xs
xsm
sm
md
lg

เท็ปโกเริ่มระบายน้ำกัมมันตภาพรังสีกว่า 10,000 ตันลงทะเลหวังเหลือที่กักเก็บเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เท็ปโกเผยภาพชั้นล่างสุดของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ใกล้ประตูระบายน้ำ
เอเอฟพี - เท็ปโก บริษัทผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นเริ่มระบายน้ำกัมมันตภาพรังสีจำนวน 11,500 ตันทิ้งลงทะเลแล้ว เพื่อให้มีเนื้อที่ไว้รองรับน้ำปนเปื้อนรังสีในระดับสูงมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินพยายามหาต้นกำเนิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีด้วยการใช้สีย้อม เพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติม



สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค และสำนักข่าวอื่นๆ รายงานว่า การระบายน้ำกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากเวลา 19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 17.00 น.ตามเวลาของไทย

โฆษกบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์เผยวันนี้ (4) ว่า น้ำที่ทางบริษัทตั้งใจจะระบายทิ้งลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นเป็นเพียงน้ำ ที่มีกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำ และต้องกำจัดออกไปเพื่อให้มีเนื้อที่ว่างสำหรับน้ำปนเปื้อนรังสีมากขึ้น

"น้ำที่มีกัมมันตภาพรังสีระดับสูงสะสมอยู่ในอาคารกังหันที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้เพื่อรองรับน้ำเพิ่มเติมได้" โฆษกคนดังกล่าวระบุ

เขาเสริมว่า น้ำกัมมันตภาพรังสีเหลือใช้ประมาณ 10,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรพร้อมกับน้ำอีก 1,500 ตันจากชั้นล่างสุดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 ด้วย โดยจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุดเมื่อเตรียมการเสร็จสิ้น

ด้านยูคิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลยืนยันในการแถลงข่าวว่า แผนดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่มีอยู่

"เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรตามมาตรการความปลอดภัย" เอดาโนะกล่าว

นอกจากนี้ คนงานเท็ปโกยังได้เทของเหลวสีขาวลงอุโมงค์จากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพื่อสืบเสาะหาต้นเหตุการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารรังสีไอโอดีน 131 ในระดับสูงลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก หลังเจ้าหน้าที่พบรอยแตก ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ของเหลวสีขาวดังกล่าวไม่ได้ไหลสู่อุโมงค์คอนกรีต จึงเชื่อว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะต้องไหลมาจากจุดอื่น และทางบริษัทกำลังพิจารณาสร้างกำแพงโคลนใกล้ปากท่อระบายน้ำของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร
เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะชี้ให้เห็นรอยแตกใกล้อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2
กำลังโหลดความคิดเห็น