xs
xsm
sm
md
lg

‘คนงานจีน’เข้าไปทำนาทำไร่ใน‘ทาจิกิสถาน’

เผยแพร่:   โดย: บรูซ แพนนิเออร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Chinese move on to Tajik fields
By Bruce Pannier
01/02/2011

คนงานจีนจำนวนมากกำลังเคลื่อนย้ายเข้าไปทำไร่ฝ้ายและนาข้าวตามท้องทุ่งหลายแห่งในภาคใต้ของทาจิกิสถาน ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังกลายเป็นการหว่านเพาะความโกรธกริ้วขึ้นในหมู่คนงานชาวพื้นถิ่น ทั้งต่อการเข้ามาของคนจีนเหล่านี้ และทั้งต่อรัฐบาลของประเทศตนเองที่แอบๆ ตัดสินใจให้รัฐบาลระดับท้องถิ่นของแดนมังกรเช่าที่ดิน 2,000 เฮกตาร์ (ราว 12,500 ไร่) เพื่อทำเกษตรกรรม ถึงแม้จะมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ถ้าหากไม่มีข้อตกลงดังกล่าว ที่ดินพวกนี้ก็คงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อยู่ดี

คนงานใหม่ๆ ที่มาจากต่างแดน กำลังเข้ามาทำงานในไร่ฝ้ายและนาข้าวหลายแห่งทางภาคใต้ของทาจิกิสถาน และยังไม่ทันไรเลยพวกเขาก็กำลังหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความไม่พอใจขึ้นมาแล้ว ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างรู้สึกโกรธกริ้วกับภาพของเกษตรกรชาวจีนที่กำลังเดินทางเข้ามาทำไร่ทำนาบนที่ดินของชาวทาจิก ภายหลังจากที่รัฐบาลในเมืองหลวงดูชานเบ ตัดสินใจเมื่อปลายเดือนมกราคม ให้เช่าที่ดินจำนวน 2,000 เฮกตาร์ (ราว 12,500 ไร่) แก่รัฐบาลเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของจีน

ข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นการซ้ำเติมความขึ้งเคียดที่กำลังคุกรุ่นอยู่แล้วจากกรณีที่รัฐสภาทาจิกิสถาน ลงมติเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ตกลงอนุมัติการยกดินแดนราว 1,100 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1% ของเนื้อที่ทั้งหมดของประเทศในเอเชียกลางแห่งนี้) ให้แก่จีน

ชาวทาจิกจำนวนมากต่างแสดงปฏิกิริยาอย่างกริ้วโกรธต่อการลงมติดังกล่าว รวมทั้ง บัคตียอร์ (Bakhtiyor) หนุ่มน้อยที่ยอมบอกแค่ชื่อต้นของเขา เมื่อถูกสัมภาษณ์โดยสถานีวิทยุ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ภาคภาษาทาจิก บนท้องถนนในกรุงดูชานเบ

“ทำไมพวกเขาถึงยกดินแดนให้จีน คนทาจิกไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย แต่พวกเขาไม่เห็นยกที่ดินให้แก่คนทาจิกมั่งเลย ให้แก่คนที่ต้องอยู่กินกันอย่างลำบากลำบน ... พวกเขาควรยกที่ดินให้แก่คนยากคนจนของเราเองมากกว่า” บัคตียอร์บอก

ทางฝ่ายรัฐบาลทาจิกิสถานได้ออกมาแถลงปกป้องแก้ต่างให้แก่การตัดสินใจของตน โดยบอกว่าดินแดนที่ตัดให้ไป เป็นพื้นที่แถบภูเขาและไม่มีผู้คนอาศัย ตามแนวชายแดนด้านตะวันออกของทาจิกิสถาน ดินแดนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งแทบไม่มีคุณค่าอะไรเลย ไม่มีที่ดินทำการเกษตร ไม่มีแร่ธาตุ หรือทรัพยากรอย่างอื่นๆ กระนั้นก็ตามที คำแก้ต่างดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งชาวทาจิกจากการแสดงความสงสัยข้องใจ เกี่ยวกับวิธีการที่รัฐบาลกำลังตัดแบ่งดินแดนของประเทศชาติเช่นนี้ อย่างเช่นชายอีกผู้หนึ่งจากกรุงดูชานเบ ซึ่งไม่ยอมบอกชื่อของตนเอง แต่แสดงความคิดเห็นของเขาอย่างตรงไปตรงมา

**ไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรตามมาเลย**

“แนวโน้มที่เป็นอยู่อย่างนี้ไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรตามมาเลย” ชายผู้นี้กล่าว “ทุกวันนี้ ชาวทาจิกเองกำลงประสบกับปัญหาขาดแคลนที่ดินอยู่แล้ว ลองไปดูในดูชานเบ และตามย่านชานเมืองกันบ้าง ดูว่ามีคนตั้งมากมายเท่าไหร่ที่ต้องการได้ที่ดิน และกำลังไม่พอใจกับการจัดสรรแบ่งปันที่ดิน รัฐบาลไม่ควรละเลยทำเป็นไม่แยแสกับเรื่องนี้นะ”

ข้อตกลงให้เช่าที่ดินฉบับใหม่ ที่จะนำเอาเกษตรกรชาวจีนจำนวนราว 1,500 คนเข้ามาทำงานตามไร่นาในอำเภอคุมซันกีร์ (Kumsangir) และ โบคตาร์ (Bokhtar) ในจังหวัดคัตลอน (Khatlon) ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ จัดทำขึ้นมาภายใต้บรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนดังกล่าวมาข้างต้นนี้

รัฐบาลทาจิกิสถาน ไม่ได้แถลงอะไรต่อสาธารณชนมากนักเกี่ยวกับข้อตกลงให้เช่าที่ดินฉบับนี้ แต่พวกเขาก็ดูจะมีเหตุผลน่ารับฟังอยู่หลายประการเหมือนกันในการตัดสินใจดังกล่าว สถานการณ์การว่างงานในประเทศเอเชียกลางแห่งนี้อยู่ในสภาพเลวร้ายมาก จนกระทั่งคนงานอพยพจำนวนหลายแสนคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กำลังถูกขับดันให้ออกไปทำงานในรัสเซีย บางคนอาจจะอยู่ที่นั่นแค่ไม่กี่เดือน บางคนก็ไปอยู่กันหลายๆ ปี และบางคนก็ไม่เคยกลับมาอีกเลย

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนกำลังแรงงานตามพื้นที่ชนบท ซึ่งส่งผลให้ที่ดินจำนวนหนึ่งถูกปล่อยทิ้งร้าง ดังที่ปรากฏอยู่ในกรณีของที่ดินซึ่งคนจีนกำลังเดินทางเข้ามาทำการเพาะปลูก ตามคำกล่าวของ ติโลมูร็อด ดานิยารอฟ (Tilomurod Daniyarov) แห่งกองกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงเกษตรของทาจิกิสถาน ในข้อตกลงที่จัดทำกันนี้ ฝ่ายจีนให้สัญญาที่จะนำเอาวิธีการชลประทานแบบน้ำหยด ตลอดจนเทคนิคการเกษตรสมัยใหม่อื่นๆ เข้ามาใช้ในท้องที่ดังกล่าว รวมทั้งยังจะถ่ายทอดแบ่งปันความชำนิชำนาญและเทคโนโลยีให้แก่ชุมนุมชาวทาจิกที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย

พื้นที่ของทาจิกิสถานนั้นเป็นที่ดินเขตเขาถึง 93% มิหนำซ้ำที่ดินอีก 7%ที่เหลือก็ใช่ว่าจะเพาะปลูกได้ทั้งหมด สำหรับผลผลิตข้าวและฝ้ายที่ประเทศนี้ผลิตได้ จำนวนเกินกว่าครึ่งกว่าค่อนจะถูกส่งออก เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทาจิกิสถานมักประสบภาวะที่อาหารหลักจำเป็นทั้งหลายขาดแคลนหรือหายาก ความคิดที่ว่ามีการอนุญาตให้คนนอกเข้ามาเพาะปลูกทำกินบนที่ดินของพวกเขาจึงเป็นความคิดที่คนส่วนใหญ่รู้สึกยอมรับไม่ได้

**นี่เป็นเพียงก้าวแรก**

ชาวทาจิกจำนวนไม่น้อยยังมองสถานการณ์ด้วยความหวาดระแวงแบบเดียวกับนักสังคมวิทยาที่ชื่อ รุสตัม ไฮดารอฟ (Rustam Haidarov) เขาออกมาเตือนภัยว่า การเข้ามาของเกษตรกรชาวจีนเช่นนี้ เป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ใหญ่โตกว่านั้น

