xs
xsm
sm
md
lg

การสร้างสถานการณ์ด้วยระเบิดที่ฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: ฌอว์น ดับเบิลยู คริสพิน และ โจเอล ดี อาดริอาโน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Bombshell conspiracies in the Philippines
By Shawn W Crispin and Joel D Adriano
15/07/2009

ไม่มีกลุ่มไหนเลยออกมาแสดงความรับผิดชอบเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดรุนแรงหลายต่อหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำเอาฟิลิปปินส์ปั่นป่วนสั่นคลอนไปทั่ว จึงทำให้เกิดคำอธิบายประเภททฤษฎีสมคบคิดสร้างสถานการณ์ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง และขณะที่คำอธิบายหล่านี้ระบุบ่งบอกตัวการผู้อยู่เบื้องหลังไปต่างๆ นานา ตั้งแต่พวกกบฎมุสลิม, เครือข่ายผู้ก่อการร้าย, และแม้กระทั่งคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือความหวาดกลัวที่ว่าสหรัฐฯอาจจะตัดงบประมาณช่วยเหลือทางทหารที่ให้แก่ฟิลิปปินส์

มะนิลา – เกิดเหตุระเบิดถึงขั้นมีผู้บาดเจ็บล้มตายขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดคำอธิบายประเภททฤษฎีสมคบคิดสร้างสถานการณ์ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง โดยคำอธิบายเหล่านี้ระบุบ่งบอกตัวการผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีลึกลับเหล่านี้ไปต่างๆ นานา ตั้งแต่พวกกบฎมุสลิม, ผู้ก่อการร้ายที่มีโยงใยระดับนานาชาติ, และกระทั่งคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย

ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดถึงชีวิตเหล่านี้เลย กระนั้นก็ตาม กองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยก็ต้องเพิ่มการเตรียมพร้อมตลอดทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ แล้วเลยทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาว่า อีกไม่นานอาร์โรโยอาจจะประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือประกาศภาวะฉุกเฉิน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ทว่าระแวงกันว่านี่จะเป็นความเคลื่อนไหวที่กลายเป็นการขยายระยะเวลากุมอำนาจของเธอออกไปอีก ภายหลังวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีของเธอที่รัฐธรรมนูญเขียนระบุเอาไว้อย่างชัดเจนได้หมดสิ้นลง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุระเบิดในเมืองโคตาบาโตซิตี้ (Cotabato City), อิลิกาน (Iligan), และโจโล (Jolo) ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 12 คนและบาดเจ็บอีกร่วมๆ 100 คน ในหลายๆ สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีการระเบิดเกิดขึ้นที่สำนักงานผู้ตรวจการณ์รัฐสภาในกรุงมะนิลา อีกทั้งยังมีผู้วางแผนโจมตีอาคารสำนักงานของรัฐบาลแห่งอื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตร ตลอดจนอาคารคอนโดมีเนียมของภาคเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองหลวงมะนิลา ทว่าถูกกองกำลังความมั่นคงปลอดภัยสืบทราบและเข้าขัดขวางเสียก่อน ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวรัฐบาลรายหนึ่ง

พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้นเสนอทฤษฎีอธิบายเหตุระเบิดเหล่านี้แตกต่างกันแถมยังขัดแย้งกันเอง ฝ่ายทหารรีบประณามเลยว่าเป็นฝีมือของพวกกบฎแบ่งแยกดินแดน “แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร” (Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF) ซึ่งทางทหารสู้รบพันตูด้วยนับตั้งแต่ที่ข้อตกลง “สันติภาพแลกกับสิทธิปกครองตนเอง” ต้องมีอันล้มครืนลงในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ พล.อ.วิกเตอร์ อิบราโด (Victor Ibrado) พูดเป็นนัยว่า การระเบิดเหล่านี้น่าจะเป็น “ภารกิจเพื่อทดสอบ” ของพวกกบฎที่เพิ่งสำเร็จการฝึกอบรมการผลิตระเบิดเมื่อไม่นานมานี้

