xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวรุนแรง 7.4 เขย่าญี่ปุ่น ซ้ำเติมพื้นที่ประสบภัยเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซี/เอเอฟพี - เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเขย่าทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (7) พื้นที่เดียวกับที่ได้รับความเสียหายจากเหตุธรณีพิโรธเมื่อวันที่ 11 มีนาคม จนทางการต้องประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ได้ยกเลิกไปในอีกราว 1 ชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้น

 สำนักข่าวเอ็นเอชเค อ้างสำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า สามารถวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ที่ 7.4 พร้อมระบุว่า ในประกาศเตือนภัยสึนามิได้แนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้อพยพขึ้นไปอยู่ในที่สูง

 สำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้น ณ เวลาประมาณ 23.32 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเมืองไทย 21.32 น.) โดยมีศูนย์กลางห่างจากเมืองเซนได ไปทางตะวันออกราว 66 กิโลเมตร

 ขณะเดียวกัน ทางสำนักเอ็นเอชเค รายงานว่า เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ณ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งกำลังประสบวิกฤตนิวเคลียร์จากแผ่นดินไหวคราวก่อน ถูกสั่งให้อพยพออกมาแล้ว

 “หลังแผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามิ พนักงานทุกคนได้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว” โฆษกของโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) บอก “เรายังไม่ทราบว่าโรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบใดๆหรือไม่ แต่คนงานทุกคนถูกอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว”

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ซึ่งประกาศเตือนภัยสีนามิบริเวณฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก บอกว่า คลื่นสึนามิที่จะกระทบฝั่งจะมีความสูงราว 2 เมตร ขณะที่ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ที่ฮาวาย คาดหมายว่า คลื่นที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงสึนามิระดับท้องถิ่นเท่านั้น

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้น ณ ความลึก 25.6 กิโลเมตร จากข้อมูลของสำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น รายงานว่า แม้ศูนย์กลางของธรณีพิโรธจะอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวถึง 333 กิโลเมตร ต่อแรงสั่นสะเทือนทำเอาอาคารต่างๆ ในเมืองหลวงถึงกับสั่นไหว

 “โปรดอย่างรีรอที่จะขึ้นไปอยู่ในที่สูง หรือพยายามกลับไปยังแนวชายฝั่ง กรุณาอย่าไปเฝ้าดูสถานการณ์ตามชายฝั่ง” สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ย้ำ อย่างไรก็ตาม คำเตือนภัยนี้ได้เพิ่มเติมความกังวลต่อชาวประมงที่ห่วงใยเรือที่มีไว้ทำมาหากินของพวกเขา

ภาพข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค เผยให้เห็นว่า มีไฟดับในบางพื้นที่ของเซนได เมืองหลวงของจังหวัดมิยางิ ศูนย์กลางด้านพาณิชย์ของภูมิภาคซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานแก๊สและน้ำรั่วในบางพื้นที่ภายในเมืองแห่งนี้ด้วย

วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังยืดเยื้อ

ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่คราวนี้ เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เจ้าปัญหาแห่งนี้ ได้ลงมือปั๊มก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ที่อยู่ในสภาพอัมพาตเครื่องหนึ่ง เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดเหมือนที่ได้เคยอุบัติไปแล้วหลายครั้งในเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ขณะที่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยแสดงท่าทีว่าอาจจะขยายพื้นที่อพยพบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ในเวลาเดียวกับที่พวกชาติเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นก็แสดงความหวาดผวากันมากขึ้น เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดจากกัมมันตภาพรังสีซึ่งรั่วไหลออกมา

ขณะที่วิกฤตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ กำลังจะดำเนินมาครบสี่สัปดาห์เต็มนั้น ทางบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็แสดงความกังวลถึงปัญหาการสะสมตัวของก๊าซไฮโดรเจนในอาคารของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เพราะเรื่องนี้สามารถบานปลายไปเป็นการระเบิดรอบใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้า ในเมื่อมวลของไฮโดรเจนที่มหาศาลในอาคาร อาจถึงจุดที่มากพอจะผสมกับออกซิเจน จนนำไปสู่การระเบิดได้

เพื่อป้องกันเรื่องนี้ เท็ปโกจึงกำลังอัดฉีดก๊าซไนโตรเจนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยเข้าสู่อาคารเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว โดยที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า การดำเนินการ “เป็นไปอย่างราบรื่น”

พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดทวีสูงขึ้น ในเมื่อแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เริ่มเย็น และขณะเดียวกันไอน้ำภายในหม้อควบคุมความดันซึ่งหุ้มแกนกลางแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เอาไว้ก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จึงทำให้ความดันภายในหม้อมีระดับลดลง พร้อมกับดูดเอาอากาศเข้าไปโดยผ่านทางรอยรั่วรอยร้าวต่างๆ

