เอเอฟพี - ป้ายบนผนังหอประชุมโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในญี่ปุ้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบ้านของผู้ประสบภัยสึนามิจำนวนนับพันคน ระบุข้อความไว้ว่า “เรามาร่วมด้วยช่วยกัน รวมกันเป็นหนึ่ง สามัคคีคือพลัง”
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโรงเรียนไดอิชิ เมืองริคุเซนตาคาตะ เป็นบทพิสูจน์ถึงจิตวิญญาณแห่งชาวอาทิตย์อุทัยญี่ปุ่น ที่ฟันฝ่าวิกฤตโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายร่วมกัน อาสาสมัครทั้งหมด 21 คนของศูนย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน ทั้งสูญเสียบ้าน และสมาชิกครอบครัว ไปพร้อมกับคลื่นยักษ์สึนามิ และยังคงเป็นความหวัง และสร้างพลังความมุ่งมั่นให้กับผู้ประสบภัย
“เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและอาหาร ห้องน้ำก็มีไม่พอใช้” สึโตมุ นากาอิ กล่าว เขาเป็นผู้อำนวยการสภาหอการค้าท้องถิ่น และตอนนี้รับหน้าที่ดูแลผู้ประสบภัยกว่า 1,000 คน ซึ่งกินอยู่หลับนอนในหอประชุมโรงเรียนไดอิชิ
“เราต้องการน้ำมันสำหรับเครื่องทำความร้อน ตอนนี้ผ้าห่มกำลังขาดแคลน และโดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ ผู้ประสบภัยช่วยกันคนละไม้คนละมือ พวกเขาทำความสะอาดห้องน้ำ ระเบียง และโรงยิม หรือไม่ก็ช่วยทำอาหารให้คนอื่นๆ” สึโตมุ นากาอิ เล่า “ทุกคนต่างทำสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม”
นากาอิ กล่าวว่า คงไม่แปลกที่ผู้ประสบภัยจะกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหมดอาลัยตายอยาก หลังพื้นที่ตลอดชายฝั่งราบเป็นหน้ากลองจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม แต่ “ผมไม่แน่ใจว่า นี่เป็นลักษณะนิสัยของชาวญี่ปุ่น หรือเฉพาะผู้คนในเมืองริคุเซนตาคาตะ เมื่อไม่มีใครตัดพ้อถึงหายนะที่เกิดขึ้น ทุกคนต้องการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”
หลังเกิดคลื่นสึนามิถล่มเมือง ชาวริคุเซนตาคาตะต่างรวมตัวกันที่โรงเรียนไดอิชิทันที
ในช่วงเย็นวันที่เกิดเหตุ ผู้คนจากพื้นที่ประสบภัยต่างๆ ของเมืองได้เสนอตัวเป็นอาสาสมัคร โดย สึโตมุ นากาอิ ได้ตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นในห้องเรียนวิชาคหกรรม ภายในโรงเรียนไดอิชิ หอประชุมโล่งกว้างของโรงเรียนได้กลายเป็นพื้นที่หลับนอนหลักๆ โดยครอบครัว หรือ คู่สามีภรรยา ต่างจับจองพื้นที่นอนใก้ลๆ กัน และรอบกายรายล้อมไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งแต่ละคนสามารถเก็บออกมาจากบ้านเรือนที่เหลือเพียงซากปรักหักพัง
ห้องหนึ่งกลายเป็นศูนย์พยาบาลของสภากาชาดญี่ปุ่น ขณะที่อีกห้องหนึ่งกลายเป็นคลีนิกทันตกรรรมขนาดย่อมๆ นอกจากนี้ ห้องเรียนต่างๆ ก็ใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือ ได้รับการสงวนไว้สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย อีกหลายๆ ส่วนใช้สำหรับเก็บของ ซึ่งผู้ที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือเมืองที่รอดพ้นคลื่นสึนามิ ช่วยกันบริจาคให้
อาสาสมัครส่วนหนึ่งคอยแยกเสื้อผ้าหญิง-ชาย ไว้คนละกล่อง อีกส่วนคอยดูแลเรื่องอาหารให้กับเพื่อนผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน
ในกลุ่มผู้ประสบภัยที่ผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครล้วนเต็มไปด้วยมิตรภาพระหว่างกัน ทว่า ยังมีผู้ประสบภัยบางคนที่ยอมปล่อยให้ตัวเองว่างงาน อาทิ รินโซ ชิคุสึ หนึ่งในผู้ประสบภัย กล่าวว่า “เราไม่มีอะไรจะทำ นอกจากอ่านหนังสือพิมพ์ที่มีให้” ส่วน จูอิชิ คันโนะ ต้องคอยอุ้มเหลนชายวัย 17 เดือนเดินไปเดินมาอยู่ในหอประชุมโรงเรียนไดอิชิ เนื่องจากหนูน้อยรายนี้เกิดอาการกระจองอแงไม่เลิก ด้วยอายุเพียง 17 เดือนยังน้อยเกินกว่าที่จะเข้าใจ ว่า แม่ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว
“ผมไม่ได้ทำอะไรเลย” จูอิชิ คันโนะ เล่า “ผมแค่นั่งเฉยๆ” ด้าน โทกิโกะ ภรรยาของคันโนะกล่าวว่า “เหตุการณ์มันเลวร้าย แต่ทุกคนอยู่บนเรือลำเดียวกัน .. คุณจะมานั่งตัดพ้อไม่ได้”
ภายนอกหอประชุมโรงเรียนไดอิชิ มีกลุ่มผู้ชายยืนสูบบุหรี่อย่างซึมเศร้าอยู่รอบๆ เตาไฟ เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็น กลุ่มคนเหล่านี้ต่างทำงานหนักมาตลอดชีวิต เก็บหอมรอมริบ เพื่อสร้างบ้านขึ้นมาสักหลัง ซึ่งตอนนี้พังทลายลงไม่เหลือ บางครั้ง ผู้ประสบภัยจะแบกความหวัง เดินไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน เพื่อตรวจดูรายชื่อผู้รอดชีวิตจากคลื่นสึนามิที่แจ้งไว้บนกระดาน ภาวนาให้เจอชื่อคนในครอบครัว