กองทัพฟิลิปปินส์นั้นระบุว่า พวกเอ็มไอแอลเอฟได้เปิดการโจมตีด้วยระเบิดรวม 38 ครั้งแล้วในปีนี้ และจากเศษซากระเบิดที่ค้นพบในจุดที่เกิดการโจมตีบางจุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีร่องรอยหลายอย่างเป็นลักษณะเดียวกันกับที่เป็นเครื่องหมายการค้าของการโจมตีครั้งก่อนๆ ของขบวนการนี้ ทางด้านหัวหน้าหน่วยกำลังเฉพาะกิจ “โคเมต” (Task Force Comet) พล.ต.ฆวนโช ซับบัน (Juancho Sabban) อ้างว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มญะมะอาห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคต่างๆ ในการทำระเบิด ให้แก่ทั้งพวกเอ็มไอแอลเอฟ และกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่น อาบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf) ที่มีความโยงใยกับพวกอัลกออิดะห์ ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกใบ้ว่ากลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในสองกลุ่มนี้คือผู้รับผิดชอบก่อเหตุระเบิดในช่วงหลังๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ นอร์แบร์โต กอนซาเลส (Norberto Gonzales) กลับยืนยันว่าการโจมตีในเขตมะนิลานั้นเป็นฝีมือของอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีแรงจูงใจแตกต่างออกไป และไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งต่างๆ บนเกาะมินดาเนา เขายังขอร้องฝ่ายทหารว่าไม่ควรแสดงปฏิกิริยาแบบตอบโต้ประณามเอ็มไอแอลเอฟอย่างเป็นอัตโนมัติโดยปราศจากหลักฐานอันหนักแน่น พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าการกล่าวหาเช่นนี้จะขวางกั้นความพยายามที่จะฟื้นฟูการเจรจาสันติภาพขึ้นมาใหม่ กอนซาเลสยังยืนยันด้วยว่า เหตุระเบิดเหล่านี้จะไม่เป็นการบีบบังคับให้อาร์โรโยต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแต่อย่างใด

ทางด้านโฆษกของเอ็มไอแอลเอฟ อิด คาบาลู (Eid Kabalu) ก็ปฏิเสธว่าขบวนการของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ด้วย โดยกล่าวว่าการสังหารพลเรือนและการทำให้ชุมชนต่างๆ ของพวกเขาเองต้องบังเกิดความสยดสยองหวั่นผวาเช่นนี้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ขบวนการมุ่งแบ่งแยกดินแดนของเขา เขายังตอบโต้ข้อกล่าวหาต่อเอ็มไอแอลเอฟ ด้วยการชี้ว่า ฝ่ายทหารต่างหากคือพวกที่มีศักยภาพเหนือกว่าใครๆ ในการก่อเหตุระเบิดเหล่านี้ นอกจากนั้นยังมีคนอื่นๆ อีก รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกำลังชี้ตรงๆ ไปที่อาร์โรโยตลอดจนพวกพันธมิตรทางการเมืองของเธอ

อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โฆเซ เด เบเนเซีย (Jose de Venecia) ออกมาระบุต่อสาธารณชนว่า เหตุระเบิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกโลบายที่มุ่งก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การประกาศใช้กฎอัยการศึก และการระงับกระบวนการทางประชาธิปไตย เป็นต้นว่า การจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ตามกำหนดแล้วต้องจัดขึ้นในปีหน้า โดยที่ตัวอาร์โรโยไม่มีสิทธิที่จะลงรับสมัครอีกสมัยหนึ่ง เนื่องจากบทบัญญัตติในรัฐธรรมนูญห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน

เด เบเนเซีย ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับอาร์โรโยมาก่อน บอกว่าแผนอุบายดังกล่าวนี้ได้เคยถูกนำมาหารือถกเถียงกันก่อนแล้วในหมู่พวกวงในคณะรัฐบาล นอกจากนั้นเขายังชี้ถึงความคล้ายคลึงระหว่างเหตุระเบิดคราวนี้กับภาวะไร้เสถียรภาพที่อดีตจอมเผด็จการ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส สร้างขึ้น เพื่อใช้อ้างเป็นความชอบธรรมในการการประกาศใช้กฎอัยการศึกในปี 1972 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะต้องถูกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องก้าวลงจากอำนาจ

