xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคนงานเด็กในโรงงาน‘พม่า’

เผยแพร่:   โดย: โมน โมน มาต

(เก็บความเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Myanmar kids put factories to test
By Mon Mon Myat
17/02/2010

การก้าวย่างไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาดที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมของพม่า แม้จะดำเนินไปอย่างติดๆ ขัดๆ แต่ก็กำลังให้หนทางเลือกอีกสายหนึ่งสำหรับเด็กหนุ่มเด็กสาวในชนบท นอกเหนือจากการตรากตรำงานหนักในไร่นา ถึงแม้พวกเจ้าของโรงงานจะมีความลังเลไม่ใช่น้อยที่จะว่าจ้างเด็กที่ยังอายุน้อยเกินไป สำหรับเด็กๆ ที่ได้เป็นคนงานในโรงงาน ด้านดีก็คือครอบครัวของพวกเขาจะมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่ด้านร้ายก็คือเด็กเหล่านี้กำลังสูญเสียโอกาสที่จะได้เข้าศึกษาในโรงเรียน

ย่างกุ้ง – โช โช เต็ต (Cho Cho Thet) เด็กสาววัย 15 ปีแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกที่อยู่ภายนอกโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งเธอทำงานอยู่

เต็ตทำงานวันละ 14 ชั่วโมง ตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปจนถึง 3 ทุ่ม สัปดาห์ละ 7 วัน แต่ได้รับเงินเดือนเพียงแค่ 35,000 จ๊าต (ประมาณ 35 ดอลลาร์อเมริกัน หรือราว 1,170 บาท) เจ้าของโรงงานให้ที่พักอาศัยโดยไม่คิดค่าเช่าแก่เธอ และเลี้ยงอาหารที่ประกอบด้วยข้าวและผัก

“ได้ทำงานโดยอยู่ใต้หลังคาอย่างนี้ ดีกว่าทำงานในนาข้าวที่ต้องตากแดดตากฝน หนูไม่รู้สึกเหนื่อยเลยเมื่ออยู่ที่นี่” เต็ตบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส เด็กสาวผู้นี้ทำงานในโรงงานแห่งนี้มา 2 ปีแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งจากผู้ช่วยมาเป็นคนคุมเครื่อง

เมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นประถม 2 แม่ของเธอเอาเต็ตออกจากโรงเรียนเพื่อให้คอยเลี้ยงน้องสาว หลังจากแม่ของเธอตายและพ่อก็ออกจากบ้านไป เต็ตซึ่งกลายเป็นคนอายุมากที่สุดในครอบครัวก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงาน

“หนูต้องทำงานทั้งวัน ต้องยืนอยู่ในนาเพื่อปลูกข้าวไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก” เธอเล่าย้อนถึงชีวิตของเธอตอนที่ยังอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากนครย่างกุ้งเป็นระยะทางขับรถประมาณ 3 ชั่วโมง

ต่อมาเธอเกลี้ยกล่อมยายของเธอจนสำเร็จ และถูกส่งมายังโรงงานที่น้าของเธอกำลังทำงานอยู่ “หนูไม่มีทางหาเงินพอใช้แน่ๆ ถ้ายังอยู่ในหมู่บ้าน มันไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีงานให้ทำ ยกเว้นในฤดูทำนาเท่านั้น” เต็ตบอก

เม ตู ออง (May Thu Aung) เจ้าของโรงงานสิ่งทอแห่งนี้ ปฏิเสธไม่ยอมรับเท็ตเพราะตอนนั้นเด็กสาวยังอายุน้อยเกินไป ยายของเต็ตจึงทิ้งให้เธอทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในบ้านของออง เต็ต กล่าวว่าเธอไม่ชอบงานนั้นเลย “เพราะแม้แต่น้องของหนูเอง หนูยังไม่อยากเลี้ยงเลย” หลังจากเวลาผ่านไปสองสามเดือน ในที่สุดเธอก็สามารถเข้าทำงานในโรงงาน

“มีเด็กหนุ่มเด็กสาวเยอะแยะที่มาสมัครขอทำงานในโรงงาน ถึงแม้เราพยายามที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับเด็กที่อายุน้อยเกินไป แต่พอเราปฏิเสธไม่ยอมรับพวกเขาวันนี้ พวกเขาก็จะมาใหม่อาทิตย์หน้าพร้อมกับใบสมัครใหม่ ซึ่งพวกเขาจัดแจงเพิ่มอายุของพวกเขาเองเสร็จสรรพ” อองเล่า

อองเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการจำนวนมากที่ก่อตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นในปี 1996 เมื่อตอนที่ประเทศมุ่งหน้าไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาด เธอเริ่มต้นด้วยคนงาน 150 คน และจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวภายในเวลา 14 ปี

โรงงานของอองอยู่ในเขตอุตสาหกรรมบริเวณชานเมืองด้านตะวันออกของนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่า เขตดังกล่าวเป็น 1 ใน 21 เขตอุตสาหกรรมที่คณะรัฐบาลทหารจัดตั้งขึ้นมาภายหลังก่อการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1988 ตามตัวเลขข้อมูลของปี 2006 มีโรงงานต่างๆ ของภาคเอกชนมากกว่า 43,000 แห่ง โดยมีทั้งกิจการด้านการผลิตสิ่งทอ, การแปรรูปอาหาร, การผลิตเหล็กกล้า, พลาสติก, และการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ ประมาณ 98% ของอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นวิสาหกิจของภาคเอกชน