“มันเป็นยุทธศาสตร์ของจีนอยู่แล้วที่จะเอาประชาชนของตนไปตั้งรกรากตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นๆ มันเป็นนโยบายของทางจีนเขา” นักสังคมวิทยาผู้นี้กล่าว “พวกเขาเข้ามาครอบครองอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวัง พวกเขาตระหนักเป็นอย่างดีถึงเป้าหมายของพวกเขาเองในทาจิกิสถาน และกำลังส่งผลกระทบกระเทือนนโยบายเศรษฐกิจของเรา และในไม่ช้าเรื่องนี้ยังจะนำไปสู่การมีอิทธิพลในทางการเมือง”

ไฮดารอฟกล่าวต่อไปว่า “ขณะที่ชาวทาจิกนับแสนๆ ออกจากประเทศเดินทางไปยังรัสเซีย ชาวจีนก็จะเข้ามาเติมช่องว่างเหล่านี้ กระทั่งชาวทาจิกบางคนยังจะแต่งงานกับชาวจีนด้วย”

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เข้ามาลงทุนเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในทาจิกิสถาน และกำลังเข้าร่วมในโครงการจำนวนหนึ่งที่เป็นการร่วมมือกับฝ่ายทาจิก ทว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายจีนมักส่งกำลังแรงงานของตนเองเข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานของคนงานชาวทาจิก

สำนักงานแรงงานอพยพของทาจิกสถานให้ตัวเลขว่า มีแรงงานอพยชาวจีนประมาณ 30,000 คนในทาจิกิสถานในปี 2007 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานด้านการสร้างถนน, สถานีไฟฟ้าย่อย, และตามเหมืองแร่ต่างๆ มีการอ้างกันด้วยว่าคนงานจีนบางส่วนไม่ได้เดินทางกลับบ้านภายหลังที่โครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อมาถึงปี 2010 คนงานอพยพชาวจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 82,000 คน

**พ่อค้าก็เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ**

พวกที่เข้ามาใหม่ยังมีบางส่วนที่เป็นพวกมีอาชีพพ่อค้า ตามตัวเลขที่รวบรวมโดยบางสำนักระบุว่า มีพ่อค้าชาวจีนราว 100 รายกำลังขายสินค้าต่างๆ อยู่ในตลาดกลางแห่งสำคัญที่สุดของกรุงดูชานเบ และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา ท้องที่อื่นๆ ก็ปรากฏแนวโน้มทำนองนี้เช่นกัน พ่อค้าชาวทาจิกบางรายอ้างว่า คู่แข่งขันชาวจีนของพวกเขาได้สินค้าลดราคาจากในเมืองจีน จึงสามารถขายได้ในราคาต่ำชนิดที่เพื่อนร่วมอาชีพชาวทาจิกไม่สามารถสู้ได้ ครั้นเมื่อถูกขับไสออกมาจากธุรกิจแล้ว อดีตพ่อค้าชาวทาจิกเหล่านี้ก็แทบไม่เหลือทางเลือกอะไรอื่น นอกเจากเดินทางไปเข้าร่วมเป็นแรงงานอพยพในรัสเซีย

ทางเจ้าหน้าที่ทาจิกคุยว่า พวกเขาจะเข้มงวดจำกัดไม่ให้มีเกษตรกรชาวจีนเข้ามาเกิน 1,500 คน แต่พวกเขาก็ยังไม่เคยแจกแจงให้ละเอียดชัดเจนเสียทีว่าประเทศชาติจะได้อะไรตอบแทนบ้าง จากการให้เช่าที่ดินการเกษตรของตนเช่นนี้

นอกเหนือจากทาจิกิสถานแล้ว ในแถบเอเชียกลางยังเคยมีประธานาธิบดีของคาซัคสถาน ยื่นข้อเสนอทำนองเดียวกันนี้ต่อฝ่ายจีนเมื่อสิ้นปี 2009 แตปรากฏว่าความคิดดังกล่าวถูกคัดค้านทัดทานอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งต้องยกเลิกไปอย่างรวดเร็ว

ประธานาธิบดีของทาจิกิสถานไม่เคยแถลงอะไรเลยก่อนหน้าที่จะมีการทำข้อตกลงให้เช่าที่ดินฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ทาจิกคนอื่นๆ ก็ดูจะไม่ได้แอะปากใดๆ เลยเช่นกัน ดังนั้นข้อตกลงฉบับนี้จึงปรากฏขึ้นมาท่ามกลางความเซอร์ไพรซ์ของผู้คน

(รายงานข่าวชิ้นนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ทั้งนี้ อิสคันเดอร์ อาลิเอฟ (Iskander Aliev) จาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ภาคภาษาทาจิก มีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้ด้วย)

เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น