เอเจนซี - ราคาน้ำมันขยับจ่อระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันศุกร์(19) หลังพนักงานโรงกลั่นในฝรั่งเศสประท้วงและความตึงเครียดต่อประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน ขณะที่วอลล์สตรีท ปิดบวกเล็กน้อย แม้มีปัจจัยลบจากกรณีที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ดิสเคาน์เรต”
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 75 เซนต์ ปิดที่ 79.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ ปิดที่ 78.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมาจากความกังวลทางอุปทาน ตามหลังพนักงานโรงกลั่นของบริษัทโททัล แห่งฝรั่งเศส ยังคงเดินหน้าประท้วงอย่างไม่ลดละ ประกอบกับความตึงเครียดของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ที่เมื่อวันศุกร์(19) กระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ระบุว่ามีความกังวลอย่างมากต่อกรณีที่เตหะรานละเลยไม่ยอมให้ความร่วมมือกับหน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันศุกร์(19) ขยับเล็กน้อยท่ามกลางการซื้อขายที่ผัวผวน โดยนักลงทุนตรึกตรองผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ดิสเคาน์เรต” อย่างน่าประหลาดใจของเฟดและดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 9.45 จุด (0.09 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 10,402.35 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 2.16 จุด (0.10 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,243.87 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 2.24 จุด (0.22 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,109.17 จุด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงหลังปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี(18) ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทางเฟดคิดกับแบงก์ที่มาขอกู้ฉุกเฉิน จาก 0.5% เป็น 0.75% นับเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008
อย่างไรก็ตาม เฟดยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ย “เฟดฟันด์เรต” (fed funds rate)ที่เป็นมาตรฐานสำหรับการคิดดอกเบี้ยกับเงินกู้ที่แบงก์ปล่อยให้ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ นั้น ยังไม่ได้มีการขยับ
คำแถลงของเฟดระบุว่า ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยดิสเคาน์เรตในคราวนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองเงื่อนไขภาวการณ์ในตลาดการเงินที่กระเตื้องดีขึ้น จนเกิดความมั่นใจได้ว่าพวกแบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ จะมาขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางน้อยลง