ดังนั้น การปั๊มไนโตรเจนเข้าไปเช่นนี้ เป็นไปเพื่อให้ก๊าซเฉื่อยจำนวนมหาศาลได้เข้าไปแทรกอยู่ในชั้นอากาศ ปิดโอกาสที่ออกซิเจนจะแผลงฤทธิ์ได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการอัดฉีด ณ อัตรา 6,000 ลูกบาศก์เมตรเข้าไปนี้ จะต้องใช้เวลาราว 6 วัน

นอกจากนั้น เท็ปโกบอกว่ายังเตรียมจะอัดฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าสู่เตาปฏิกิริยาหมายเลข 2 และหมายเลข 3 เพื่อป้องกันเหตุวิกฤตแล้ว

นับจากที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แหงนี้เผชิญกับการระเบิดหลายครั้ง เนื่องจากเกิดการสะสมตัวของไฮโดรเจนในบริเวณรอบๆ เตาปฏิกรณ์หลายต่อหลายเครื่อง แรงระเบิดส่งผลเป็นการทำลายอาคารด้านนอกที่ครอบเตาปฏิกรณ์เอาไว้

ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้แพร่สารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ, น้ำในมหาสมุทรใกล้ๆ โรงงาน และเข้าไปปนเปื้อนในน้ำดื่มกับผลิตภัณฑ์การเกษตรซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่แถบนัน โดยที่มีตรวจพบกัมมันตรังสีไอโอดีนสูงเกินระดับที่ยอมรับได้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ปรากฏในพืชผัก นมเนย และเห็ดที่เป็นอาหารของผู้คน

ก่อนหน้านี้ ราว 1 สัปดาห์ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ได้เคยเสนอแนะว่า เขตสั่งอพยพประชาชนที่ทางการญี่ปุ่นประกาศออกมา ซึ่งครอบคลุมบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ในรัศมี 20 กิโลเมตรนั้น น่าจะน้อยเกินไปและควรจะขยายให้กว้างขวางกว่านี้ ทว่าทางการญี่ปุ่นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยยืนกรานว่าพื้นที่ซึ่งกำหนดเอาไว้เดิมก็น่าจะเพียงพอกับการป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีแล้ว

อย่างไรก็ดี เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นกลับแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการขยายเขตอพยพ

“มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้พำนักอาศัยในพื้นที่ซึ่งเราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น กำหนดเอาไว้ว่าจะออกคำสั่งให้อพยพเมื่อมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะได้รับปริมาณรังสีตั้งแต่ระดับ 50 มิลลิซีเวิร์ตขึ้นไป” เอดาโนะบอก

“แต่มาตรฐานดังกล่าวนี้กำหนดขึ้นโดยใช้สมมุติฐานที่ว่ารังสีระดับสูงที่ถูกปล่อยออกมานั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว” เขาแจกแจงต่อ “สิ่งที่เรากำลังพิจารณาถกเถียงกันอยู่ก็คือ ควรจะออกคำสั่งอพยพอย่างไรถึงจะเป็นผลดีที่สุด โดยอิงกับข้อมูลและมาตรฐานของการที่เกิดการแผ่รังสีในแบบสะสมยืดเยื้อ”

จีน-เกาหลีตื่นตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในอากาศ

ขณะที่วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาอยู่ในความควบคุมได้เมื่อใด บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของแดนอาทิตย์อุทัยต่างกำลังแสดงความหวั่นผวากันเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้

ในประเทศจีน สำนักข่าวซินหวา รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีในระดับต่างๆ กันปะปนอยู่ในอากาศใน 22 มณฑลของจีน ทว่าปริมาณยังไม่ถือว่าเป็นการคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขจีน แจ้งว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในผักโขมสปีแนช ซึ่งผลิตใน 3 มณฑลของแดนมังกร

ส่วนที่เกาหลีใต้ ฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศทำให้โรงเรียนหลายสิบแห่งพากันปิดเรียน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองวิตกว่าฝนเหล่านี้จะปนเปื้อนรังสีซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกหลานของพวกตน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของแดนโสมขาวผู้หนึ่ง แจ้งว่า “เราได้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนต่างๆ ว่า ควรพยายามหลีกเลี่ยงการให้นักเรียนทำกิจกรรมกลางแจ้ง”

นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามถนนหนทางใกล้ๆ โรงเรียนหลายแห่ง การจราจรเมื่อวันพฤหัสบดีหนาแน่นแออัดกว่าปกติ สืบเนื่องจากพวกพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ไว้วางใจให้ลูกหลานเดินไปโรงเรียน แต่ตัดสินใจขับรถไปส่ง

ทางด้านสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้รายงานว่า ได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีไอโอดีนและซีเซียมปริมาณเพียงเล็กน้อยมากในน้ำฝนที่ตกลงมา ทว่า รายงานข่าวนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนชาวโสมขาวคลายความวิตกกังวลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น