เอเจนซี/เอเอฟพี - ไอเออีเอระบุไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับกัมมันตภาพรังสี ณ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่น หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (7) ขณะที่ปฏิบัติการฉีดน้ำเข้าไปลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) รายงานโดยอ้างข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เอ็นไอเอสเอ) เกี่ยวกับสถานะของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไออิจิ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากแผ่นดินไหวระดับ 7.4 ในวันพฤหัสบดี (7) หลังอยู่ในสภาพเสียหายยับเยินจากธรณีพิโรธและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม อยู่ก่อนแล้ว
“เอ็นไอเอสเอยืนยันว่าไม่สังเกตพบการเปลี่ยนแปลง ณ จุดวัดกัมมันตภาพรังสี ขณะที่การฉีดน้ำเข้าไปยังหม้อความดันสูงสำหรับบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 ไม่ได้รับผลกระทบ” องค์กรซึ่งมีศูนย์อำนวยการอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียระบุในถ้อยแถลง
อย่างไรก็ตาม ไอเออีเออ้างรายงานจากเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นระบุว่าแผ่นดินไหวก็ก่อความเสียหายแก่สายไฟ 2 ใน 3 เส้นที่ลำเลียงพลังงานจากภายนอกไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โอกินาวา “ระบบหล่อเย็นของบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วล้มเหลวไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ก็สามารถกู้คืนมาได้แล้ว”
นอกจากนี้ ไอเออีเอระบุเอ็นไอเอสเอได้แจ้งด้วยว่า โรงงานแปรรูปยูเรเนียมและแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่ Rokkasho ก็เกิดปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องเช่นกัน แต่ก็มีระบบพลังงานสำรองฉุกเฉินทำให้ยังปฏิบัติการได้ตามปกติ
เมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (7) เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเขย่าทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น พื้นที่เดียวกับที่ได้รับความเสียหายจากเหตุธรณีพิโรธเมื่อวันที่ 11 มีนาคม จนทางการต้องประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ได้ยกเลิกไปในอีกราว 1 ชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้น
สำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้น ณ เวลาประมาณ 23.32 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเมืองไทย 21.32 น.) โดยมีศูนย์กลางห่างจากเมืองเซนได ไปทางตะวันออกราว 66 กิโลเมตร ณ ความลึก 25.6 กิโลเมตร ขณะที่สำนักเอ็นเอชเครายงานว่า เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ณ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งกำลังประสบวิกฤตนิวเคลียร์จากแผ่นดินไหวคราวก่อนถูกสั่งให้อพยพออกมาในทันที
ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่คราวนี้ เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เจ้าปัญหาแห่งนี้ ได้ลงมือปั๊มก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ที่อยู่ในสภาพอัมพาตเครื่องหนึ่ง เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดเหมือนที่ได้เคยอุบัติไปแล้วหลายครั้งในเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ ขณะที่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยแสดงท่าทีว่าอาจจะขยายพื้นที่อพยพบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ในเวลาเดียวกับที่พวกชาติเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นก็แสดงความหวาดผวากันมากขึ้น เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดจากกัมมันตภาพรังสีซึ่งรั่วไหลออกมา