ศูนย์ข่าวขอนแก่น-อุตสาหกรรมผลิตส่งออกเมืองหมอแคนฟื้นตัว ออเดอร์ต่างประเทศหวนคืนแล้ว แต่กลับเจอปัญหาใหม่ ขาดแคลนแรงงาน ล่าสุดต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำแหน่ง เผยเหตุผู้ใช้แรงงานคืนถิ่นฐานมุ่งทำงานภาคเกษตร หลังราคาข้าว มัน อ้อย พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันรายได้ภาคเกษตรพุ่ง เชื่อสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2553 ปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักแน่ แนะรัฐเตรียมพร้อมรับปัญหา วางกรอบเพิ่มศักยภาพการผลิต
หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และผลิตเพื่อการส่งออกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ประสบปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ตั้งแต่กลางปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา จนกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ออเดอร์ต่างประเทศลดลงอย่างฮวบฮาบ กระทั่งหลายโรงงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นต้องชะลอการผลิต ลดการจ้างงาน ให้สอดคล้องต่อกำลังการผลิต
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะคณะทำงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมผลิต และผลิตเพื่อการส่งออกในจังหวัดขอนแก่น ประสบปัญหาตามวิกฤตการเงินโลก ต้องชะลอการผลิต จนกระทบต่อการจ้างงานลดลงอย่างน่าเป็นห่วงในช่วงตั้งแต่กลางปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 นั้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2552 เนื่องจาก ริ่มมีออเดอร์กลับเข้ามายังโรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ฯลฯ ตามนัยของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย
ทำให้การผลิตของโรงงานกลับสู่ภาวะปกติ ปัญหาการเลิกจ้างแรงงานจึงบรรเทาลง ล่าสุดสถานการณ์การจ้างงานไตรมาสที่ 4 ปี 52 กลับมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตเพื่อการส่งออกหลายแห่ง มีออเดอร์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องเร่งผลิตให้ทันต่อออเดอร์ และต้องจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ว่าจะแข็งแกร่งหรือไม่ เพราะยังวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจของรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศกรีซ
แรงงานคืนถิ่นมุ่งทำงานในภาคเกษตร
หวั่นปี53เกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงาน
“แม้ว่า จะเกิดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีแรงงานเพียงพอ เนื่องจากแรงงานที่ลางานไปเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรช่วงปลายปีนี้ มากกว่า 50% ไม่กลับมาทำงานที่โรงงาน สาเหตุหลักเนื่องจาก สินค้าเกษตรหลักของภาคอีสานหลายชนิด ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ปีการผลิต 52/53 ราคาปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดหมาย พืชบางชนิดเช่น อ้อย มีราคาปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การเพาะปลูกสามารถสร้างรายได้สูงกว่า”นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า
ที่ผ่านมาแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม จะส่งเงินกลับไปบ้าน เพื่อเป็นค่าจ้างเก็บเกี่ยว แต่ปี 52 นี้ ค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นมาก และแรงงานก็มีไม่พอ กอปรกับช่วงต้นปีและกลางปีนี้ การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมผลิตไม่ดีนัก แรงงานเหล่านี้จึงตัดสินใจไปเก็บเกี่ยวเอง บางพื้นที่ที่สามารถทำนาปรังได้ ก็จะลงทุนปลูกข้าวนาปรังต่อ
จุดที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่น ที่ต้องใช้แรงงานผลิตจำนวนมากนั้น เริ่มขาดแคลนแรงงานแล้ว ณ ปัจจุบันต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตแหอวน โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โรงงานเซรามิก ที่สำคัญแม้แต่ SMEs ก็พบว่ามี โรงงานบางแห่งขาดแคลนแรงงานเช่นกัน
สถานการณ์ด้านการผลิตและการจ้างงานในปี 2553 หากไม่มีแรงงานกลับเข้าสู่โรงงาน ขณะที่ออเดอร์ต่างประเทศ ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น จะยิ่งทำให้ความต้องการแรงงานสูงขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2553 จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมผลิต ของจังหวัดขอนแก่นรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานผลิตจำนวนมากนั้น จะเกิดปัญหามากกว่าอุตสาหกรรมผลิตอื่น
กรณีดังกล่าวภาครัฐ ควรเตรียมการรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า ควรให้ความสำคัญต่อการเข้าไปรับฟังปัญหา ร่วมหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตให้กับภาคเอกชน เบื้องต้นควรมีการอบรมในการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตให้สูงขึ้น รวมถึงการนำเครื่องจักรมาเสริมในกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องใช้แรงงานคนด้วย