ จุดยืนแบบเห็นด้วยกับการใช้พลังงานปรมาณูของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เวลานี้แผนการของเขาที่จะให้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ กำลังเผชิญเสียงคัดค้านหนักหน่วงยิ่งขึ้นทุกที

สหรัฐอเมริกามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว 104 หน่วย ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ในจำนวนนี้มี 23 หน่วยที่สร้างตามดีไซน์แบบเดียวกันกับพวกเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่กลายเป็นอัมพาตของฟูกูชิมะ ไดอิจิ กล่าวคือแต่ละหน่วยต่างก็ใช้ “ระบบหม้อความดัน มาร์ก 1” (Mark I containment system) ที่ออกแบบโดยบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน ข่าวโทรทัศน์เอบีซี และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ตลอดจนสื่ออื่นๆ ได้รายงานเอาไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้เชี่ยวชาญวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้นมนานแล้วว่า ระบบหม้อความดันแบบนี้อาจจะไม่สามารถต้านทานอุบัติภัยหรือเหตุร้ายแรงซึ่งส่งผลทำให้เกิดสิ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์เรียกว่า “station blackout” อันเป็นสภาพการณ์ที่กระแสไฟฟ้าดับทำให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์กลายเป็นอัมพาต โชคร้ายที่ภาพสมมุติสถานการณ์ในแบบ station blackout นี้ได้เกิดขึ้นมาจริงๆ เมื่อคลื่นยักษ์สึนามิภายหลังแผ่นดินไหวระดับ 9.0 ในวันที่ 11 มีนาคม ได้ทำลายระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินทุกระบบที่มีอยู่ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ

ในเยอรมนี อาการช็อกจากฟูกูชิมะ ได้บังคับให้นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ต้องยินยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่ให้การสนับสนุนนิวเคลียร์ เธอได้รีบสั่งระงับแผนการของรัฐบาลที่จะให้ยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 แห่งของประเทศ ทั้งนี้จนกว่าจะเสร็จสิ้นการสอบสวนทบทวนเรื่องความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งจะใช้เวลาราว 3 เดือน เธอยังออกคำสั่งให้ปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูทั้ง 7 โรงซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ก่อนปี 1980

ทางด้านประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ก็กำลังเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกอยู่เช่นกัน ฝรั่งเศสนั้นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 59 หน่วย มากกว่าญี่ปุ่น 5 หน่วยด้วยซ้ำ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันพลังงานปรมาณูจึงเป็นตัวผลิตกระแสไฟฟ้าถึงเกือบๆ 80% ของที่ใช้กันอยู่ในแดนน้ำหอม นี่ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติที่พึ่งพาอาศัยพลังงานนิวเคลียร์สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งใช้พลังงานนี้ผลิตไฟฟ้า 29% , สหรัฐฯที่ใช้ผลิตราว 20% , และอังกฤษซึ่งสัดส่วนอยู่ที่ 18% นอกจากนั้นแล้ว ทั้งเตาปฏิกรณ์, ผลิตภัณฑ์ด้านเชื้อเพลิงนิวเคลียร์, ตลอดจนบริการทางด้านพลังงานปรมาณู ล้วนแต่เป็นรายการส่งออกที่สำคัญมากของฝรั่งเศส

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ซาร์โกซี และ อาเรวา เอ็นซี (Areva NC) รัฐวิสาหกิจแดนน้ำหอมที่เป็นกิจการยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานนิวเคลียร์ จึงต่างมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาช่วยเหลือหาวิธีการลดอุณหภูมิอันร้อนจัดของพวกเตาปฏิกรณ์ที่ฟูกูชิมะ ตลอดจนการรั่วไหลของรังสีจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้งนี้นอกเหนือจากจุดยืนทางด้านมนุษยธรรมแล้ว งานด้านการควบคุมความเสียหายเช่นนี้ก็คือธุรกิจของฝรั่งเศสนั่นเอง

ซาร์โกซีและนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่นได้ร่วมกันแถลงในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การประชุมของกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-8) ครั้งต่อไปซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของทั่วโลกมาพิจารณาด้วย รวมทั้งจะอภิปรายหารือถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานของโลกในด้านความปลอดภัยสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย

อาการช็อกจากฟูกูชิมะ ยังจุดชนวนให้เกิดกระแสที่ต่างชาติเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้นว่า ในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอัส (Karolos Papoulias) ของกรีซ ได้เรียกร้องตุรกีผู้เป็นชาติเพื่อนบ้าน ให้กลับมาพิจารณาทบทวนแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูแห่งแรกของตนเสียใหม่

ส่วนในเกาหลีใต้ การอภิปรายถกเถียงกันมุ่งเน้นไปที่ “ข้อตกลงความร่วมมือทางนิวเคลียร์” กับสหรัฐฯซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในปี 2014 โดยตามข้อตกลงฉบับนี้มีมาตราที่ห้ามไม่ให้เกาหลีใต้ตั้งโรงงานที่จะแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วให้กลับมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันเกาหลีใต้มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ 20 หน่วย และพลังงานนิวเคลียร์เป็นตัวผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 40% ของประเทศ

ปัญหาใหญ่ที่สุดของโสมขาวก็คือ บรรดาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศนี้กำลังหมดพื้นที่ที่จะเก็บรักษาแท่งเชื้อเพลิงปรมาณูใช้แล้ว แหล่งข่าวหลายรายระบุว่า เกาหลีใต้คงจะสร้างโรงเก็บชั่วคราวขึ้นมาเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทว่าเรื่องนี้ย่อมจะกลายเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งในเมื่อข้อตกลงที่ทำไว้กับสหรัฐฯใกล้จะหมดอายุลงไปทุกที

ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ยังมีประเทศอื่นๆ อีกที่ประสบปัญหา ขณะเดียวกันพวกผู้ส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, แคนาดา, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ ก็ต้องพบว่าตนเองกำลังตกอยู่ในท่ามกลางอัคคีภัยที่เปลวเพลิงโหมฮือร้ายแรง

“ยุคแห่งความเฟื่องฟูขึ้นมาใหม่ของนิวเคลียร์จะจบสิ้นลงไป” เทตสึยะ เอนโดะ (Tetsuya Endo) อดีตกรรมการบริหารคนหนึ่งของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กล่าวกับเอเชียไทม์ออนไลน์เมื่อต้นเดือนนี้ “เมื่อใดที่เกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ขึ้นมาไม่ว่าที่ไหนในโลก มันก็จะกลายเป็นอุบัติภัยของทั่วทั้งโลกไปเลย”

**โรงแปรรูปนิวเคลียร์โรกกาโช**

ญี่ปุ่นกำลังผ่านประสบการณ์ที่ต้องถือว่าเป็นการเหน็บแนมเย้ยเยาะครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ ประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่เคยผ่านความทุกข์ทรมานจากระเบิดปรมาณู ในเวลานี้กลับกำลังต้องต่อสู้กับภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่มีสาเหตุจากธรรมชาติ

กระทั่งว่าประเทศนี้สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับมาอยู่ในความควบคุมได้อีกคำรบหนึ่ง สาธารณชนผู้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกก็จะยังคงมีความวิตกหวั่นไหวกับพลังงานนิวเคลียร์ไปตลอดกาล

ประชาชนญี่ปุ่นนั้นมีความรู้สึกอ่อนไหวอย่างยิ่งอยู่แล้วกับอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับนิวเคลียร์ สืบเนื่องจากการเป็นประเทศเดียวในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เคยถูกโจมตีด้วยอาวุธปรมาณู ยิ่งเป็นคนรุ่นสูงอายุด้วยแล้วก็ยิ่งมี “อาการแพ้นิวเคลียร์” เหตุการณ์ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ถูกทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเขามิรู้ลืมเลือน

ถึงแม้มีความโกรธขึ้งต่อเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ถึงขนาดนี้ แต่ญี่ปุ่นก็ถูกบังคับให้เพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูจนได้ ภายหลังที่ราคาน้ำมันพุ่งทะยานลิบลิ่วที่เรียกกันว่า “ภาวะช็อกจากราคาน้ำมัน” (oil shock) ซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 คราในช่วงทศวรรษ 1970 และเผยให้เห็นว่าญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรพลังงานจากภูมิภาคตะวันออกกลางมากมายขนาดไหน

ในปี 1970 น้ำมันปิโตรเลียมเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 60% ของทั่วทั้งประเทศ แต่เวลานี้สัดส่วนนี้ลดลงมาเหลือเพียงราวๆ 10%เท่านั้น น้ำมันที่ญี่ปุ่นบริโภคต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 99% แต่ถึงแม้ภายหลังภาวะช็อกจากราคาน้ำมัน จะทำให้ญี่ปุ่นตั้งจุดมุ่งหมายว่าจะลดอัตราการพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมจากตะวันออกกลางลงมา เอาเข้าจริงแล้วจนถึงขณะนี้น้ำมันที่แดนอาทิตย์อุทัยนำเข้าเกือบๆ 90% ยังคงมาจากภูมิภาคดังกล่าวอยู่นั่นเอง

โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะจะต้องถูกสั่งหยุดดำเนินการอย่างแน่นอน และในเวลานี้ก็คงไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นใดๆ อีกแล้วที่จะยอมให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงใหม่ขึ้นในพื้นที่ของพวกตน

เอนโดะชี้ว่า กรณีฟูกูชิมะจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ทั้งนี้วัฏจักรดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นด้วยการทำเหมืองแร่ยูเรเนียม และสิ้นสุดลงด้วยการทิ้งขยะนิวเคลียร์ แต่จากการนำเอาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมาแปรรูปโดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นมาใหม่ ขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ก็จะก่อรูปกลายเป็นวัฏจักรอย่างแท้จริง ตามข้อมูลของเอนโดะ ญี่ปุ่นเริ่มโครงการพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 1956

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสร้างโรงงานแปรรูปนิวเคลียร์ โรกกาโช (Rokkasho Reprocessing Plant) ในจังหวัดอาโอโมริ (Aomori) แล้ว ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถหาสถานที่สร้างโรงงานแปรรูปแห่งที่ 2 ได้ ในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม โรงงานโรกกาโชก็อยู่ในบริเวณที่ประสบภัยด้วย ทว่าไม่ได้รับความเสียหายอะไรนัก

ทากาชิ ฮิโรเสะ (Takashi Hirose) นักเขียนชาวญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงจากการเขียนถึงปัญหาด้านนิวเคลียร์ ชี้ให้เห็นอันตรายจากการที่มีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งมีสารกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงรวมๆ แล้วประมาณ 3,000 ตันเก็บเอาไว้ในโรงงานโรกกาโช ถ้าหากระบบหล่อเย็นของโรงงานเกิดหยุดทำงานขึ้นมา เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็อาจจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นพุ่งลิ่วและเกิดไฟไหม้ได้ เขาบอกว่า ปริมาณเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ขนาดนี้สามารถที่จะแพร่กระจายอนุภาคกัมมันตภาพรังสี หรือ “ขี้เถ้าแห่งความตาย”ไปทั่วโลกได้ทีเดียว

โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในกรุงโตเกียว ชื่อแอคเคาน์ทวิตเตอร์ของเขาคือ @TakahashiKosuke
กำลังโหลดความคิดเห็น