xs
xsm
sm
md
lg

‘ทักษิณ’ถูกศาลไทยพิพากษายึดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Financial karma for Thailand’s Thaksin
By Shawn W Crispin
26/02/2010

ศาลไทยตัดสินเมื่อวันศุกร์(26) ให้ยึดทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ถูกทางการอายัดเอาไว้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การถูกพิพากษายึดทรัพย์คราวนี้จะต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีเงินทองลดน้อยลง แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า เขาจะถอยหายลับไปจากสถานการณ์ทางการเมืองอันยุ่งเหยิงมานานปีของประเทศไทย

กรุงเทพฯ – ขณะที่มือข้างหนึ่งของรัฐไทยหยิบยื่นสัมปทานอันทรงอภิสิทธิ์ทางด้านการสื่อสาร มืออีกข้างหนึ่งของรัฐไทยก็ดึงเอาคืนมาด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายและการมั่งคั่งร่ำรวยผิดปกติ คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คนแห่งศาลฎีกาของไทย ได้อ่านคำตัดสินเมื่อวันศุกร์(26) ให้ยึดทรัพย์สินจำนวนราว 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 46,400 ล้านบาท) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เป็นผู้ที่เคยได้รับสัมปทานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอันมีมูลค่ามหาศาล

ศาลพิจารณาเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตภรรยาของเขา คุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร ได้ปกปิดทรัพย์สินของพวกเขา ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหลายฉบับ ที่ห้ามไม่ให้นักการเมืองและคู่สมรสของพวกเขา เป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทภาคเอกชนใดๆ ในระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะผู้พิพากษายังตัดสินด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจตามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาไปในทางมิชอบ ด้วยการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์โดยตรงแก่พวกบริษัทส่วนตัวของเขา เป็นต้นว่า บริษัท ชินคอร์ป ที่เวลานี้ตกเป็นของทุนสิงคโปร์, แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส, และ ไทยคม ที่เวลานั้นรู้จักกันในชื่อ ชิน แซทเทลไลท์

ในการต่อสู้แก้ต่างของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ได้พยายามยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง ซึ่งบังเกิดขึ้นภายหลังการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารที่โค่นล้มรัฐบาลของเขาในปี 2006 นอกจากนั้น เขายังแสดงความข้องใจว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นผู้เริ่มทำคดีเล่นงานเขาในตอนต้นๆ เป็นหน่วยงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะทนายความของเขาโต้แย้งด้วยว่า ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายเลยที่จะยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวไปทั้งหมด เนื่องจากทรัพย์สินเหล่านี้จำนวนมากได้มาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2001

การพิจารณาคดีนี้ เป็นการตัดสินเกี่ยวกับทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวที่ถูกทางการอายัดเอาไว้ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 2,300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 76,600 ล้านบาท) และจากคำพิพากษาก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนในทันทีว่า กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้รับมอบอำนาจจากคำตัดสินนี้ด้วยหรือไม่ ในการเข้ายึดทรัพย์สินเป็นมูลค่าอีกราว 36,000 ล้านบาท ตามที่ทางกรมได้ออกคำสั่งอายัดเอาไว้จากบุตร 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นคือ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ทั้งนี้กระทรวงการคลังระบุว่า บุคคลทั้งสองติดค้างเงินภาษีอย่างน้อย 12,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากการที่ไม่ได้จ่ายเงินภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่ บริษัทเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2006

คำพิพากษาครั้งสำคัญคราวนี้ นับเป็นกรณีที่รัฐเข้ายึดทรัพย์สินของพวกผู้นำที่พ้นอำนาจครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชีย นับตั้งแต่ปี 1986 เมื่อครั้งการล้มคว่ำของจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ ผู้ขึ้นชื่อลือฉาวในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับกรณีเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ จัดว่ามีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่ากรณีของมาร์กอสเสียอีก และก็เป็นการที่ศาลไทยตัดสินลงโทษเขาว่ามีความผิดจริงเป็นคดีที่สองแล้ว ตั้งแต่ที่รัฐบาลของเขาถูกโค่นไปในปี 2006 ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2008 พ.ต.ท.ทักษิณได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี สืบเนื่องจากบทบาทของเขา ในการทำข้อตกลงซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งในกรุงเทพฯอย่างไม่ชอบมาพากล ระหว่างรัฐบาลของเขากับคุณหญิงพจมาน อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่วันก่อนที่ศาลจะอ่านคำตัดสิน พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้หลบหนีไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเสียก่อน