แผนกโลบายของมาร์กอส มีทั้งการก่อเหตุระเบิดอย่างลึกลับขึ้นหลายๆ ครั้งในกรุงมะนิลา และการสร้างเหตุการณ์พยายามลอบสังหารรัฐมนตรีกลาโหมของเขาในช่วงที่กำลังถึงจุดไคลแมกซ์ โดยทั้งหมดคณะรัฐบาลมาร์กอสจะประณามกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือพวกกบฎคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เดินหน้าอ้างเป็นเหตุผลความชอบธรรมที่จะระงับไม่ปฏิบัติตามกระบวนการทางประชาธิปไตย ทั้งนี้การใช้กฎอัยการศึกเปิดทางให้มาร์กอสสามารถหลบเลี่ยงบทบัญญัติที่จำกัดช่วงเวลาการดำรงตำแหน่ง และรักษาอำนาจของเขาเอาไว้อย่างแน่นเหนียวต่อไปจนกระทั่งถึงปี 1986 เมื่อเขาถูกโค่นล้มในที่สุดจากเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านของประชาชน

เวลานี้พวกผู้สนับสนุนอาร์โรโยก็กำลังพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่จะทำให้เธอสามารถขยายวาระการครองอำนาจต่อไป เพียงแต่จะอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นประธานาธิบดีเท่านั้น เหล่าผู้สนับสนุนเธอในรัฐสภาประกาศเจตนารมณ์ออกมาแล้วว่าจะให้มีการจัดตั้งสมัชชารัฐธรรมนูญเพื่อกระทำตามจุดหมายดังกล่าวให้สำเร็จ ทั้งนี้พวกวิพากษ์วิจารณ์เธอชี้ว่า หากมีความเคลื่อนไหวจนไปสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกได้แล้ว ก็จะทำให้อาร์โรโยสามารถผลักดันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ โดยไม่ต้องใยดีกับแรงต่อต้านจากรัฐสภาซึ่งเวลานี้ในวุฒิสภานั้นมีพวกฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากอยู่

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกของสภาต่อต้านการก่อการร้าย ริการ์โด บลังกาฟลอร์ (Ricardo Blancaflor) กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ออนไลน์ โดยตอบโต้ทฤษฎีสมคบคิดสร้างสถานการณ์ของพวกวิจารณ์ประธานาธิบดี ด้วยการเสนอทฤษฎีสมคบคิดสร้างสถานการณ์ของเขาเองออกมา ทั้งนี้เขาหยิบยกเอาความคล้ายคลึงกันของประดาเหตุระเบิดเมื่อเร็วๆ นี้ กับความพยายามก่อเหตุบึ้มแต่ล้มเหลวในกรุงมะนิลาเมื่อปี 2004 ซึ่งเป้าหมายหนึ่งได้แก่กระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ความพยายามก่อเหตุระเบิดระลอกนั้น บังเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2004 ที่มีการแข่งขันกันอย่างเดือดดุ แล้วอาร์โรโยชนะไปท่ามกลางข้อครหาเรื่องโกงเลือกตั้ง

บลังกาฟลอร์กล่าวว่า ความพยายามก่อเหตุระเบิดในหลายๆ จุดของกรุงมะนิลาเมื่อปี 2004 นั้น สามารถสืบสาวได้ว่าเป็นฝีมือการบงการชักใยของ “พวกต่อต้านคณะรัฐบาลที่อยู่นอกแวดวงการเมืองกระแสหลัก” และ “กลุ่มพลังทางการเมือง” คล้ายคลึงกันนี้เอง ก็น่าจะอยู่เบื้องหลัง “การระเบิดเพื่ออวดโชว์” ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย เขาบอกด้วยว่ารัฐบาลนั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือภาวะฉุกเฉิน แต่กำลังหาทางติดตามตัวพวกมือระเบิด โดยอาศัย “อำนาจอย่างเต็มที่” ของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเปิดทางให้ใช้บทลงโทษได้หนักหน่วงกว่าปกติ ถ้าถูกตัดสินว่ากระทำการโจมตีที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลเป็นการเฉพาะเจาะจง

