เอเอฟพี - กลุ่มประเทศอาหรับ รอบๆ อ่าวเปอร์เซีย อาจส่งกำลังทหารเข้าช่วยหยุดยั้งการประท้วงในบาห์เรน เพื่อต้องกันมิให้กระแสปฏิวัติลุกลามไปทั่วภูมิภาค นักวิเคราะห์ชี้
นักวิเคราะห์ซึ่งเฝ้าสังเกตความวุ่นวายทางการเมือง ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ระบุวานนี้(17) ว่า หากการประท้วงของมุสลิมนิกายชีอะห์แพร่จากบาห์เรนไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ จะเป็นถือเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่สำหรับอิหร่าน
รัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติ ซึ่งอยู่ในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ยืนยันในการประชุมที่กรุงมานามา วานนี้ (17) พร้อมจะให้การสนับสนุนบาห์เรนทั้งในด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, ความมั่นคง และการป้องกันประเทศ
“รัฐอ่าวอาหรับทุกประเทศไม่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือในบาห์เรนได้ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยังไม่สามารถทำได้ หากปราศจากพัฒนาการทางการเมืองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะต้องใช้เวลา” ดาคีล อัล-ดาคีล นักวิเคราะห์การเมืองชาวซาอุดีอาระเบีย กล่าว
“การประท้วงจะก่อให้เกิดความสับสนทางการเมืองและความมั่นคงในบาห์เรน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อิหร่านและประเทศอื่นๆเข้ามาแทรกแซงได้ รัฐอาหรับต่างๆ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย คงไม่ยอมให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น” ดาคีล ระบุ
ตั้งแต่วันจันทร์ (14) ที่ผ่านมา มีชาวบาห์เรนเสียชีวิตแล้ว 5 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งประกาศว่าจะล้มระบอบการปกครองในบาห์เรน
“ความต้องการล้มรัฐบาลและเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถือเป็นการยั่วยุสำหรับรัฐอ่าวอาหรับทั้งหมด ซึ่งซาอุดีอาระเบียจะสนับสนุนระบอบการปกครองในบาห์เรน และจะป้องกันมิให้รัฐบาลบาห์เรนถูกล้มอย่างแน่นอน” ดาคีล กล่าว
การที่สำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานเหตุประท้วงในบาห์เรนอย่างระมัดระวัง และไม่เข้มข้นเท่าข่าวการโค่นล้มรัฐบาลตูนีเซียและอียิปต์ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของกรุงโดฮาที่มีต่อสถานการณ์ในบาห์เรน ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐอ่าวอาหรับทั้ง 6
ประเทศกลุ่มจีซีซี ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันสำรองร้อยละ 45 ของโลก และมีปริมาณการส่งออกน้ำมันคิดเป็น 1 ใน 5 ของทั่วโลก ประกอบด้วย บาห์เรน, กาตาร์, คูเวต, โอมาน, ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อิบรอฮีม อัล-คอยยัต นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ อาจทำให้ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือราชวงศ์บาห์เรน
คอยยัต กล่าวด้วยว่า ความวุ่นวายในบาห์เรนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐอ่าวอาหรับทั้ง 6 เท่านั้น แม้แต่สหรัฐฯก็คงไม่ยอมให้เกิดการโค่นล้มระบอบการปกครองในบาห์เรน ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือที่ 5 ของตน
อับดุลวาฮับ บาดราคาน นักวิเคราะห์ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า “ราชวงศ์อาหรับต่างรู้สึกหวาดหวั่นกับข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบการปกครอง หรือแม้กระทั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะความขัดแย้งกับอิหร่าน เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลจะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน”
นักวิเคราะห์ยังมองว่า กลุ่มผู้ประท้วงบาห์เรนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวชีอะห์ จะยิ่งทำให้โอกาสประสบความสำเร็จลดลง
ริยาด กอห์วาจี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์ทางทหารแห่งภูมิภาคตะวันออกไกล และอ่าวเปอร์เซีย ระบุว่า ปัจจัยด้านการแบ่งแยกไม่เป็นผลดีต่อผู้ประท้วงในบาห์เรน และกองทัพซึ่งเป็นมุสลิมซุนหนี่ที่จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ ก็พร้อมจะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงทุกเมื่อ แต่ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบียด้วย