โรงงานเหล่านี้ก่อให้เกิดโอกาสในการทำงานจำนวนมากแก่ผู้คนที่มาจากพื้นที่ชนบท ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถหางานทำได้หลังฤดูทำนา เด็กหนุ่มคนสาวมากมายก็ทำงานอยู่กับภาคเอกชนเหล่านี้เช่นกัน

สภาพเงื่อนไขการทำงานในโรงงานจำนวนมาก ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย, การใช้แรงงานเด็ก, ชั่วโมงการทำงาน, และการจ่ายผลตอบแทน ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปของภาคเอกชนแห่งหนึ่ง สามารถสะท้อนให้เห็นปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี โดยข้อเรียกร้องของบรรดาคนงานก็คือ ขอค่าจ้างที่สูงขึ้นและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“รัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเล่นบทบาท 2 หน้า ซึ่งเป็นจุดยืนที่ยากลำบาก และก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นผลดีต่อพวกคนงานเลย” สตีฟ มาร์แชล (Steve Marshall) เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization หรือ ILO) ประจำพม่า กล่าวในการให้สัมภาษณ์

เขาเสนอแนะให้ทั้งนายจ้าง, คนงาน, และรัฐบาล นั่งลงและเจรจากันในสถานการณ์ที่มุ่งให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเป็นผู้ชนะ ในลักษณะของการเจรจาต่อรองที่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติในสังคมอื่นๆ “พวกเขาจำเป็นจะต้องค้นหาให้พบว่า อะไรที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้และแก้ปัญหาให้ตกไปได้” มาร์แชลบอก

ถึงแม้ไอโอแอลยังคงมีการดำเนินงานอยู่ในพม่า แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบและทำอะไรได้อย่างจำกัดมาก เป็นต้นว่า จะต้องอยู่ในขอบเขตของเรื่องการบังคับใช้แรงงาน, การเกณฑ์เด็กเป็นทหาร, และเสรีภาพในการรวมตัวกัน หากเป็นเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และการใช้แรงงานเด็ก มาร์แชลบอกว่า ไอโอแอล “เห็นสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้น และเรามี ... ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่เราสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ แต่ภายใต้สถานการณ์ทางกฎหมายที่เป็นอยู่ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรได้”

ภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวทั่วโลก กำลังทำให้ปัญหาด้านแรงงานของพม่า ทั้งในเรื่องเงื่อนไขการทำงานอันย่ำแย่และการจ่ายเงินค่าตอบแทนต่ำสุดๆ มีความยุ่งยากซับซ้อนทับทวีขึ้นอีก โรงงานที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจำนวนมาก ได้รับความกระทบกระเทือนจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือโรงงานของออง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงผลิตสินค้าจากพวกบริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มุ่งส่งออกไปยังอังกฤษ, เยอรมนี, และสเปน

“ออร์เดอร์สั่งทำเสื้อผ้าลดฮวบลงถึง 75% เราไม่ได้รับออร์เดอร์เลยเป็นเวลาตั้ง 8 เดือนในปี 2009” อองเล่า “เป็นเรื่องลำบากจริงๆ ที่เราจะต้องเดินเครื่องจักรในโรงงานต่อไปโดยมีคนงาน 300 คน เพราะเราไม่อาจแบกค่าใช้จ่ายมากมายอย่างนั้นไหว”

ปีที่แล้ว มีคนงานราว 60 คนออกจากโรงงานของอองไปหางานอื่นๆ

“มีบาร์คาราโอเกะและโรงนวดตั้งมากมาย (ในย่างกุ้ง) ซึ่งเด็กสาวๆ สามารถทำเงินได้มากกว่าที่ทำงานอยู่ในโรงงานนี้ แล้วฉันจะห้ามพวกเขาได้ยังงัยล่ะ” อองกล่าว อย่างไรก็ดี สำหรับเต็ตแล้ว การทำงานในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เธอมีเพื่อนฝูงเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่าการทำงานเป็นสาวบริการ เธอบอกว่าเธอยังสามารถเล่นกับพวกคนงานเด็กๆ ด้วยกันภายในเขตโรงงาน หลังจากที่เลิกงานในตอน 3 ทุ่ม

“บางครั้งเราจะเล่นซ่อนหา บางทีเราก็จะร้องรำทำเพลง” เต็ตกล่าว “สิ่งที่หนูชอบมากที่สุดก็คือตอนที่เจ้านายฉายหนังให้ดูภายในโรงงาน” เธอบอก ถึงแม้ในโอกาสเช่นนั้นจะทำให้เธอต้องอดนอน

“หนูเป็นคนที่อดนอนเก่ง ถ้าหนูดูหนังไปจนดึก หนูสามารถตื่นก่อนเวลา (เริ่มทำงาน) สัก 15 นาที ล้างหน้าล้างตา แล้วก็ไปทำงานได้เลย หนูจะไม่กินข้าวเช้าในวันนั้น” เต็ตเล่า

เด็กสาวผู้นี้ยังคงฝันถึงการได้กลับไปโรงเรียน บางครั้งเธอก็คิดถึงเรื่องนี้มากเมื่อได้เห็นเด็กคนอื่นๆ นอกโรงงาน ซึ่งกำลังเดินทางไปเรียนหนังสือ “หนูคิดถึงเพื่อนๆ ในโรงเรียน หนูยังต้องการเรียนอีก ถ้าหากหนูไม่ต้องทำงาน”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น