การพิพากษาของศาลให้ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มมุ่งไปสู่ “ตุลาการภิวัตน์” (judicialization) ของการเมืองไทย อันเป็นแนวความคิดที่ศาลและผู้พิพากษาระดับสูง เข้ารับบทบาทในการเป็นตัวกลางแก้ปัญหาข้อพิพาททางการเมืองที่สลับซับซ้อนและมักจะร้อนแรงของประเทศ พวกผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานบรมราโชวาทแก่คณะผู้พิพากษา 2 กลุ่มใน 2 วาระด้วยกันในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทรงเรียกร้องให้พวกเขาวินิจฉัยตัดสินคดี “ด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรม” ทั้งนี้ตามกฎหมายไทยแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ย่อมทรงอยู่เหนือการเมือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอย่างยิ่งพระองค์นี้ ก็ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในทำนองเดียวกัน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2007 ซึ่งส่งผลให้มีการยุบเลิกพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และห้ามผู้บริหารของพรรคจำนวน 111 คน รวมทั้งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย เข้าไปมีบทบาททางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่พวกกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายอนุรักษนิยม มุ่งหวังให้ศาลแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในการคานอำนาจและถ่วงดุลอำนาจพวกนักการเมืองและข้าราชการการเมือง ทางด้านแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มประท้วงสวมเสื้อสีแดงที่เป็นฝ่ายผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็กลับตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมของคำพิพากษาในช่วงหลังๆ นี้

ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนในทันทีว่า คำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์นี้จะนำไปสู่การมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มากขึ้นหรือน้อยลง นายปณิธาน วัฒนายากร รักษาการโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวคาดการณ์ไว้ในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้ามีคำพิพากษาออกมาว่า สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศจะกระเตื้องดีขึ้นภายหลังการตัดสิน เขาชี้ว่านายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วางแผนการที่จะลดการรวมศูนย์สนใจการเมืองภายในประเทศให้น้อยลง และมุ่งไปเพ่งเล็งที่นโยบายการต่างประเทศที่ถูกละเลยมานานให้มากขึ้น เป็นต้นว่า การเดินทางไปเยือน ออสเตรเลีย, อินเดีย, และรัสเซีย ตามแผนการที่มีการกำหนดเอาไว้แล้ว

ในอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์การเมืองไทยที่เกิดการแบ่งแยกกันอยู่นี้ คำตัดสินครั้งนี้น่าจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงโหมฮือให้แก่การประกาศจัดการชุมนุมของ นปช. เพื่อคัดค้านสิ่งที่ นปช.อ้างว่าเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในสังคมไทย ทั้งนี้พวกผู้นำการประท้วงของ นปช.ได้ล่าถอยจากแผนการในตอนแรกที่จะจัดการชุมนุมมวลชนเพื่อมุ่งสร้างแรงกดดันรัฐบาลตั้งแต่ก่อนหน้าคำตัดสินของศาล อย่างไรก็ดี เวลานี้พวกเขาโอ่อวดว่าจะนำเอาผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1 ล้านคนจากจังหวัดต่างๆ มายังกรุงเทพฯในกลางเดือนมีนาคม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และบีบบังคับให้มีการเลือกตั้งใหม่

มีนักวิเคราะห์บางคนสงสัยว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดทรัพย์สินจำนวนมากเช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ต่อความสามารถในอนาคตของ นปช. ที่จะจัดการประสานงานและให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อก่อการประท้วงขนาดใหญ่ๆ ต่อไปในวันข้างหน้า ถึงแม้ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธเรื่อยมาว่า เขาไม่ได้เป็นผู้อัดฉีดเงินให้แก่ นปช. ทว่าเป็นที่ชัดเจนว่าทั้งเหล่าผู้นำและผู้สนับสนุนของกลุ่มนี้ต่างก้าวเดินไปตามคำสั่งของเขา รวมทั้งเสียงเรียกร้องของเขาในเดือนเมษายนปีที่แล้วที่ให้พวกผู้สนับสนุนเขาลุกฮือขึ้นมาทำการ “ปฏิวัติ” โค่นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

เนื่องจากมีหลายคนในเมืองไทยเชื่อว่า เสถียรภาพของประเทศในอนาคต ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น ทรัพย์สมบัติของเขาในต่างประเทศจึงกลายเป็นเรื่องที่ได้รับการคาดเดากันอย่างกว้างขวางในสื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทมส์แห่งลอนดอน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขายังคงมีทรัพย์สินอยู่ในต่างแดนอีกประมาณ 100 – 200 ล้านดอลลาร์ ส่วนพวกนักการทูตที่ติดตามสถานการณ์อยู่ก็ชี้ว่า เห็นได้ชัดว่า ในช่วงหลังๆ นี้เขายังมีเงินมากพอที่จะทำการลงทุน ทั้งกิจการด้านลอตเตอรี่ใน ฟิจิ และ ยูกันดา ตลอดจนเหมืองทองใน สวาซิแลนด์ และ ปาปัวนิวกินี นอกเหนือจากการลงทุนความเสี่ยงสูงอย่างอื่นๆ