**การตัดงบประมาณของประเทศพันธมิตร**

มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า บางทีเรื่องของเรื่องอาจจะมีสาเหตุจูงใจในทางการทูตก็ได้ กล่าวคือ เหตุระเบิดลึกลับบนเกาะมินดาเนา เกิดตูมตามกันขึ้นมาเพียงไม่กี่วันก่อนการเยือนกรุงมะนิลาของ ลีออน แพเนตตา ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ(ซีไอเอ) ซึ่งเป็นที่ติดตามสนใจกันอย่างมาก เอดูอาร์โด เอร์มิตา (Eduardo Ermita) หัวหน้าที่ปรึกษาของอาร์โรโย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การเยือนของแพเนตตาคราวนี้ เพื่อเป็นการย้ำยืนยันพันธะผูกพันของวอชิงตันที่มีต่อฟิลิปปินส์ ผู้เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนต่อต้านการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2000 และรวมทั้งการโจมตีที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วด้วย มีชาวฟิลิปปินส์ 671 คนถูกฆ่าตายจากเหตุระเบิดอันเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย โดยนับรวมเหยื่อจำนวน 116 คนในเรือเฟอร์รีที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดเมื่อปี 2004 ด้วยการบงการของกลุ่มอาบู ไซยาฟ ทั้งนี้ตามตัวเลขสถิติของทางการ แม้จะมีการบาดเจ็บล้มตายขนาดนี้ แต่บลังกาฟลอร์ก็ยืนยันว่าฟิลิปปินส์กำลังได้รับชัยชนะในสงครามต่อสู้การก่อการร้ายในเวอร์ชั่นของตน และจะสามารถขยายผลให้ใหญ่โตกว้างขวางออกไปอีกหากได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นจากสหรัฐฯ เป็นต้นว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีทางด้านนิติเวชชนิดที่อิงอาศัยคอมพิวเตอร์, การตรวจจับลายนิ้วมือ, และการรับมือกับระเบิด

เขาบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของเขาสามารถทำลายแผนก่อเหตุระเบิด ซึ่งเขาระบุว่ามีพวกนักปฏิบัติการก่อการร้ายจากมาเลเซียเข้าร่วมด้วย โดยเป้าหมายที่จะโจมตีนั้นเป็นศูนย์การค้าในจุดต่างๆ 3 แห่งของกรุงมะนิลา บลังกาฟลอร์ยังเปรียบเทียบให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า ภายหลังเหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว ฟิลิปปินส์สามารถทำให้มีการลงโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายไปแล้วรวม 46 คดี ขณะที่สหรัฐฯทำได้เพียงแค่ 6 คดีเท่านั้นจากการรณรงค์ในขอบเขตทั่วโลกด้วยซ้ำ

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้เคยเรียกขานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็น “แนวรบที่สอง” ในการรณรงค์ทำ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ทั่วโลกของเขา และความช่วยเหลือด้านการเงินของสหรัฐฯที่ให้แก่กองทัพฟิลิปปินส์ ก็พุ่งทะยานขึ้นนับเป็นร้อยๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือการทำสงครามกับพวกกบฎกลุ่มอาบู ไซยาฟ ที่วอชิงตันเชื่อมโยงกับเครือข่ายก่อการร้ายทั่วโลกของอัลกออิดะห์ ตามกฎหมายแล้วกองทัพสหรัฐฯถูกห้ามไม่ให้เข้าทำสงครามในฟิลิปปินส์ แต่ก็สามารถที่จะให้การฝึกอบรมและให้การสนับสนุนด้านส่งกำลังบำรุงในการบุกโจมตีปราบปรามอาบู ไซยาฟ

อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะให้ความสำคัญและให้ทรัพยากรต่อภารกิจนี้ในระดับเดียวกับเมื่อก่อนหรือไม่ อันที่จริง วอชิงตันน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามนี้ว่าได้ลดต่ำลงแล้ว เนื่องจากมะนิลาเองก็ได้ปรับเปลี่ยนโฟกัสจากพวกอาบู ไซยาฟ ซึ่งมีความชัดเจนมากกว่าว่าโยงใยกับการก่อการร้าย แล้วหันไปเน้นที่กลุ่มกบฎรุ่นเก่ากว่าอย่างพวกแบ่งแยกดินแดนเอ็มไอแอลเอฟ และกองทัพประชาชนใหม่ของพวกคอมมิวนิสต์

สัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มกบฎอาบู ไซยาฟกำลังสิ้นหวังลงไปเรื่อยๆ และอานุภาพด้านอาวุธก็ร่อยหรอเสื่อมโทรมลง ก็คือการที่พวกสมาชิกกลุ่มนี้ได้จับเอาเจ้าหน้าที่กาชาด 3 คนไปเป็นตัวประกันเมื่อเดือนมกราคม และในช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วก็ได้ปล่อยตัวผู้ถูกจับคนสุดท้ายที่เป็นชาวอิตาเลียน โดยเป็นที่สงสัยกันว่าคงจะมีการเจรจาแลกตัวนักโทษกับทางรัฐบาล

มีการคาดเดากะเก็งกันอย่างกว้างขวางในสื่อของฟิลิปปินส์ว่า ที่ผ่านมาโอบามาได้พยายามบ่ายเบี่ยงการทาบทามของอาร์โรโย ที่จะให้จัดการพบปะหารือกันระหว่างผู้นำทั้งแบบหนึ่งต่อหนึ่ง อันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงเวลานี้ ก็มีรายงานชัดเจนแล้วว่าผู้นำทั้งสองมีกำหนดการที่จะพบปะกันในทำเทียบขาววันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อหารือเรื่องการต่อสู้การก่อการร้ายและปัญหาโลกร้อน “เราไม่เห็นว่ากำลังจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในการร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์” บลังกาฟลอร์กล่าว “เราไม่คิดว่าประชาชนชาวอเมริกันจะหันหลังไม่แยแสต่อส่วนอื่นๆ ของโลก”

กระนั้นก็ยังมีเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายอย่างน้อย 1 รายซึ่งตั้งฐานอยู่บนเกาะมินดาเนาและขอร้องไม่ให้เปิดเผยชื่อของเขา เล่าว่าหน่วยของเขากำลังเดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือ เผื่อว่าคณะรัฐบาลของโอบามาที่กระเป๋ากำลังยอบแยบ จะมีการตัดความช่วยเหลือทางการเงินที่ให้แก่ฟิลิปปินส์ ความหวาดกลัวว่าอาจจะถูกสหรัฐฯตัดลดงบประมาณ จะมีบทบาทใดๆ ในเหตุระเบิดระลอกล่าสุดหรือไม่ ก็เป็นทฤษฎีสมคบคิดสร้างสถานการณ์อีกทฤษฎีหนึ่งที่กำลังแพร่กระจายไปทั้งในกรุงมะนิลาและบนเกาะมินดาเนา

ฌอว์น ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขารายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเดินทางไปทำข่าวทั้งที่มะนิลาและมินดาเนา โจเอล ดี อาดริอาโน เป็นที่ปรึกษาอิสระและนักหนังสือพิมพ์อิสระระดับได้รับรางวัลมาแล้ว เขาพำนักอยู่ที่กรุงมะนิลา และเคยเป็นบรรณาธิกรณ์ส่วนข่าวธุรกิจของหนังสือพิมพ์ มะนิลาไทมส์ เวลานี้เขายังเขียนเรื่องให้แก่ อาเซียน บิซไทมส์, เซฟ เดโมเครซี, และ พีเพิลส์ ทูไนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น