xs
xsm
sm
md
lg

Focus : ญี่ปุ่นแซ่ซ้อง “วีรบุรุษโรงไฟฟ้า” อาสาเสี่ยงตายกู้วิกฤตนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพขณะเฮลิคอปเตอร์ชีนุก 2 ใบพัด กำลังใช้ถังบรรจุน้ำกว่า 7 ตันจากทะเลใกล้เมืองนาโตริ จังหวัดมิยางิ เพื่อนำไปเทลงบนเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศกำลังเฝ้ามองการทำงานของคนงานผู้กล้า 50 คน ซึ่งยอมเสี่ยงอันตรายเพื่อยับยั้งวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ด้วยความห่วงใยและสำนึกในความเสียสละของพวกเขาเหล่านี้

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า พนักงานของ โตเกียว อิเล็คทริค เพาเวอร์ โค (เท็ปโก้) และบริษัทพลังงานอื่นๆ ประมาณ 20 คน ขันอาสาเข้าไปควบคุมเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว วันนี้ (17)

ในจำนวนนี้มีพนักงานชายวัย 59 ปี ซึ่งทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 40 ปี และมีกำหนดเกษียณอายุในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สำนักข่าวจิจิเพรสได้นำข้อความบนทวิตเตอร์ของสตรีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งมาเปิดเผย โดยเธอระบุว่า เป็นบุตรสาวของอาสาสมัครวัย 59 ปีคนดังกล่าว และได้แสดงความภาคภูมิใจระคนกลัดกลุ้ม เมื่อทราบว่าพ่อของเธออาสาเข้าร่วมทีมกู้วิกฤตชาติ เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ แม้หน้าที่ดังกล่าวจะต้องเสี่ยงอันตรายใหญ่หลวงก็ตาม

“ฉันต้องฝืนทนกลั้นน้ำตาเมื่อรู้ข่าวพ่อ พ่อที่จะเกษียณอายุในอีก 6 เดือน ยังอาสาที่จะไป” ข้อความของเธอบนทวิตเตอร์ ระบุ

“พ่อพูดว่า อนาคตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นอยู่กับวิธีจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ของเรา พ่อต้องไปเพราะมันเป็นหน้าที่... ฉันไม่เคยภูมิใจในตัวพ่อเท่านี้มาก่อน”

คนงานทั้งหมดถูกอพยพออกจากโรงไฟฟ้าชั่วคราววานนี้ (16) หลังพบกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากเตาปฏิกรณ์และตรวจวัดระดับรังสีได้สูงมาก จากนั้นไม่นานจึงได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปปฏิบัติงานต่อ

“คนงานที่นี่กำลังต่อสู้กับปัญหาโดยไม่คิดหนี” มิจิโกะ โอทสึกิ พนักงานโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะหมายเลข 2 ซึ่งถูกอพยพออกจากพื้นที่ เขียนบนเวบสื่อสังคมออนไลน์ มิซี (Mixi)

“ฉันได้แต่สวดมนต์ให้ทุกคนปลอดภัย โปรดอย่าลืมว่า มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อช่วยให้ทุกคนอยู่รอด”

นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง กล่าวยกย่องความกล้าหาญและความพยายามของพนักงานเท็ปโก้ ขณะที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาล เตือนว่า สุขภาพของคนงานทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง

“เจ้าหน้าที่ของเท็ปโก้ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกำลังเทน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของแกนปฏิกรณ์ พวกเขาพยายามอย่างดีที่สุดในเวลาเช่นนี้ โดยไม่นึกถึงอันตรายที่จะประสบกับตนเอง” คัง กล่าว
วินาทีที่เฮลิคอปเตอร์ชีนุก 2 ใบพัด ปล่อยน้ำลงบนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (17)
เดวิด เบร็นเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยรังสีของสถาบันโคลัมเบียเซอร์วิส ระบุว่า จากระดับกัมมันตรังสีที่ตรวจพบภายในโรงไฟฟ้า คนงานทั้งหมดถือว่า “เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง”

“พวกเขาคือวีรบุรุษ ซึ่งอาจต้องเจ็บป่วยจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงมาก” เบรนเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี

ช่วงบ่ายวานนี้ (16) กัมมันตภาพรังสีบริเวณใกล้ประตูหน้าโรงไฟฟ้าค่อนข้างเสถียร หลังจากเพิ่มขึ้นถึงระดับอันตรายในช่วงเช้าและ 1 วันก่อนหน้านั้น เอดาโนะ เผย

อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้ร่วมแซ่ซ้องวีรกรรมของพนักงานเหล่านี้

วันอังคาร (15) ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุน รายงานว่า กระทรวงกลาโหมตำหนิ เท็ปโก้ และสำนักงานความปลอดภัยด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างรุนแรง หลังจากทหารซึ่งถูกส่งเข้าไปบริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ได้รับบาดเจ็บ และอาจสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีด้วย

“พวกเขาบอกว่าปลอดภัย เราก็เชื่อ และเข้าไปปฏิบัติงานที่นั่น” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเผย

“เรารู้จักวิธีป้องกันกัมมันตภาพรังสี แต่เราไม่ได้เชี่ยวชาญโครงสร้างเตาปฏิกรณ์ เมื่อพวกเขาบอกว่าปลอดภัย เราก็เชื่อตามนั้น แม้จะรู้สึกไม่ค่อยสบายก็ตาม”

บากุ นิชิโอ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลปรมาณูแห่งประชากร (ซีเอ็นไอซี) ซึ่งต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์มาโดยตลอด กล่าวว่า คนงานชุดสุดท้ายที่เข้าไปยังโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอาจทำไป “เพราะเป็นหน้าที่ มากกว่ามีจิตใจที่กล้าหาญ”

“ผมว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทั้งประเทศต้องมาฝากชะตากรรมไว้กับคนกลุ่มเล็กๆ นี้”

“หากสถานการณ์เลวร้ายลง จะต้องมีการตายเกิดขึ้นแน่”

“เราควรตระหนักแล้วว่า นี่คือธรรมชาติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” นิชิโอ กล่าว พร้อมเสริมว่า วิกฤตครั้งนี้ควรนำไปสู่การแก้ไขนโยบายด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น





กำลังโหลดความคิดเห็น