นักวิเคราะห์ทางการเมืองอีกหลายคน ก็ตั้งคำถามว่า การยึดทรัพย์สินของเขาไปกว่าพันล้านดอลลาร์ และการเพิ่มความพยายามที่จะเอาตัวเขาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน จะเป็นการผลักดันให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นิราศผู้นี้ เข้าสู่สภาพที่ต้องเสี่ยงเล่นอะไรท้าทายแบบสุดขอบ เป็นต้นว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะขยายความขัดแย้งจากกรุงเทพฯเข้าไปยังจังหวัดทางชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นฐานสนับสนุนที่แข็งขันที่สุดของเขา นักวิเคราะห์เหล่านี้ชี้ถึงการออกมาข่มขู่ในช่วงหลังๆ มานี้ ของพวกนายทหารแตกแถวที่อยู่ในฝ่ายทักษิณ ซึ่งมีทั้งนายทหารที่เกษียยณอายุแล้วและพวกที่ยังเป็นนายทหารประจำการอยู่ คนเหล่านี้ได้เรียกร้องให้ก่อตั้ง “กองทัพประชาชน” ตลอดจนมีการข่มขู่เป็นนัยๆ ถึงการหมายชีวิตผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ปรากฏว่า นปช.ได้ออกคำแถลงปฏิเสธคำกล่าวอ้างเหล่านี้ ซึ่งก็เลยกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกที่กำลังปรากฏขึ้นภายในฝ่ายทักษิณด้วยเช่นกัน ทั้งนี้คำแถลงของ นปช.บอกว่า ทางกลุ่ม “ไม่ยอมรับการเรียกร้องเดิมๆ ของเราที่ให้จับอาวุธ” และ “ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ” กับเหตุการณ์โจมตีกองบัญชาการกองทัพบกด้วยระเบิดเมื่อเร็วๆ นี้ ตลอดจนกับวัตถุระเบิด ซี-4 ซึ่งพบถูกวางไว้หน้าศาลฎีกาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าคำพิพากษาเมื่อวันศุกร์(26) ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในบรรดาฝ่ายสนับสนุนเขาที่แตกแยกกันเหล่านี้ เวลานี้พ.ต.ท.ทักษิณรับฟังกลุ่มไหน แต่เมื่อมองจากในอดีตที่ผ่านมาแล้ว จะเห็นได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นชอบทำให้กลุ่มการเมืองต่างๆ ในฝ่ายของเขาเกิดการขัดแย้งกัน ในลักษณะของการแบ่งแยกแล้วปกครอง

ทางด้านรัฐบาลได้มีการดำเนินการเพื่อเตรียมรับมือเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ด้วยการระดมทีมงานร่วมฝ่ายรักษาความมั่นคงและพลเรือนใน 38 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯด้วย ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมตามพื้นที่ต่างๆ ของเมืองหลวง รวมทั้งหน้าศาลฏีกาในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาพของการรักษาความสงบเรียบร้อยล้มเหลวไม่เป็นท่า จนกลายเป็นภาวะการจลาจลวุ่นวายขึ้นมาซ้ำรอยเดือนเมษายนปีที่แล้วอีก นายปณิธาน รักษาการโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยมีการตระเตรียม เพื่อใช้เทคนิค “การจัดแบ่งชั้น” (layering) แบบใหม่ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้การประท้วงแบบสันติ เกิดผันแปรกลายเป็นการจลาจลอันรุนแรง

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศไทยไปเป็นจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์เช่นนี้ ยังจะกระตุ้นให้เกิดเกมแห่งการคาดเดาเกมใหม่ ในประเด็นที่เขาแอบไปฝากเงินเอาไว้ในต่างประเทศเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ ตลอดจนเรื่องที่ว่าต่อจากนี้ไปเขามีเจตนารมณ์มั่นคงแน่วแน่แค่ไหนที่จะปล่อยเงินทองเหล่านี้เข้าสู่ความไร้เสถียรภาพยกใหม่ๆ บุคคลวงในรัฐบาลผู้หนึ่งคาดเดาว่า สภาพที่ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังมีทรัพย์สมบัติลดน้อยถอยลง ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนการอ่านคำพิพากษาในวันศุกร์แล้ว โดยมีประจักษ์พยานระบุว่าได้เห็นเขาใช้เครื่องบินไอพ่นส่วนตัวระดับ “ชั้นสาม”, กำลังพำนักอาศํยที่ดูไบในลักษณะแบบ “ชนชั้นกลาง” อย่างชัดเจน, และชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เปลี่ยนจากชุดของอาร์มานี มาเป็นสูทธุรกิจระดับด้อยลงมา

อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆ เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำนึกสนใจเรื่องภาพลักษณ์ของตนเองเป็นอย่างยิ่ง กำลังลดระดับความภูมิฐานของตนเองอย่างจงใจในเวลาปรากฏตัวต่อหน้ากล้อง เพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากพวกผู้สนับสนุนในแถบชนบทของเขา

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะต้องมีทรัพย์สินเงินทองลดน้อยลงไปอย่างไม่ต้องสงสัยจากการถูกสั่งยึดทรัพย์คราวนี้ แต่ไม่เห็นเค้าลางที่กระจ่างชัดเจนหรอกว่าเขากำลังจะหลุดพ้นออกจากวงโคจรทางการเมือง

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น