เอเอฟพี/เอเจนซี - ทีมวิศวกรญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (4) เริ่มต้นปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำ จำนวนมากกว่า 10,000 ตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับหันมาพึ่งพิงมาตรการชนิดเข้าตาจน เป็นต้นว่าการใช้เกลือขัดผิวเวลาอาบน้ำ เพื่อพยายามที่จะหาจุดที่ทำให้รังสีรั่วไหล ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มในวันที่ 11 มีนาคม
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นซึ่งต้องเร่งป้องกันไม่ให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 250 กิโลเมตรแห่งนี้ ได้รับความเสียหายถึงขั้นเกิดการหลอมละลายอย่างสมบูรณ์ จึงได้ปล่อยน้ำจำนวนนับพันนับหมื่นตันเข้าไปยังแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่กำลังร้อนจัด ทว่ามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนี้ก็ส่งผลทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีขึ้นมา และน้ำเหล่านี้เองที่กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการทำงานซ่อมแซมอันจำเป็นอย่างยิ่งยวด รวมทั้งน้ำปนเปื้อนรังสีบางส่วนยังได้ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่ใกล้ๆ อีกด้วย
บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ แห่งนี้แถลงวันจันทร์ (4) ว่า จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำปนเปื้อนรังสีระดับต่ำๆ เหล่านี้ที่กักเก็บเอาไว้ลงสู่มหาสมุทร เพื่อจะได้มีที่ทางสำหรับกักเก็บน้ำรุ่นซึ่งมีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงกว่า
เท็ปโกยืนยันว่า การปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีในระดับสูงกว่า 100 เท่าของขั้นสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต และมีปริมาณมากกว่าสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 4 สระคราวนี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลหรือกระทบกระเทือนความปลอดภัยของอาหารจากทะเล
แต่กระนั้นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของเท็ปโกก็แสดงอาการสะกดกั้นน้ำตาไม่ค่อยอยู่ เมื่อเขาประกาศมาตรการเช่นนี้ โดยบอกว่า “พวกเราได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในท้องถิ่นมามากมายแล้ว พวกเราไม่สามารถที่จะแสดงออกมาให้เห็นได้อย่างเต็มความรู้สึกของพวกเราว่า มีความเสียใจขนาดไหนที่จะต้องเพิ่มภาระขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งเช่นนี้”
ทางด้าน ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ก็กล่าวระหว่างการแถลงข่าวถ่ายทอดสดทางทีวีว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทร โดยถือเป็นมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัย”
“เราได้สั่งการให้ติดตามตรวจสอบน้ำในมหาสมุทรบริเวณนั้นอย่างเข้มงวด เพื่อให้ทราบอย่างถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม (จากการระบายน้ำปนเปื้อนรังสีลงไป)” เขาบอก
เจ้าหน้าที่ของเท็ปโกอีกผู้หนึ่งอธิบายว่า จากปฏิบัติการปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ต่างๆ ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ “น้ำเสียที่ปนเปื้อนรังสีระดับสูงกำลังสะสมตัวอยู่ตามอาคารกังหันไอน้ำต่างๆ ของฟูกูชิมะ ไดอิจิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เตาปฏิกรณ์หน่วยที่สอง”
“มีความจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำที่เก็บกักเอาไว้แล้วเหล่านี้ เพื่อจะได้รองรับน้ำเสียใหม่ๆ” รวมแล้วเป็นปริมาณราว 10,000 ตัน ทั้งนี้รวมถึงน้ำประมาณ 1,500 ตันจากบ่อข้างใต้เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 5 และหน่วยที่ 6 เขากล่าวต่อ
นอกเหนือจากการระบายน้ำปนเปื้อนรังสีลงมหาสมุทรแล้ว พวกวิศวกรของเท็ปโกยังกำลังมองหามาตรการอะไรก็ตามทีที่คิดว่าอาจช่วยหยุดยั้งการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีได้
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาผสมขี้เลื่อยและหนังสือพิมพ์เข้ากับสารโพลิเมอร์และปูนซีเมนต์ เพื่อพยายามที่จะอุดรอยร้าวที่พบอยู่ในบ่อคอนกรีตของเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
มาเมื่อวันจันทร์ (4) พวกเขาหันมาใช้เกลือขัดผิวเวลาอาบน้ำ (bath salts) เทลงในบ่อน้ำ เพื่อให้เกิดสีน้ำนมขึ้นในน้ำ ด้วยความมุ่งหวังว่าจะช่วยให้สามารถติดตามจุดที่เกิดรอยรั่วขึ้นมาได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่นอนว่าจุดแตกร้าวที่ทำให้รังสีรั่วไหลนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ โดยที่ทางสำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (NISA) กำลังตรวจสอบดูแนวตลิ่งที่ได้รับความเสียหายบริเวณใกล้ๆ กับประตูน้ำของเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 ตลอดจนความเป็นไปได้ที่รังสีอาจจะรั่วซึมผ่านชั้นของหินก้อนเล็กๆ ที่อยู่ใต้แนวท่อคอนกรีต
เท็ปโกแจ้งว่า บริษัทยังกำลังวางแผนใช้วัสดุที่สามารถนำมาทำเป็นฉากกันโคลนเลนไหลซึม เพื่อสร้างเป็นแนวป้องกันขึ้นที่บริเวณท้องทะเลด้านนอกของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้โคลนเลนปนเปื้อนรังสีเล็ดรอดออกสู่มหาสมุทร
ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ รองผู้อำนวยการใหญ่ NISA ยอมรับว่า แนวป้องกันในทะเลดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลาหลายวันในการตระเตรียม
นอกจากนี้ เท็ปโกบอกว่าจะสร้างถังน้ำขนาดยักษ์เพื่อบรรจุน้ำทะเลปนเปื้อนรังสี ซึ่งรวมแล้วจะมีความจุเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 6 สระ ตลอดจนยังกำลังลากจูงถังยักษ์ลอยน้ำถังหนึ่ง โดยมีกำหนดจะเดินทางมาถึงในสัปดาห์หน้า ยิ่งกว่านั้นยังกำลังเจรจาสั่งซื้อถังลอยน้ำเช่นนี้อีก 3 ถังด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการตรวจพบว่าน้ำในมหาสมุทรใกล้ๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีสารไอโอดีนกัมมันตรังสีในระดับราว 4,800 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แต่ต่อมาระดับรังสีก็ได้ลดต่ำลงเหลือเพียง 11 เท่าตัว ก่อนที่จะกลับพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 630 เท่าในวันเสาร์(2) ทั้งนี้ตามรายงานของ NISA
“เราจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการแพร่กระจายของ (น้ำปนเปื้อนรังสี) ที่ลงไปในมหาสมุทรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว เรากำลังขอให้ทางเท็ปโกดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว” หัวหน้าโฆษกรัฐบาลเอดาโนะกล่าว
“ถ้าสถานการณ์ในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปเป็นเวลานานๆ แล้ว สารกัมมันตภาพรังสีก็จะมีการสะสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็จะมีผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อมหาสมุทร”